'เกษตรโลกสวย' vs โลกอัปลักษณ์ (ตอน 1)
คงได้ยินบ่อยๆ "เกษตรโลกสวย" แต่ให้เลือกระหว่างเกษตร ใช้สารสังเคราะห์ต่างๆ กับเกษตรธรรมชาติ คุณว่า เกษตรแบบไหนดี ลองอ่านมุมคิด'สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์' ในมิติที่ลึก เชื่อมโยงไปถึงโลกใบนี้
สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เราได้ยินการเหยียดชนชั้นกลางสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ว่า เป็นพวกโลกสวยไม่อยู่กับความเป็นจริง จึงอยากชวนมา reality check ดูความเป็นจริงกัน – ความเป็นจริงเรื่องอะไร? ผลผลิต? เม็ดเงินรายได้? ระบบเศรษฐกิจและการตลาด?
ก่อนจะดู “ความเป็นจริง” ในระบบเกมสมมุติที่มนุษย์สร้างโดยกำหนดคุณค่ากติกากันเอง ขอเริ่มที่ความเป็นจริงที่มีพลังอำนาจเหนือเรา คือ ความเป็นจริงของระบบนิเวศธรรมชาติ
สังคมไทยอาจจะรู้เรื่องโลกร้อนกันดีพอสมควร แต่เราแทบไม่รู้เรื่อง Planetary Boundaries หรือขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกกันเลย มันเป็นความพยายามของทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยโจฮัน ร็อคสตร็อม จากศูนย์ศึกษาความยืดหยุ่นสต็อคโฮล์ม (Stockholme Resilience Centre) ช่วยกันรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วโลกมาสรุปเป็นภาพภูมิดู รู้สถานการณ์ระบบโลกจบได้เลยในแผ่นเดียว มีการอัพเดทเป็นระยะๆ มาตั้งแต่ปี 2009 แสดงเป็นกราฟแท่ง ตัวแทนปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ เรียงเป็นเสี้ยวชิ้นเค้กในวงกลมรูปลูกโลก มีวงแหวนล้อมเป็นชั้นๆ สองวงแบ่งเป็นพื้นที่สามโซน
โซนวงในสุดสีเขียวเป็นโซนปลอดภัย ปัญหาอะไรที่สะสมอยู่ในโซนนี้ถือว่ายังไม่รุนแรง ยังอยู่ในขอบเขตที่สมดุลโลกรับมือได้ ถ้าเราไหวตัวจัดการแต่เนิ่นๆ ในตอนนี้ ไม่ปล่อยให้มันก่อตัวขึ้นไปสู่วงถัดไปซึ่งเป็นสีเหลือง เข้าสู่อันตรายมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามปัญหาที่สะสม เป็นเขตที่วัฏจักรการทำงานต่างๆ ของโลกแปรเปลี่ยนจากสมดุลเดิมที่เราเคยรู้จักและเอื้อต่อชีวิตเรา แต่ตอนนี้ระบบเริ่มผันผวนไม่ปลอดภัย ปัญหาโลกร้อนกำลังพุ่งทะยานอยู่กลางโซนนี้ วงสุดท้ายเป็นโซนสีแดง อันตรายสุดๆ เป็นภาวะที่เราไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบได้อีกต่อไปแล้ว
ยังไง ก็แนะนำให้กูเกิ้ลศึกษา planetary boundaries เพิ่มเติม
ชาร์ตนี้แสดงข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความเห็น ดังนั้นปัญหาบางเรื่องที่เรารู้ว่า เป็นปัญหา แต่ยังไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้ ก็จำเป็นจะต้องทิ้งว่างไว้ โดยมีเครื่องหมายปรัศนีกำกับเตือนใจ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่วิกฤตที่สุดทะลุเพดานวงสีแดง เสี่ยงอันตรายยิ่งกว่าโลกร้อนในโซนเหลือง ได้แก่ 1) การสูญพันธุ์ของชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ในโลก และ 2) ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีการเกษตร ทั้งฟอสฟอรัสและโดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจน
อย่างที่ทราบกันดี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา เราได้เอาแอมโมเนียที่เหลือจากทำระเบิดมาเป็นปุ๋ย และกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของโลกอุดหนุน “ปฏิวัติเขียว” ที่แปลว่าการผลิตพืชอาหารปริมาณมากมาย ไม่ใช่เขียวสิ่งแวดล้อม
ในกระบวนการผลิตปุ๋ย เราใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก เพื่อดึงไนโตรเจนในอากาศมาประกอบเป็นสารจำพวกไนเตรทและแอมโมเนีย
มันเป็นแร่ธาตุที่พืชต้องการในการเจริญเติบโต แต่พืชโดยลำพังตัวมันเองไม่สามารถดึงเอาก๊าซไนโตรเจนที่มีอยู่มากมายในอากาศมาแปรเป็นรูปแบบที่ละลายน้ำดูดกินได้อย่างไนเตรท ตามธรรมชาติ มันจึงต้องพึ่งพาชีวิตอื่นในการทำหน้าที่นั้น อาทิ แบคทีเรีย รา สาหร่ายเขียวแกมน้ำเงิน (ซึ่งจริงๆ คือแบคทีเรีย) แต่อยู่ๆ ใครจะมาทำอะไรให้กันฟรีๆ ล่ะ มันต้องมีการแลกเปลี่ยน เป็นปกติของการทำมาค้าขาย สินค้าโดดเด่นของพืชคือแป้งและน้ำตาล ผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์
พืชจึงปล่อยน้ำตาลออกไปที่ปลายราก จุลชีพต่างๆ ก็พากันมาอยู่แถวนั้น แปรไนโตรเจนกลับให้เป็นการตอบแทน สัตว์จิ๋วๆ ตัวอื่นก็มากินพวกมันอีกต่อ จนในที่สุดกลายเป็นสังคมชีวิตในดินที่คึกคัก เต็มไปด้วยสารอินทรีย์ และผู้ย่อยสลายสารเหล่านั้นในขั้นตอนต่างๆ กัน รวมถึงตัวใหญ่ๆ อย่างไส้เดือนที่กลายเป็นวิศวกรแห่งดิน คอยชอนไชให้ร่วนซุย น้ำระบาย ชีวิตสัญจรได้สะดวก และมีตัวกินเนื้อควบคุมสมดุลชีวิตในดินอย่างตะขาบ
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น เมื่อเราให้ปุ๋ยสังเคราะห์แก่พืช?
