โควิด-19 ดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ยอดขายแตะ 1.2 แสนล้าน
โควิด-19 เป็นโอกาสแก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ หันมาสนใจและใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยอุตสาหกรรม ธุรกิจในไทยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ขยายการเติบโตขึ้น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าหลังโควิด-19 นี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพมียอดขายถึง 120,000 ล้านบาทโดยเป็นยอดขายจากผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย 20,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 17% มีผู้ผลิต 814 รายและยอดขายจากการนำเข้ามา 100,000 ล้านบาทคิดเป็น 83% มีผู้นำเข้า 4,884 ราย ส่วนมูลค่านำเข้า-ส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ปี 2562 พบว่า มีการนำเข้า 69,746 ล้านบาท และส่งออก 106,358 ล้านบาท
งานวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าปัจจัยหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยในช่วงปี 2562-2564 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 8.0-10.0% ต่อปี เกิดจากนโยบายรัฐตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub และศูนย์กลางส่งออกเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคภายในปี 2563 ขณะที่การเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนไทย โดยเฉพาะจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน อีกทั้ง จำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น จากความเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาและการเติบโตของกลุ่ม Expatriate และ Medical Tourists และแผนขยายการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลทั้งการสร้างใหม่และการขยายพื้นที่ให้บริการทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
"โฆษิต กรีพร" กรรมการผู้จัดการบริษัท เวลเมท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร อธิบายว่าประเทศไทยมีกลุ่มนักธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ แอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์จำนวนมาก ทั้งในระดับธุรกิจองค์กรใหญ่ ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดย่อย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รวมกลุ่มกันทำ กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร เป็นการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 3 ปี
ปัจจุบัน “กลุ่มคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร” มีสมาชิกประมาณ 60 บริษัท ซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตสินค้า อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์โดยมีงานวิจัยเป็นฐาน อันนำไปสู่การสร้างมาตรฐานทำให้เครื่องมือทางการแพทย์ ธุรกิจคนไทยได้รับความนิยม และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น
"กลุ่มธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยร่วมกับมหาวิทยาลัย สร้างความร่วมมือ เชื่อมต่อให้ทางอาจารย์ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเชิงลึก สร้างมาตรฐานให้แก่เครื่องมือแพทย์ของคนไทยเทียบเท่ากับนานาชาติ โดยมีงานวิจัยเป็นฐานรองรับ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสแก่อุตสาหกรรมด้านนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ หันมาสนใจและใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยอุตสาหกรรม ธุรกิจในไทยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ขยายการเติบโตขึ้น" โฆษิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยมูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศและส่งออกมีสัดส่วนที่ 30:70 ซึ่งเครื่องมือแพทย์ที่ไทยผลิตส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานเน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก จำแนกตามการใช้งาน ดังนี้ 1.กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ มีผู้ผลิต 41% อาทิ ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา
2.กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มีผู้ผลิต 23% อาทิ เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย และ3.กลุ่มชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค มีผู้ผลิตเพียง 5% ส่วนใหญ่ร่วมทุนกับต่างชาติมาลงทุนในไทย อาทิ น้ำยาตรวจโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับอักเสบ เป็นต้น
โฆษิต กล่าวต่อว่ากลุ่มธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์ สามารถเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ได้ ถ้าดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ สร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับสถาบันการศึกษา ยกระดับความสามารถในเชิงวิศวกรรมทางการแพทย์ของไทยที่ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ได้ ลดการแข่งขัน ต้องสนับสนุนให้โรงพยาบาลในประเทศไทยเชื่อมั่นและหันมาใช้เครื่องมือทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น
รวมถึงควรลดค่าใช้จ่าย ภาษีต่างๆ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจในแวดวงนี้ มีความต้องการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่ต้องมาติดปัญหาการตรวจสอบมาตรฐาน เนื่องจากในประเทศมีศูนย์ทดสอบน้อย ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกันเรื่องมาตรฐานมีความสำคัญอย่างมากในการการผลิตเครื่องมือแพทย์ แต่การตรวจสอบมาตรฐานในประเทศไทยต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และมีศูนย์ทดสอบน้อยทำให้ต้องไปส่งตรวจสอบต่างประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในไทย จึงผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้วัสดุของไทย ไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ และไม่ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ต้องนำไปบรรจุในร่างกายของคน เพราะถ้าเป็นเครื่องมือที่ต้องนำไปใช้ในร่างกายของคนจะมีตรวจสอบมาตรฐานหลายอย่าง และค่าใช้จ่ายสูงมาก
“เมื่อหลายโรงพยาบาลมีการเตรียมพร้อมต้องการเครื่องมือแพทย์ที่สามารถซื้อหาได้ในประเทศ และภาคธุรกิจก็พร้อมที่จะลงทุน รวมถึงการพัฒนาการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) ที่ต้องใช้เทคโนโลยี แอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาช่วยทำให้การรักษาสะดวกมากขึ้น ภาครัฐจึงควรลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ในการสร้างเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย และมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ รวมทั้งควรลดภาระให้แก่กลุ่มธุรกิจนี้ เพิ่มศูนย์ทดสอบให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์หลุดรอดตาข่ายอุปสรรคต่างๆ ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางในการผลิตเครื่องมือแพทย์ครบวงจรให้ได้” โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย