ชะตากรรม'กะเหรี่ยงพุระกำ' ถูกรุกพื้นที่ เพื่อสร้างเขื่อน
'ปู่คออี้' คนกะหร่างแก่งกระจาน ก็เคยอยู่ในแถบป่า"พุระกำ" ก่อนย้ายไปอยู่ที่ป่าเมืองเพชรบุรี
พุระกำ เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดชุมชนกะเหรี่ยง ที่เคยเป็นด่านแรกป้องกันชายแดนตะวันตกให้กับแผ่นดินสยาม ปัจจุบันกำลังถูกให้ย้ายออกจากพื้นที่
เมื่อวันหยุดยาว 4-7 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ดิฉันได้เดินทางกับทีมสำรวจพันธุ์ปลา-สปีชีส์เฉพาะถิ่นลุ่มน้ำแม่กลองของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ อ.แฟร้งค์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพันธุ์ปลาที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย เข้าไปยังป่าต้นน้ำ บ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี หมู่บ้านคนกะเหรี่ยงที่แต่ก่อนเคยอยู่กระจัดกระจายในเขตป่าเขาตะนาวศรี แต่ในช่วงประมาณ 50 ปีมานี้ ได้มีการรวมคนกะเหรี่ยง-กะหร่าง มาตั้งหมู่บ้านอยู่รวมกัน ปู่คออี้คนกะหร่างแก่งกระจาน ก็เคยอยู่ในแถบป่าย่านพุระกำนี้มาก่อนย้ายไปอยู่ที่ป่าเมืองเพชรบุรี
เมื่อหลายเดือนก่อน ดิฉันเคยเขียนถึงน้องบิลลี่ คนกะหร่างเพชรบุรีที่ถูกอุ้มฆ่าหายไปในช่วงสงกรานต์ของปีพ.ศ.2557 จึงขอทบทวนความจำนิดหนึ่ง เกี่ยวกับคนกะเหรี่ยงภาคตะวันตกเขตภูเขาตะนาวศรีนี้ ที่มีอยู่สองกลุ่ม
ถ้าเป็นพวกโปว์หรือพร่ง คนพื้นบ้านเพชรบุรี-ราชบุรี-กาญจนบุรีจะเรียกพวกเขาว่า "กะเหรี่ยง" หรือ "สะเหรี่ยง" บางคนเรียก "ยางแดง,ยางน้ำ" คนกลุ่มนี้มักอยู่ในพื้นที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ มีความชำนาญในการจับปลา ล่าสัตว์ ทำไร่ข้าว ไร่พริก
กะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่ง คือพวกสะกอหรือชรัง ที่ชาวบ้านเพชรบุรี-ราชบุรี-กาญจนบุรีเรียกเขาว่า "กะหร่าง" หรือ "สะหร่าง" บางคนเรียก "ยางขาว,ยางดอย" แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” คนกลุ่มนี้ชอบอยู่ในป่าสูง ใกล้ภูเขาลึกๆ ชำนาญในการล่าสัตว์ แกะรอย หาของป่า
กะเหรี่ยงสองกลุ่มนี้ พวกเขาตั้งรกรากอยู่ในเขตป่าเขาตะนาวศรีมาหลายร้อยปีแล้ว และในอดีตชาติ มีหลักฐานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาแล้วว่า คนกะเหรี่ยงในพื้นที่เป็นกองเสือป่าแมวเซาดูแลชายแดนตะวันตกให้รัฐไทย-สยาม มาเป็นร้อยๆปีแล้ว
กองเสือป่าแมวเซา
กองเสือป่าแมวเซานั้น คือกองทหารโบราณ มีหน้าที่สอดแนม หาข่าว คอยซุ่มดักโจมตีข้าศึก เพื่อตัดเสบียงอาหาร มีลักษณะการรบแบบกองโจร
ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจึงเป็นกลุ่มชนแนวหน้า เป็นด่านแรกที่จะป้องกันชายแดนตะวันตกให้กับแผ่นดินสยาม มีหลักฐานมาต่อเนื่องยาวนาน ดิฉันเคยอ่านพบในพงศาวดารไทยหลายฉบับ
ด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาเช่นนี้ คนกะเหรี่ยงในเขตจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรีในปัจจุบัน ล้วนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษนักรบกองเสือป่าแมวเซา กองอาทมาต และกองอาสา ในกองทัพสยามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา
ลูกหลานกะเหรี่ยงกองเสือป่าแมวเซาซึ่งบัดนี้อยู่กันที่หลายๆหมู่บ้านชายแดนตะวันตก ทั้งบ้านใจแผ่นดินเมืองเพชรบุรี บ้านพุระกำสวนผึ้ง จึงมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากกับคนไทยและความมั่นคงของชาติไทยมายาวนาน คนกะเหรี่ยงมีหน้าที่ดูแลรักษาแผ่นดินสยาม เป็นชาติพันธุ์ที่ทำหน้าที่ดูแลชายแดนไทย ทั้งยังเป็นกันชนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์มาจนปัจจุบัน
หลักฐานชัดๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วิหาร สมุดไทยขาวไทยดำตั้งแต่ยุคอยุธยามาถึงสมัยรัชกาลที่ 4-5 หากเขียนภาพป่าเขา เขียนภาพชายแดนไทยปุ๊บ จำนวนมากๆ ที่ดิฉันได้เห็นมา จะมีภาพคนกะเหรี่ยงปรากฏอยู่ด้วย พบเป็นประจำจนดิฉันได้รวบรวมภาพเหล่านี้เก็บไว้จำนวนมาก และเคยตั้งใจจะทำงานวิจัย คนกะเหรี่ยงในจิตรกรรมไทยมาแล้วซะด้วยซ้ำ
