'ชาวนามหานคร' ทำนา ปลูกป่า ในเมืองกรุง
ก่อนจะเล่าถึงนักธุรกิจที่ซื้อที่ดิน 133 ไร่ (ในตอนต่อไป) ทำการเกษตร ปลูกป่า สอนคนทำการเกษตร และทำ Eco Village ในชื่อ “ชาวนามหานคร” ลองอ่านแนวคิดพระอธิการสายชล ที่ปรึกษาโครงการ มาช่วยออกแบบพื้นที่ และสารพัดเรื่องราวที่เกิดขึ้น
แม้ในโลกอนาคต เทคโนโลยีจะตอบโจทย์ในหลายๆ เรื่อง แต่อย่าลืมว่า การสร้างความร่มรื่นและอากาศดีๆ ให้มนุษย์ ไม่อาจทดแทนด้วยสิ่งอื่น ต้องลงมือปลูกต้นไม้ และพืชผักที่บริโภค ไม่ว่าเราใส่สิ่งใดลงไป เมื่อบริโภคแล้วก็มีผลต่อร่างกาย
"จะมีอะไรที่มั่นคงกว่าข้าวปลาอาหาร เพราะคุณต้องกิน ต้องหายใจ ต้องการความร่มรื่นทุกวัน แล้วจะมีเทคโนโลยีแบบไหนที่จะผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้โลกใบนี้ได้ดีเท่ากับการปลูกต้นไม้” พระอธิการสายชล ขันติธัมโม ที่ปรึกษาชาวนามหานคร เล่าถึงสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คืออาหารและอากาศดีๆ
เรื่องเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นของชาวนามหานคร (หนองจอก) พื้นที่ที่วรเกียรติ สุจิวโรดม นักธุรกิจด้านส่งออก ซื้อพื้นที่หนองจอก จ.กรุงเทพฯ133 ไร่ เพื่อทำเกษตรตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9
แม้ตอนนี้จะมีหนองน้ำ มีแปลงข้าวที่ปลูกไม่กี่เดือนแล้ว (ปี 2563) แต่พื้นที่ยังต้องจัดการอีกเยอะ กำลังก่อสร้างบ้านพักอาศัย สถานที่ฝึกอบรมทางการเกษตร และอีก 90 ไร่เตรียมไว้สำหรับโครงการ Eco Village โครงการทั้งหมดไม่สามารถสร้างรายได้ต่อยอดความร่ำรวยได้เลย
“เนื้อที่ 133 ไร่ที่วรเกียรติ นักธุรกิจซื้อไว้ ตอนแรกเขาวางไว้ว่า ”จะปลูกป่าและทำเป็นพื้นที่ความสุขส่วนตัว “ แต่อาตมาบอกว่าศักยภาพคุณ ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้มากกว่านั้น อาตมาในฐานะที่ปรึกษาโครงการที่ทำทุกอย่าง ก็เลยวางแนวทางว่า ไม่ใช่แค่เขาพออย่างเดียว ต้องให้คนอื่นได้ใช้โอกาสจากพื้นที่นี้ด้วย
ที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ในทุกเรื่อง คนที่มาเรียนรู้ก็จะนำความรู้ไปขับเคลื่อนต่อ เราอยากสร้างคนที่มีใจมีวิธีคิด ตรงกัน ในเรื่องการพัฒนา เพราะพระสงฆ์ไม่ได้เป็นที่พึ่งทางธรรมอย่างเดียว เราทำงานตรงนี้เพราะเห็นว่า ต่อไปชาวนามหานครหนอกจอกจะเป็นแหล่งให้ความรู้คนทั่วไป และเปลี่ยนเกษตรสารเคมีมาเป็นกสิกรรมธรรมชาติ” พระอธิการสายชล เล่า และบอกว่า ถ้าจะทำเกษตรรูปแบบนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่วาทกรรมหรือคำพูดสวยหรู
“ตอนแรกๆ อาตมาก็เชื่อว่าเป็นพระราชดำริที่สวยหรูของกษัตริย์ แต่พอทำแล้วเห็นผล ก็เกิดความศรัทธา ถ้าใครก็ตามมีดิน ต้องรู้ก่อนว่า ที่ดินผืนนั้นจะทำอะไรได้บ้าง โจทย์ของชีวิตเป็นอย่างไร จะออกแบบพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างไร" พระอาจารย์ อธิบาย และว่า ถ้ามาแนวทางนี้ ทัศนคติที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ และปรับเปลี่ยนยากมาก
“เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องแฟชั่นหรือกระแส แนวทางนี้อาตมาเชื่อว่าไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ถ้ามีทุนน้อยก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ ทำ เดินทีละก้าว แค่จอบอันเดียว ปลูกผัก ปลูกพริกบนคันนา มีทุนแล้วก็ทำหนองน้ำ มีโคกกว้างๆ ใช้หลักการธรรมชาติ
รู้ไหมหน้าหนาวต้นไม้จะผลัดใบมาห่มดิน รักษาความชื้นให้ต้นไม้ตลอดหน้าแล้ง หรือต้นไม้บางขนิดขอบชื้น ถ้ามาปลูกในที่แห้งก็ไม่รอด” พระอาจารย์สายชล เล่าและย้อนถึงการเรียนรู้ที่ผ่านมาว่า
"แรกๆ ที่ทำเรื่องการออกแบบพื้นที่ อาตมาก็ไม่ได้มีพื้นฐานเลย อาศัยเก็บเล็กผสมน้อย เรียนรู้จากธรรมชาติ ทำงานกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จนมาเป็นวิทยากร อบรมให้คนที่สนใจ ทั้งเรื่องป่า น้ำ ดิน พลังงาน ฯลฯ และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ออกแบบพื้นที่ ต้องอาศัยประสบการณ์ล้วนๆ"
ไม่ใช่แค่การออกแบบพื้นที่ โคก หนอก นา ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 ยังเป็นจุดริเริ่มแนวคิด Eco Village บนพื้นที่ 90 ไร่ติดกับพื้นที่ชาวนามหานคร 133 ไร่ หากใครอยากใช้ชีวิตแบบกสิกรรมธรรมชาติ และรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ พวกเขาสามารถซื้อที่ดินปลูกบ้าน อยู่ในชุมชนร่วมกัน
“อันนี้เป็นเรื่องที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยตรัสไว้ คนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาอยู่ร่วมกันในชุมชน โดยเราออกแบบพื้นที่ให้ฟรี เชื่อมโยงกับโครงการชาวนามหานคร มีโรงเรียน บ้าน ชุมชน และวัด พื้นที่หนึ่งไร่ควรเป็นพื้นที่กสิกรรมครึ่งหนึ่ง ส่วนพื้นที่ปลูกบ้านมีระเบียบว่าต้องกลมกลืนธรรมชาติ ต้องเป็นชุมชนรักษ์โลก
ที่นี่ไม่ใช่ว่า มีเงินก็ซื้อได้ จะเป็นลักษณะอยู่อย่างมีเงื่อนไข ต้องไปอบรมเรื่องกสิกรรมธรรมชาติก่อน ” พระอาจารย์เล่า และว่า ชุมชนจะน่าอยู่ ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ ไม่ใช่ว่า สร้างบ้านติดๆ กันแล้วแบ่งขาย
..................
“ชีวิตเหลือเวลาไม่เยอะ"
พระอธิการสายชล ขันติธัมโม วัย 30 กว่าๆ เจ้าอาวาสวัดหนองสองห้อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จบด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา บวชได้ 9 พรรษา
ปัจจุบันเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเกษตร ด้านดิน น้ำ ป่า พลังงาน และเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร ทำงานร่วมกับหลายเครือข่าย
ตอนบวชพรรษาแรก ตั้งแต่ว่า บวชเพื่อเรียนรู้หลักธรรมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตและทดแทนบุญคุณพ่อแม่ แต่พอถึงกำหนดลาสึก อยากอยู่ต่อ เพราะยังไม่พอใจในธรรม จนเมื่อมั่นคงมากขึ้น ก็อยากอยู่ทำหน้าที่ โดยมีสองเงื่อนไขคือ ความรู้กับคุณธรรม
"ในเรื่องความรู้จะหาที่ไหนก็ได้ แต่ในเรื่องคุณธรรม อาตมายังห่างไกลมาก ก็เลยอยากลองศึกษาหาหนังสือมาอ่านใช้ชีวิตแบบนักบวช อาศัยว่ามีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจพอเพียง และกสิกรรมธรรมชาติ เพราะเคยเป็นอาสาสมัครและนักกิจกรรม จึงไม่ใช่บวชแล้วค่อยทำเรื่องนี้ แต่เราชอบแนวทางนี้ พอทำความเข้าใจกับสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงวางแนวทางไว้ ก็คิดว่า สามารถนำมาประยุกต์ได้ทุกเรื่อง
"ถ้าเรายังมีความคิดและทำงานได้ ก็ต้องคิดให้ตกผลึก และเรารู้วันตายไหม นั่นแสดงว่า วันเวลาในชีวิตยังเหลือไม่เยอะ"