'การหย่าร้าง' ทำให้คนมีความสุขหรือ?
งานวิจัยชุดนี้ มีข้อหนึ่งสรุปว่า คู่แต่งงานที่ไร้สุขราว 2 ใน 3 หากประวิงเวลาออกไป ไม่"หย่าร้าง"หรือแยกกันอยู่ในทันที จะกลับมาเป็นคู่แต่งงานสุขสันต์ได้ใน 5 ปีให้หลัง
คนเราเวลารักกันนี่ก็อยากแต่งงานกัน แต่พอเบื่อนี่ก็อยากจะหย่ากันจริงๆ จังๆ อีกเหมือนกัน บางคู่ย่ำแย่ถึงขั้นทำร้ายกันลงคอ แต่อะไรกันแน่ที่ทำให้คนอยากจะหย่าขาดจากกัน ?
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต เก็บข้อมูลจากการทดลองก่อนๆ หน้าของกลุ่มอื่นที่ยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980–1997 ร่วมกับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์อีก 2,033 คน ที่เคยแต่งงานและหย่าแล้ว (J. Family Issues (2003), 24 (5), 602–626)
ผลก็คือ ทำให้ทราบว่าสาเหตุหลักที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ “การไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน” ตามมาด้วยการเข้ากันไม่ได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเหล้ายา และการมีความคิดเห็นแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลทั่วๆ ไป
คราวนี้ หากดูเหตุผลที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้นไปกับแต่ละคู่ ก็พบว่า มีความแตกต่างกันไปอีกตามแต่เพศ ฐานะทางสังคม และตัวแปรการใช้ชีวิตต่างๆ
การค้นพบสำคัญที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าสามีหรือภรรยาต่างก็ล้วนแล้วแต่กล่าวโทษอดีตภรรยาหรือสามีของตนว่าเป็น “ต้นเหตุของปัญหา” ที่นำไปสู่การหย่าร้าง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่า ฝ่ายหญิงมักจะเป็นฝ่ายคิดที่จะหย่าก่อน
ข้อสังเกตที่สำคัญของงานวิจัยนี้ข้อสุดท้ายก็คือ พบว่าคนที่มองเห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงที่นำไปสู่การหย่าร้างคือ “ตัวความสัมพันธ์” ไม่ใช่ปัจจัยภายในคือ ตัวเองหรือคู่ หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ มักจะเป็นคนที่ปรับตัวภายหลังการหย่าร้างได้ดีที่สุด
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การหย่าร้างกลายเป็นเรื่องยากของทั้ง 2 ฝ่าย ก็คือ บรรดาลูกนั่นเอง การหย่าร้างส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนกับลูกๆ ของคู่สมรสเหล่านั้นกันแน่ ?
การศึกษาที่ครอบคลุมคนอายุ 25 ปีหรือมากกว่าที่พ่อแม่หย่ากันใน 14 ประเทศ (ประเทศต่างๆ ในยุโรปและออสเตรเลีย) ช่วง ค.ศ. 2003–2008 (Dem. Res. (2014), 30 (61), 1653-80 และ MARRI Research Synthesis (2012), 1-48)) ทำให้ทราบว่า คนเหล่านี้มีโอกาสโดยเฉลี่ยที่จะได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่ำกว่าเด็กในครอบครัวที่ไม่หย่าร้างราว 7 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งพ่อแม่เป็นพวกมีการศึกษาสูงเท่าใด การหย่าร้างก็ดูจะส่งผลรุนแรงมากเท่านั้น
แต่ที่แย่กว่าการทำให้ลูกๆ ของคนเหล่านั้นอดได้ร่ำเรียนสูงๆ ก็คือ พบกว่าการหย่าร้าง ส่งผลทำให้สุขภาพของเด็กๆ แย่กว่าเฉลี่ย ไปจนถึงมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงด้วย และยังจะไปเพิ่มความเสี่ยงเรื่องพฤติกรรม ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และปัญาหาทางจิตอื่นๆ ของเด็กๆ รวมไปถึงการฆ่าตัวตายอีกด้วย
สำหรับตัวคู่สมรสเอง การหย่าร้างก็ส่งผลในแทบจะทุกด้าน ทีมนักวิจัยเบลเยี่ยม (Arch Public-Health (2008), 66, 168-186) วิเคราะห์จากฐานข้อมูลการวิจัยกลุ่มแองโกล-แซ็กซอนและดัทช์ที่ตีพิมพ์กันก่อนหน้า ทำให้ทราบว่าการหย่าร้างส่งผลเสียกับสุขภาพโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย ใจ รวมไปถึงค่าอายุขัยเฉลี่ย จนต้องไปพบแพทย์บ่อยครั้งขึ้นอีกด้วย
เรียกว่าหย่าทีเดียว ทรุดโทรมกันระเนระนาดเลยทีเดียว !