ลูกหลานทหารกะเหรี่ยงบ้านพุระกำ
ในช่วงวันหยุดยาวของต้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ดิฉันจึงดีใจมาก ที่จะได้เข้าไปสำรวจพันธุ์ปลา ในเขตป่าต้นน้ำบ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
บ้านพุระกำนี้ เป็นชุมชนกะเหรี่ยงอยู่กันมายาวนานหลายสิบปี แต่เดิมพวกเขา ก็คือ ลูกหลานทหารกะเหรี่ยงกองเสือป่าแมวเซา ในกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ร่วมรบกู้ชาติไทยในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 จนรบชนะพม่า ตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาได้ใหม่ ลูกหลานกะเหรี่ยงกองเสือป่าแมวเซาเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายเป็นแนวกันชนไทย-พม่า ตลอดแนวป่าของเทือกเขาตะนาวศรี และได้มาอยู่รวมกันที่พุระกำ มาทำนา ทำไร่ ทำสวนหมาก สวนทุเรียน จับปลา ปลูกผลไม้อยู่สงบสุขมาหลายสิบปี
จนไม่กี่ปีมานี้ ลูกหลานทหารกะเหรี่ยงของสมเด็จพระนเรศวรฯ กำลังจะถูกกรมชลประทาน รัฐบาลไทย ปล้นแผ่นดิน ปล้นป่า ยึดนา ยึดสวน ยึดไร่ ยึดบ้าน ยึดป่าพุระกำ เอาไปสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง
ด้วยเหตุผลที่กรมชลประทานอ้างว่าเพื่อบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยของลุ่มน้ำภาชี จ.กาญจนบุรี และราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ยอมเข้ามาทำประชาคม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้รับรู้เรื่องการก่อสร้างแต่อย่างใด ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ว่า (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน https://siamrath.co.th/n/169522)
“นายสมบัติ วริทธิกรกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 เปิดเผยว่า สมัยก่อนชาวบ้านอยู่กันแบบกระจัดกระจายตามห้วยหนอง แนวเทือกเขาตะนาวศรี มีผู้นำคอยดูแล ปี 2516 มีการรวบรวมชาวบ้านมาอยู่เพื่อได้ดูแลง่ายขึ้น ชาวบ้านจึงค่อย ๆ ทยอยกันลงมาอาศัยอยู่จนทุกวันนี้ มีหลายแห่ง ทั้งแถบบ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน เขตจังหวัดเพชรบุรี มีลุงคออี้ ซึ่งเดิมเคยอยู่แถวนี้มาก่อน และได้ย้ายไปอาศัยแถบใจแผ่นดิน มีอาชีพหลักทำไร่เลื่อนลอย
ต่อมาภาครัฐได้จัดพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้าน ทำการเกษตร ปลูกข้าวไร่ โครงการศิลปาชีพได้เข้ามาสนับสนุนการทำนา ส่งเสริมเรื่องการปลูกทุเรียน มังคุด และผลไม้ ซึ่งบ้านพุระกำ ปัจจุบันเรียกบ้านวังไทร แต่ภาษากะหร่างจะเรียก “ ห้วยครึ ” อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ที่นี่มีโครงการศิลปาชีพ ปักผ้า ทอผ้าไหม การจักสาน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระเมตตาส่งเสริม โดยนำชาวบ้านไปฝึกอบรมที่วังไกลกังวล และสวนจิตรลดา พระองค์ท่าน พระราชทานทรัพย์มาให้แก่ชาวบ้านด้วย”
อยู่มาตั้งแต่เกิด ไม่ขอย้ายไปไหน
ตัวแทนชาวบ้านกะเหรี่ยงพุระกำ เปเล่ กัวพู่ เล่าให้ดิฉันฟังในเรื่องกำลังจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยยึดบ้านยึดป่าไปสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง เปเล่ได้เคยกล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงพุระกำ กลัวกันมากดังปรากฏเป็นข่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อนว่า
“ชาวบ้านกังวลมาก เพราะหากย้ายที่อยู่ จะต้องไปเริ่มการทำมาหากินใหม่หมด ปลูกผลไม้คงไม่ได้กินดี แต่อยู่ที่นี่มีวิถีชีวิตที่ดีแล้ว พระองค์ท่านได้พระราชทานหมู่บ้านให้เมื่อปี พ.ศ. 2533 พระองค์ท่านรับสั่งว่า “ ให้ราษฎรบ้านพุระกำ บ้านหนองตาดั้ง ช่วยกันดูแลป่า คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน สัตว์ป่าก็อยู่กับคน คนก็ดูแลป่าไป ”
ทุกวันนี้เวลามีไฟป่า ชาวบ้านจะช่วยกันดับ แต่ละปีจะช่วยกันทำแนวกันไฟ ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ไม่ให้ไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามเขต จะชวนลูก หลาน ชาวบ้านไปช่วยกัน อีกทั้งยังช่วยดูแลสัตว์ป่า จุดไหนที่เก้ง กวาง เลียงผา ลงหาอาหาร ก็จะนำเกลือไปทำโป่งเทียมไว้ให้ และยังปลูกฝังลูกหลานช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้ ไม่ให้ทำร้ายกัน และจะดูแลยามบาดเจ็บก็ให้ช่วยนำสัตว์ต่าง ๆ ส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตด้วย
ได้สอบถามชาวบ้านหลายคนบอกไม่อยากไป ถึงแม้จะจัดพื้นที่ให้อยู่ใหม่ก็ตาม เพราะไม่มีผืนดินไหนดีเท่าแผ่นดินบริเวณนี้อีกแล้ว เรียกได้ว่าเป็นถิ่นเกิด และไม่อยากไปจากที่นี่ด้วย และเมื่อย้ายไปก็จะถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่มกระจายกันไปอยู่ตามที่เขาจัดให้ ไม่ได้อยู่ร่วมกันอีกแล้ว
ถ้าอยากจะมีโครงการเข้ามาก่อสร้างจริงๆก็อยากจะให้เลยบริเวณหมู่บ้านนี้ขึ้นไปอีก ซึ่งที่ผ่านมาจากสถานการณ์ที่แม่น้ำภาชีท่วมใหญ่จะมีระดับน้ำขึ้นมาสูงมากตัวอาคารศาลาภายในหมู่บ้าน
เคยทำหนังสือคัดค้านและไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีมาแล้ว และทางพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมชลประทานทบทวนและมาทำประชาพิจารณ์สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ถึงการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
แต่ทางกรมชลประทานไม่ยอมเข้ามาทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ แต่ไปทำประชาพิจารณ์กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ แทน ไม่เคยมาสอบถามชาวบ้านในพื้นที่เลย
ต่อมาได้ทำหนังสือคัดค้านไปยื่นกับพลเอกประยุทธ์ จันโอชา นากยกรัฐมนตรีเมื่อครั้งมีการประชุมสัญจรที่ราชบุรีมาแล้วครั้งหนึ่ง บอกให้รอเรื่อง แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในเรื่องนี้ หากมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำจริงก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร คิดอย่างเดียวว่าไม่ไป”
ดิฉันอ่าน-เขียนงานประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมมาหลายสิบปี ผ่านตาเรื่องทหารกะเหรี่ยงที่ช่วยรักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติไทยมายาวนาน มาวันนี้ได้เข้าไปใจกลางหมู่บ้านของลูกหลานพวกเขา ก็ดันเข้าไปในวันที่รัฐไทยจะไปปล้นบ้าน ยึดป่า ยึดแผ่นดินของพวกเขา ที่ไม่กี่ปีก่อน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชทานหมู่บ้านและความช่วยเหลือในลูกหลานทหารกะเหรี่ยงกองเสือป่าแมวเซา ให้กะเหรี่ยงพุระกำตั้งบ้านมาได้อย่างสงบสุขมั่นคงมาหลายสิบปี ด้วยรับสั่งของพระองค์ว่า
“ ให้ราษฎรบ้านพุระกำ บ้านหนองตาดั้ง ช่วยกันดูแลป่า คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน สัตว์ป่าก็อยู่กับคน คนก็ดูแลป่าไป ”
ป่าสมบูรณ์ถึงเพียงนี้มิใช่จะมีเหลือได้ง่ายๆ ในแผ่นดินไทย ยังจะมาถูกกรมชลประทานยึดไปสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่จะมาทำแบบนี้ใช้สมองคิดกันบ้างหรือเปล่า หรือกำลังมี “วาระซ่อนเร้น” เช่นใดอยู่
เพราะริมเขื่อนริมอ่างเก็บน้ำที่ไหนๆ ตามมาหลังจากนั้นก็คือ นายทุนกระเป๋าหนักที่จะมากว้านซื้อพื้นที่รอบเขื่อน ชายเขื่อน สร้างรีสอร์ทไว้พักผ่อน ไว้หาเงินเข้ากระเป๋าซะอีกแน่ะ
ส่วนกะเหรี่ยงลูกหลานกองเสือป่าแมวเซาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เคยร่วมตั้งชาติไทยมา จะถูกเขี่ยกระเด็นระเนระนาด ไปมีชีวิตพังพินาศอยู่ชายขอบไหน เหมือนจะไม่มีใครมาสนใจ
..............
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำรวจพันธุ์ปลาปูป่าต้นน้ำ บ้านกะเหรี่ยง'พุระกำ' ความหลากหลายที่กำลังจะหายไป