'Happy Life Happy Thailand' ปั้น 'ทูตความสุข' สู่สังคม
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย "Happy Life Happy Thailand" โครงการดีๆ ที่จะมาปลดล็อคความทุกข์ จาก "ทูตความสุข" ทรานส์ฟอร์มประเทศไทยสู่สังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืน
จากผลสำรวจของบริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า ประเทศไทยมีความเครียดสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จาก 23 ประเทศ โดยคนไทย 91 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตัวเองมีความเครียดซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 84 เปอร์เซ็นต์ และคนไทยประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าความเครียดที่เผชิญอยู่เกิดขึ้นจากสาเหตุใดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ ส่งผลให้ความสุขของคนไทยหดหายไป และมีปัญหาสุขภาพจิตในระดับรุนแรง ได้แก่ อาการซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีอัตราเร่งมากยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด–19
- Happy Life Happy Thailand แบ่งปันทักษะสร้างสุขทั่วไทย
โค้ชระดับแนวหน้าของเมืองไทย พจนารถ ซีบังเกิด หรือ โค้ชจิมมี่ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทจิมมี่เดอะโค้ช และผู้ก่อตั้งบริษัท ส่งสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ให้มุมมองว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหาและในขณะเดียวกันแต่ละคนก็ให้นิยามคำว่าความสุขแตกต่างกันไป บางคนบอกว่าจะมีความสุขถ้ามีบ้าน มีรถยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่พอระยะเวลาผ่านไปนานๆ อาจจะรู้สึกว่าความสุขหายไป ทั้งๆ ที่ความสุขเป็นทักษะที่ฝึกฝนและต่อยอดได้ ความสุขที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นจากการเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เข้าใจชีวิต มีเป้าหมายในชีวิต เมื่อมีสิ่งใดมาฉุดรั้งก็จะสามารถบริหารจัดการเพื่อให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้และมีความสุขในแบบฉบับของตัวเอง สำคัญที่สุดคือต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม
ทั้งนี้ ได้แบ่งปันทักษะการสร้างความสุข ด้วยศาสตร์การโค้ชให้ผู้ที่สนใจแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านโครงการ Happy Life Happy Thailand ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง ทูตความสุข (Happy Ambassador) ซึ่งเป็นผู้แข็งแรงจากภายใน ด้วยตัวตนที่มีความสุข เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจร่วมเรียนรู้ทักษะการสร้างความสุข เพื่อปลดล็อกปัญหาต่างๆ ในชีวิต พร้อมแบ่งปันทักษะให้ผู้อื่นได้อย่างไม่สิ้นสุด โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อเสร็จสิ้นการอบรม ผู้ที่เป็นทูตความสุขจะต้องนำทักษะที่ได้ไปแบ่งปันหรือช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม จำนวน 100 คน ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยไม่จำกัดรูปแบบและเงื่อนไข พร้อมส่งรายงานกลับมาที่โครงการฯ เพื่อแสดงพลังในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในสังคมทุกระดับมีความสุขอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการกระจาย ‘ทูตแห่งความสุข’ ไปทั่วทุกๆ ตำบลในประเทศไทย และรวมไปถึงคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศด้วย
ปัจจุบันโครงการ Happy Life Happy Thailand เปิดอบรมทูตความสุขถึงรุ่นที่ 19 มีทูตความสุข 509 คน
ที่เป็นบุคคลต้นน้ำส่งต่อทักษะความสุขให้คนไทยทั่วประเทศกว่า 12,000 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด 455 อำเภอ 1,822 ตำบล ซึ่งข้อมูลจากแบบสอบถามผู้รับการส่งต่อความสุข (ณ วันที่ 30 พ.ค.2563) จำนวน 6,804 คน พบว่า สัดส่วน 95 เปอร์เซ็นต์ ได้รับประโยชน์และมีความสุขเพิ่มขึ้น, 60 เปอร์เซ็นต์ มีความสุขเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และ 18 เปอร์เซ็นต์ มีความสุขเพิ่มขึ้น 200–1,000 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับก่อนได้สัมผัสกับศาสตร์ความสุข และในกลุ่มตัวอย่างของผู้ได้รับการส่งต่อ หรือบุคคลปลายน้ำมีความสุขเพิ่มขึ้นในชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่
1.Happy Mind เติบโตทางปัญญา/ภายใน 124 เปอร์เซ็นต์, 2.Happy Family & Friend ครอบครัว/เพื่อน 68 เปอร์เซ็นต์, 3.Happy Job งาน/ธุรกิจ 53 เปอร์เซ็นต์, 4.Happy Leisure พักผ่อน/บันเทิง 44 เปอร์เซ็นต์ และ 5.Happy Body สุขภาพกาย 34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าความสุขเป็นทักษะที่ฝึกฝนและต่อยอดได้
นอกจากนี้ ยังได้พันธมิตรหลักอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมเป็นตัวแทนส่งมอบทักษะความสุขทั่วประเทศไทย ซึ่งการที่ สสส. เป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศ มีภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครทั่วประเทศ ถือเป็นโอกาสสำหรับการต่อยอดทูตความสุขออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
- สสส. หนุนโครงการทูตความสุขสร้างสังคมสุขภาวะ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา และผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.มีภารกิจในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยให้มีสุขภาวะใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม โดยร่วมกับบริษัท ส่งสุขฯ ดำเนินโครงการพัฒนาพลเมืองนักสื่อสารสุขภาวะ (ทูตความสุข) ภายใต้โครงการหลัก Happy Life Happy Thailand ด้วยศาสตร์การโค้ช เพื่อขยายจำนวนนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทักษะการตระหนักรู้เท่าทันภายในตนเอง และการสะท้อนความคิด เป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่เท่าทันสื่อ เท่าทันชีวิต และสร้างอิทธิพลต่อโลกรอบตัวอย่างสร้างสรรค์