การหย่าร้างส่งผลหลายด้าน อย่างที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงทีเดียว โดยเฉพาะมุมมองต่อโลก ดังที่งานวิจัยปี 2012 ข้างต้นสรุปไว้ว่า คนที่หย่าร้างจะสวดมนต์และไปโบสถ์น้อยลง มีโอกาสก่ออาชญากรรม ทำร้ายร่างกาย และติดยา รวมทั้งต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐมากกว่า
ปัจจัยที่อาจเป็นตัวช่วยอยู่บ้างในกรณีที่ต้องหย่าร้าง ได้แก่ ลักษณะนิสัยประจำตัวแบบมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมไปถึงการมีเงินทองบ้างและไม่อัตคัตขัดสนจนเกินไป
หากพูดถึงเงินทอง การแต่งงานและหย่าร้าง ส่งผลกระทบกับแนวคิดด้านการลงทุนด้วยนะครับ (CREATES Res. Paper 2010-57) ที่น่าแปลกใจคือ ส่งผลกลับกันในฝ่ายชายและหญิง โดยภายหลังการแต่งงาน ผู้ชายจะเลือกลงทุนแบบเสี่ยงน้อยลง ขณะผู้หญิงจะกล้าเสี่ยงลงทุนมากขึ้น ขณะที่หากเป็นภายหลังการหย่าร้าง วิธีการลงทุนของทั้งสองฝ่ายจะกลับตาลปัตร
แต่การหย่าร้างไม่ได้แก้ไขปัญหาชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขได้หรอกหรือ ?
สถาบันเพื่อคุณค่าแบบอเมริกัน (Institute for American Values) ตีพิมพ์รายงานชื่อ “การหย่าร้างทำให้คนมีความสุขหรือ? ข้อสรุปจากการศึกษาชีวิตแต่งงานที่ไร้สุข” (2002) ซึ่งข้อสรุปหลายเรื่องน่าสนใจทีเดียว เช่น
(1) เฉลี่ยแล้วคนที่มีชีวิตคู่ที่ไม่ดี ก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้นหลังจากหย่าร้าง
(2) ทำนองเดียวกัน ก็ไม่ได้ช่วยลดความซึมเศร้า หรือเพิ่มคุณค่าในตัวเองได้เลย เมื่อเทียบกับคู่ที่ไม่มีสุข แต่ก็ยังทนอยู่กันต่อ
(3) ชีวิตคู่ที่ไม่ได้สุขอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว โดยพบว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของคู่ไร้สุข ก็อยู่ด้วยกันไปอย่างนั้นได้ โดยไม่มีการลงไม้ลงมือ แม้ในจำนวนนี้ 77 เปอร์เซ็นต์ จะแยกกันอยู่หรือหย่าร้างในที่สุดก็ตาม อีกข้อที่น่าสนใจได้แก่ มีการค้นพบว่ามากถึง 3 ใน 4 ของคู่สมรสที่หย่าร้าง ล้วนเคยมีชีวิตสมรสที่ดีเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น เรียกว่า “น้ำต้มผักไม่หวานแล้ว” ก็คงได้
ข้อสุดท้ายที่น่าประหลาดใจและอยากจะกล่าวถึงได้แก่ การค้นพบว่าคู่แต่งงานที่ไร้สุขราว 2 ใน 3 หากประวิงเวลาออกไป ไม่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่ไปในทันที จะกลับมากลายเป็นคู่แต่งงานสุขสันต์ได้ใน 5 ปีให้หลัง แม้ว่าขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ราว 1 ใน 5 ของที่หย่าร้างกันไปหรือแยกกันอยู่ จะได้แต่งงานใหม่และมีความสุขกับการแต่งงานครั้งใหม่ก็ตาม
ทั้งหมดที่ข้างต้นเป็นผลการศึกษาในประเทศตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ผลส่วนมากชี้ไปในทางผลร้ายของการหย่าร้าง แต่สุดท้ายแล้ว แต่ละคนคงต้องเลือกเองนะครับว่าจะ “หย่า” หรือ “อย่า(ไม่หย่า)”