สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5นวัตกรรมจากจุฬาฯใช้ได้จริง
สถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กลับมาสร้างผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยในหลายพื้นที่ที่ต้องใช้ชีวิตเผชิญกับอันตรายจากฝุ่นขนาดเล็กที่มีค่าเกินมาตรฐาน
จากปัญหาดังกล่าวทำให้อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยสารผสมที่สามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศให้ตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับการต่อยอดจากภาคเอกชน โดยบริษัทเอส.ที.โพรเทค จำกัดร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้สิทธิในผลงานวิจัยสารผสมสำหรับลดฝุ่นซึ่งเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีทางเภสัชศาสตร์เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “PhytFoon ไฟท์ฝุ่น” ต่อไป งานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์
นวัตกรรม “สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5” ผลงานวิจัยของรศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง และ รศ.ภญ.ร.ท.หญิง ดร.ภัสราภา โตวิวัฒน์อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จากบริษัทเฮิร์บ การ์เดียน จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะของ CU Pharmacy Enterprise คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CU Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสเปรย์ลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ปิด เช่น ในบ้าน สำนักงาน รถยนต์ ฯลฯ
ด้วยสารผสมที่สามารถจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มองไม่เห็นซึ่งลอยอยู่ในอากาศให้ตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในโครงการ Leaders in Innovation Fellowships Programme (LIF) ประจำปี 2563 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ Newton Fund และ The Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร
รศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดาเผยถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ในการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ว่ามีที่มาจากการมองฝุ่นว่าเป็นอนุภาคของแข็งที่แขวนลอยในอยู่อากาศ ดังนั้นจึงคิดหาวิธีที่ทำให้ฝุ่นตกลงมาสู่พื้น โดยใช้เทคโนโลยีทางเภสัชกรรมคิดค้นสารผสมที่สามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ด้วยกลไกจำเพาะ ในการทำงานวิจัยครั้งนี้ใช้เวลากว่า 1 ปีจนได้สารผสมที่เป็นสารจากธรรมชาติมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
สารผสมที่ผลิตนี้สามารถทำให้ PM2.5 เกาะรวมตัวกัน ซึ่งได้มีการพิสูจน์ลักษณะฝุ่นที่ตกลงมาสู่พื้นหลังการใช้สารฉีดพ่นด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่าฝุ่นมีขนาดใหญ่ขึ้นและไม่ลอยขึ้นไปในอากาศให้เราสูดหายใจเข้าไป นวัตกรรมนี้นับเป็นการบูรณาการความรู้ด้านเภสัชกรรมและวิทยาศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฝุ่นจากอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝุ่นจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
“ไอเดียเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างนวัตกรรม เราต้องมองให้เห็นปัญหา และมีแนวคิดในการแก้ปัญหา สิ่งที่ยากที่สุดคือการทดสอบว่าสิ่งที่เราคิดค้นนั้นมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริง และต้องมีผลการพิสูจน์อย่างถูกต้องด้วย” รศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา กล่าว
รศ.ภญ.ร.ท.หญิง ดร.ภัสราภา กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมเกิดขึ้นจากการรวมศาสตร์โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากคณะต่างๆ รวมถึงในด้านธุรกิจและการตลาด จะช่วยให้สามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ กำลังใจที่ช่วยให้งานวิจัยประสบความสำเร็จคือการมีเพื่อนคู่คิดและทีมงานที่ดีช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้การได้ใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทำให้ชีวิตมีคุณค่า