การสร้างทูตความสุขจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต และสามารถส่งต่อทักษะความสุขให้กับผู้คน
ในชุมชน รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายทูตความสุขให้ครอบคลุมทั่วประเทศ (National Ecosystem) เป็นชุมชนของ
ผู้มีสุขภาวะทางปัญญา ฝึกฝนพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และใช้ศาสตร์การโค้ชเพื่อสุขภาวะทางปัญญา
สำหรับคนในครอบครัว เพื่อร่วมงาน ชุมชน สังคม และประเทศไทยอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดทักษะการสื่อสารและสร้างความร่วมมือ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ผ่านประสบการณ์ตรงจากกระบวนการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และสามารถหาทางออกได้ด้วยตนเอง
“ความสุขจากการต้องมี ต้องได้ หรือต้องทำเพื่อตัวเอง อาจไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเสมอไป ขณะที่ความสุขจากการทำเพื่อผู้อื่น เช่น การเป็นจิตอาสา การให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนอาจเป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่า เพราะส่งผลถึงความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ซึ่งทูตความสุขเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคนเพื่อส่งต่อทักษะความสุขให้สังคมในวงกว้าง
เป็นการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ด้วยทักษะการโค้ชเป็นกระบวนการสร้างคนให้มีศักยภาพ เพื่อสังคมแห่งความสุข ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ต้องเริ่มที่ตัวเรา เพราะการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่นได้ ตัวเราเองต้องมีความสุขก่อน ต้องมีทักษะการโค้ช ด้วยการฟังการถามอย่างเข้าใจ เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และหาทางออกในการจัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งทูตความสุขหนึ่งคนมีคุณูปการมหาศาลที่จะช่วยส่งต่อทักษะความสุขเพื่อสร้างสังคมแห่งความสุขที่แท้จริง” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
- เจาะใจทูตความสุข รุ่น 6 ร่วมแชร์ภารกิจจิตอาสาส่งสุขทั่วไทย
ปิดท้ายที่เรื่องราวดีๆ จาก อนันต์ ศิลปี หรือ ชาลี ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ในฐานะ
‘ทูตความสุข’ รุ่น 6 ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากภารกิจในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งมีหน้าที่ในการฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาเยาวชนที่กระทำความผิด และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำให้ได้เห็นว่าสถาบันครอบครัวมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความสุขซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนสามารถผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปได้ และสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือการสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่และสังคมรอบข้าง ที่จะต้องเปิดใจและไม่ใช้ประสบการณ์หรือเอาความรู้สึกของตนเองไปตัดสิน
พร้อมกันนี้ ชาลีได้เล่าถึงกรณีตัวอย่างซึ่งเป็นเยาวชนหญิงอายุ 16 ปี ที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและถูกคนรอบข้างปฏิเสธทั้งพ่อแม่และคุณครู โดยจากการพูดคุยกับเด็กพบว่าเด็กขาดความอบอุ่น เพราะพ่อแม่มีอาชีพค้าขาย ไม่มีเวลาให้ลูก มุ่งมั่นทำงานหาเงินเพราะไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง ซึ่งเหตุผลที่ทำให้พ่อแม่โกรธและปฏิเสธลูกก็เกิดจากการที่พ่อแม่เห็นภาพซ้ำในอดีตของตัวเองและได้รับการปฏิเสธจากพ่อแม่เช่นเดียวกัน
ในขณะที่ครูก็พยายามตามตัวเด็กให้กลับมาเรียนหนังสือ เพราะตอนที่ครูเป็นเด็กต้องใช้ความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากกว่าจะได้เป็นครูในวันนี้ แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองจึงรู้สึกผิดหวังและปฏิเสธเด็ก ดังนั้นตนจึงได้นำเครื่องมือที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ โดยในส่วนของพ่อแม่และคุณครู ได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘Being’ หรือคุณสมบัติที่ดีของแต่ละบุคคล เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีต้นทุนหรือทรัพยากรอะไรอยู่ในตัวบ้าง ทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น สำหรับเด็กก็เลือกใช้เครื่องมือ Vision of Success เพื่อให้เด็กกำหนดเป้าหมายด้วยตัวเองและเห็นภาพความสำเร็จของตัวเองในอนาคต
“ในฐานะทูตความสุข รู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้ส่งต่อทักษะการสร้างความสุข เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการช่วยเหลือเยาวชน คนในครอบครัว และคนรอบข้างอย่างบูรณาการ ด้วยการสร้างความแข็งแรงจากภายใน ใส่ใจดูแลความรู้สึกซึ่งกันและกัน มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างเพียงพอ ซึ่งหากทุกคนมีทักษะการเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรอบข้างอย่างลึกซึ้ง ก็จะทำให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้มั่นคงและยั่งยืน” ชาลี กล่าวทิ้งท้าย
โครงการ Happy Life Happy Thailand มุ่งมั่นพัฒนาคนด้วยทักษะการโค้ช กับภารกิจในการ
สร้าง ‘ทูตความสุข’ บุคคลต้นน้ำที่แข็งแรงจากภายในให้กับทุกตำบล สร้างเครือข่ายทูตความสุขที่จะร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม สร้างทุนมนุษย์ที่แข็งแรง แบ่งปันทักษะการสร้างความสุข
เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน