ผู้ป่วยโควิดในที่กักกันส่วนใหญ่ไม่มีอาการ-ไวรัสน้อย

ผู้ป่วยโควิดในที่กักกันส่วนใหญ่ไม่มีอาการ-ไวรัสน้อย

กรมวิทย์เผยผู้ป่วยยืนยันโควิดในสถานที่กักกันส่วนใหญ่ไม่มีอาการ สัมพันธ์ปริมาณเชื้อไวรัสน้อย

      เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอธิบายการตรวจเชื้อจากกรณีพบซากไวรัสโคโรนาในร่างกายผู้ติดเชื้อรายเดิม และผู้ต้องสงสัยติดโรคโควิดรายใหม่ ที่รพ.รามาธิบดีว่า การพบเชื้อปริมาณน้อยในร่างกายของผู้ต้องสงสัยรายนี้เป็นไปได้ว่า cycle time หรือ รอบของการเพาะเชื้อในหลอดทดลอง เพื่อที่จะดูจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกาย โดยหากพบมีมากกว่า 35 แสดงว่าจำนวนไวรัสมีน้อย ต้องมีการตรวจเพิ่มเพื่อให้แน่ใจว่าป่วยหรือไม่ แต่หากต่ำกว่า 30 แสดงว่าจำนวนไวรัสมีมาก ถือว่าป่วยและมีเชื้อไวรัสในร่างกายแน่นอน ทั้งนี้ ผู้ที่ตรวจพบยืนยันติดโรคโควิดขณะกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้(State Quarantine)นั้น ส่วนใหญ่จะมีรอบของการเพาะเชื้อมากกว่า 35 ถือว่ามีจำนวนไวรัสน้อย จึงไม่มีอาการ
   
      ปัจจุบันข้อมูล จากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา(US CDC) พบว่า ผู้ป่วยโควิด 50 % ไม่แสดงอาการ และมีอาการน้อย 20-30% โดยการจะยืนยันว่าเป็นผู้ติดโรคโควิด จะต้องตรวจเจอยีนส์ของเชื้อไวรัส 2 ตำแหน่งสำคัญ ซึ่งปริมาณของเชื้อที่มากจะสัมพันธ์กับอาการและการแพร่เชื้อที่มากด้วย ดังนั้น หากมีปริมาณเชื้อน้อย โอกาสแพร่โรคก็น้อยต่ำ ซึ่งข้อมูลพบว่าคนที่ไม่มีอาการป่วยโควิด โอกาสการแพร่เชื้อมีแค่ 0.6 % และพบว่าการที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโควิดได้ ต้องผ่านการป่วยมาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

      ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา พบด้วยว่า เชื้อไวรัสมีอายุประมาณ 8 วัน และเชื้อจะตาย ไม่สามารถก่อโรคกับผู้อื่นได้ ส่วนซากเชื้อไวรัสในผู้ป่วยรายเดิมนั้น ปกติสามารถอยู่ได้นานถึง 3 เดือน ส่วนความน่ากลัวของเชื้อโรคโควิด ยังต้องอาศัยการติดตามความรู้จากทั่วโลก อาจไม่น่ากลัวเหมือนกับตอนแรกที่มีอัตราตาย 5 % แต่ปัจจุบันด้วยข้อมูลทราบว่าอัตราการตายทั่วโลกอยู่ที่ 3 % และในส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ 1% แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ ต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม เพราะโรคนี้ยังคงมีอัตราการแพร่โรคที่เร็ว