มันก็กลายเป็นพืชนิสัยเสีย เหมือนเด็กถูกขุนตามใจได้ขนมตลอดเวลา เลิกแบ่งของกินให้เพื่อนในดิน เพราะมันไม่จำเป็นอีกต่อไป ไม่ช้าไม่นาน เพื่อนฝูงก็แยกย้ายหายไป กลายเป็นดินร้าง ซึ่งก็คือดินตาย ไม่มีชีวิต โครงสร้างที่เคยเป็นเหมือนฟองน้ำก็ทรุดและแน่นแข็ง
เมื่อดินไม่มีชีวิต พืชก็ต้องคอยพึ่งปุ๋ยอาหารจากมนุษย์ คนขายปุ๋ยก็รวยไป แต่ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น
พืชอาหารดูดปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสขึ้นไปใช้เพียงแค่ส่วนเดียว ส่วนใหญ่จะถูกฝนชะลงไปสู่แหล่งน้ำและไหลลงไปถึงทะเล กลายไปเป็นปุ๋ยให้แก่สาหร่ายในน้ำ ก็บลูมขึ้นมาและเน่าเป็นมลภาวะ จนเกิดเป็น dead zone หรือ “แดนมรณะ” ออกซิเจนต่ำในทะเล ซึ่งขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก กินพื้นที่ 22,730 ตารางกิโลเมตรในปี 2017
ผลกระทบของมันรุนแรงเทียบเท่าการสูญพันธุ์ชีวิตโลก ส่วนหนึ่งเพราะมันก่อให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างมโหฬารนั่นเอง
เราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้กันมากนักในเมืองไทย มีแต่ข่าวสาหร่ายบลูมนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่เคยเชื่อมโยงกับการเกษตรและการใช้ปุ๋ยเคมี
แต่ในยุโรปมันเป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไป ถกเถียงกันในสภา มีกฎหมายออกมากำกับดูแลตั้งแต่หลายสิบปีก่อน กำหนดให้เว้นพงพืชธรรมชาติชายฝั่งแหล่งน้ำเป็นแนวกว้างอย่างน้อยสองเมตร เพื่อเป็นแนวกันชนคอยดูดซับมลภาวะที่ชะลงมาสู่น้ำ แต่มันก็ยังไม่พอ เท่าที่รู้จากเพื่อนชาวสวีเดนและเดนมาร์ก ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้นักอนุรักษ์พยายามผลักดันให้ปรับกฎหมาย ขยายความกว้างของแนวพงพืชริมน้ำไปเป็น 20 เมตร แต่ยังไม่สำเร็จ
เดี๋ยวเอาไว้ตอนต่อไปเราค่อยมาคุยกันเรื่องทางออกที่เป็นจริงได้ สำหรับในตอนนี้อยากจะชวนให้ทบทวนว่าระบบเกษตรใช้สารสังเคราะห์ต่างๆ ที่เราอ้างว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราต้องการผลผลิตสูง ฯลฯ ใช้ต้นทุนอะไรของใครบ้าง?
มันใช้ต้นทุนของคนรุ่นต่อไป ใช่หรือไม่?
ความเอารัดเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประวัติศาสตร์และในสังคมปัจจุบัน แต่ข้ามรุ่นไปสู่อนาคต ถ้าเราจริงใจกับการเรียกร้องประชาธิปไตยและสังคมยุติธรรม เราก็ต้องไม่เหยียดความพยายามของคนที่กำลังหาทางสร้างความยุติธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ถ้าใครหัวเราะเยาะกับเกษตรอินทรีย์โลกสวยหน่อมแน้มต่อกรไม่ได้กับความเป็นจริงในระบบใหญ่ ก็ควรจะหัวเราะเยาะกับนักศึกษาประชาชนออกไปประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ไม่มีเงิน ไม่มีปืน ไม่มีอำนาจ ช่างน่าขำ ไม่รู้จักความเป็นจริงของโครงสร้างอำนาจ ถึงได้ถูกอุ้มหายถ่วงน้ำตายอย่างนั้นหรือ? มันก็ล้วนเป็นปัญหาโครงสร้างและระบบคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น
ไม่เอาโลกสวย ฤาเราอยากเชียร์โลกอัปลักษณ์?
แน่นอนว่า ระบบเกษตรกระแสหลักในโลกปัจจุบันเป็นโครงสร้างใหญ่ทรงอำนาจยากจะต่อกรด้วย ไหนจะข้อจำกัดสารพัดของเกษตรกรเบี้ยล่าง ซึ่งยังขอไม่พูดถึงตรงนี้ แต่สิ่งที่ควรเป็นความหวังคือข้อเท็จจริงว่า มันเป็นปัญหาที่มาจากระบบและกติกาที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง มันจึงอยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนเกมเรียลลิตี้โชว์
มันไม่ใช่กฏธรรมชาติอย่างแรงโน้มถ่วงโลกที่เราต้องยอมรับ