รวมพลเยาวชนรักษ์น้ำ R.I.D. Young Team ปี 2
เยาวชน 30 ชีวิต กับคนดังจิตอาสา มาจับมือกันในวันที่โลกร้อนและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ช่วยกันสร้างสรรค์คลิปวิดีโอเพื่อเล่าเรื่องราวในบ้านของพวกเขา และบอกว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขายังเอาสิ่งแวดล้อมอยู่
เดินทางมาถึงปีที่สองแล้ว สำหรับโครงการสร้างเยาวชนคนรักษ์น้ำในนาม R.I.D. Young Team ปี 2 น้ำมีชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำ ภายใต้การสนับสนุนของกรมชลประทาน ที่ในปีนี้ยังคงแนวทางหลักคือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกระบวนการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะมาเล่าเรื่องราวบ้านเกิดและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในมุมมองของพวกเขาเอง โดยที่ในปีนี้มีวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายวงการมาให้ความรู้เด็กๆ ทั้ง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวคนดัง, บอล - ทายาท เดชเสถียร, ยอด - พิศาล แสงจันทร์ สองนักเดินทางเจ้าของรายการหนังพาไป และ พลอย - พลอยไพลิน ตั้งประภาพร ศิลปินนักแสดงวัยรุ่น
มหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการในปีนี้ว่าเป็นการขยายผลจากปีแรกสู่พื้นที่ใหม่ เพื่อสร้างจิตสำนึกนักอนุรักษ์ให้เยาวชนในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำ จากความสำเร็จคราวก่อนทำที่โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีชายขอบเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน-ปางสีดา มรดกโลกแห่งหนึ่ง มาถึงปีนี้ที่จัดโครงการ ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ในวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2563 ก็มีบริบทพื้นที่คล้ายกัน
“บริเวณขอบอ่างด้านบนเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นมรดกโลกเหมือนกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครนายก และพื้นที่ของเขื่อนขุนด่านมีเรื่องการท่องเที่ยว มีคนเข้ามาจำนวนมาก เราจึงเลือกพื้นที่นี้ เพื่อให้เยาวชนรอบๆ มาอบรมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีอ่างเก็บน้ำเป็นที่ตั้งด้วย”
พื้นที่รอบเขื่อนขุนด่านปราการชลนับว่าเป็นทำเลทอง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หากขาดการดูแลรักษาหรือความเอาใจใส่จากคนท้องถิ่น จะมีแต่สูญสลายไปทุกวันๆ กรมชลประทานจึงต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้ทั้ง ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’
“หลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำที่นี่แล้วเราช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เราพบว่าป่าไม้อุดมสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากคนไม่มีการบุกรุก เราสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วมีพื้นที่กันชน และมีการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานดูแลพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ การมีอ่างเก็บน้ำทำให้ป่าไม้รอบๆ อุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เวลาเราเก็บกักน้ำแล้วเวลาน้ำลดจะมีหญ้าขึ้น ก็เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี”
นักแสดงสาวอย่างพลอยไพลิน พูดถึงการเป็นคนมีชื่อเสียงกับบทบาทด้านการอนุรักษ์ว่าถือเป็นข้อดีเพราะชื่อเสียงคือกระบอกเสียงที่ทำให้คนมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“พลอยไม่ได้เป็นผู้ใหญ่มากนัก ก็ยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นได้ว่าพลอยก็ทำเหมือนกัน เราก็เลือกที่จะทำเหมือนกัน”
การได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งผ่านเรื่องเล่าและคลิปวิดีโอการเดินทางของพลอย ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้มาก โดยในเนื้อหาสอดแทรกมุมมองด้านการอนุรักษ์ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและเข้าถึงได้ ซึ่งเหมาะสมกับช่วงวัยของเยาวชนที่เข้าอบรม
“จริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์ขนาดนั้น แต่อยากให้ธรรมชาติอยู่กับเรานานๆ เพราะเราอยากไปเที่ยว อยากเห็นธรรมชาติที่สวยงาม ก็เลยอยากจะช่วยให้มันอยู่กับเราไปนานๆ
ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่ให้เด็กได้ศึกษานอกห้องเรียน ไม่ใช่แค่ในตำรา ได้ไปเห็นสถานที่จริง ได้มาคุยกับวิทยากรจริง และได้ลงมือทำด้วย ดีที่ว่าได้ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ไม่จำเป็นต้องดีหรือแพง เป็นการสอนที่ทำให้เด็กได้ทำและเห็นว่าทำได้จริงๆ”
สำหรับ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากโครงการ เป็นใครไปไม่ได้นอกจากเยาวชนคนรักษ์น้ำจากสองโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดท่าด่าน และโรงเรียนบ้านดงวิทยาคาร
ด.ช.กฤษฎา นารส นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนวัดท่าด่าน บอกว่าที่สนใจมาร่วมอบรมเพราะเห็นว่ามีสอนการตัดต่อวิดีโอและเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเขาหารายได้เสริมจากการเป็นคนคุมเรือล่องแก่งให้นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำในอ่างเก็บน้ำ
“ผมไม่ได้ขอเงินที่บ้านเลยครับ เพราะทำงานหาเงินเอง เป็นเด็กลงเรือล่องแก่งให้นักท่องเที่ยว เวลานักท่องเที่ยวล่องแก่งผมจะเป็นคนอยู่ท้ายเรือคอยดูทิศทางให้ มีรายได้วันละประมาณ 400 ทำเสาร์-อาทิตย์ ได้สัปดาห์ละ 800 บาท ก็พอใช้และมีเหลือเก็บครับ
นอกจากที่ผมได้อาชีพจากเขื่อน การได้มาอบรมครั้งนี้ผมได้ความรู้เรื่องการตัดต่อด้วยครับ เพื่อที่จะเอาไปใช้กับการถ่ายวิดีโอให้คนอื่นเห็นความสวยงามของที่นี่ครับ และได้ความรู้เรื่องเขื่อนมากขึ้น หลังจากที่ผมรู้มาบ้างแต่ไม่ละเอียดขนาดนี้ เช่น เรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า การกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยวที่ช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้และเศรษฐกิจดี”
ด้วยรูปแบบการอบรมที่ต้องสร้างกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนยังต้องระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของทั้งเยาวชนและทุกคนในโครงการนี้ จึงดำเนินการอยู่บนวิถีใหม่ New Normal
ทุกมาตรการเพื่อสุขอนามัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 บอกว่านำมาใช้ทั้งหมด ทั้ง Social Distancing, ตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการอบรม
“เรามีเป้าหมายโครงการว่าสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนบริเวณพื้นที่โครงการ เพราะเยาวชนนี่แหละจะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้ปกครองมาช่วยกันป้องกันดูแลพื้นที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ เพราะการใช้พื้นที่โครงการจากกรมอุทยาน เหมือนมีคำมั่นสัญญาว่าเราต้องรักษาพื้นที่ของเขาเป็นอย่างดี ไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เยาวชนจึงเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งที่จะไปช่วยบอกต่อแก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ว่าการมีอ่างเก็บน้ำต้องมีการดูแล” มหิทธิ์ กล่าว