วัคซีน โควิด-19 ความหวังโลก ความหวังไทย
คืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกราว 66 วัคซีน อยู่ระหว่างทดสอบระยะสาม12 วัคซีน โดย mRNA ของ ไฟเซอร์ และ โมเดินน่า ได้ผลถึง 95% และ แอสตร้าเซนิก้า ได้ผลเฉลี่ย 70% (ในกลุ่มย่อยพบว่าได้ผลถึง 90%) คาดมีอย่างน้อย 1-2 วัคซีน จะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียน
วันนี้ (30 พฤศจิกายน) ที่ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีน โควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนทั่วโลกว่า วัคซีนที่กำลังเข้าสู่การทดสอบในอาสาสมัครทั่วโลกมีประมาณ 66 วัคซีน ทั้งนี้ มี 12 วัคซีน (4 เทคโนโลยี) ที่กำลังทดสอบในระยะที่ 3 โดย ผลการทดสอบวัคซีนได้ผลดีมาก มาจาก 3 บริษัท คือ ไฟเซอร์, โมเดินน่า และ แอสตร้าเซนิก้า ซึ่งทั้ง 3 วัคซีน แจ้งผลทดสอบในระยะที่สาม
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นสามารถป้องกันการติดเชื้อหรืออาการป่วยรุนแรงของโควิด-19 ได้สูงเกินคาดหมาย ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของ ไฟเซอร์ และ โมเดินน่า ได้ผลถึงร้อยละ 95 และวัคซีนชนิดใช้เชื้อไวรัสอื่นเป็นตัวพาของ แอสตร้าเซนิก้า ได้ผลเฉลี่ยร้อยละ 70 (ในกลุ่มย่อยพบว่าได้ผลถึงร้อยละ 90) ข้อดีของวัคซีนนี้ คือ ตั้งราคาถูกมากไม่เกินเข็มละ 5 ดอลลาร์สหรัฐและจัดเก็บง่ายที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ได้ผลเฉลี่ยร้อยละ 70 (ในกลุ่มย่อยพบว่าได้ผลถึงร้อยละ 90) ของวัคซีนนี้ คือ ตั้งราคาถูกมากและจัดเก็บง่ายที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส
ดังนั้น คาดว่า จะมีอย่างน้อย 1-2 วัคซีน จะได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ,อังกฤษและยุโรป เพื่อใช้ในกรณีภาวะฉุกเฉินภายในสิ้นปีหรือต้นปีหน้าอย่างแน่นอน ส่วนความท้าทายของโลก เมื่อไหร่จะมีวัคซีนใช้ทั่วถึงสำหรับประชาชนทั่วไป ที่แน่นอนคือ จำนวนวัคซีนที่จะผลิตได้ในสิ้นปีนี้น่าจะน้อยกว่า 100 ล้านโดส ฉะนั้นคงจะมีให้เฉพาะประเทศที่ได้จองล่วงหน้าไว้แล้วเท่านั้น และคาดว่าวัคซีนคงจะมีการผลิตมากขึ้นเป็นหลายพันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า (2564) แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถผลิตได้เพียงพอสำหรับร้อยละ 50 ของประชากรโลก คือมากกว่า 3,900 ล้านคน ซึ่งต้องฉีดสองเข็ม ก็คือประมาณ 7,800 ล้านโดส
สำหรับประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้เมื่อไหร่ รัฐบาลมีนโยบายคู่ขนาน 3 ด้าน (1) เข้าร่วมกับเครือข่ายนานาชาติ COVAX ในการต่อรองและจัดซื้อวัคซีน (2) สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก แอสตร้าเซนิก้า ผลิตวัคซีนภายในประเทศที่บริษัทสยามไบโอซายน์ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้รับวัคซีน 26 ล้านโดส ภายในปลายปีหน้า (2564) (3) ส่งเสริมการคิดค้นพัฒนาวัคซีนและผลิตได้ในประเทศ
สรุปประเทศไทยจะเริ่มมีวัคซีนใช้สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก น่าจะประมาณกลางปีหน้า และอาจจะมีการนำเข้าวัคซีนอื่น ๆ จากภาคเอกชนเพื่อให้มีการเข้าถึงประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนของไทย เป้าหมายสำคัญคือ ประเทศสามารถพึ่งตนเองให้มากที่สุดในการระบาดครั้งนี้ รวมทั้งการระบาดในอนาคต
ขณะนี้ มีอย่างน้อย 5 หน่วยงาน เป็นภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาฯ, มหิดล, สวทช., องค์การเภสัชกรรม และมีภาคเอกชน 1 แห่งคือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย จำกัด กำลังมุ่งมั่นเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง ข้อมูลล่าสุด มีสองวัคซีน คือ mRNA vaccine ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (เริ่มฉีดในอาสาสมัครประมาณเดือนเมษายน 2564) และ DNA vaccine ของบริษัทไบโอเนทเอเชีย ที่พร้อมจะเข้าสู่การทดสอบในกับอาสาสมัครระยะที่หนึ่ง
"ส่วนอีกหนึ่งวัคซีนที่กำลังเตรียมผลิตและทดสอบความพร้อมกับอาสาสมัคร คือ plant-based protein vaccine จากบริษัทใบยาและคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งนี้ วัคซีนชนิด mRNA กำลังเตรียมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาให้โรงงานผลิตวัคซีนไทย คือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายเริ่มผลิตในประเทศไทยให้ได้ภายในปลายปีหน้า (2564) ขึ้นอยู่กับการเร่งดำเนินการระดมทุนจากภาครัฐและเอกชนให้เพียงพอและทันท่วงที" ศ. นพ.เกียรติ กล่าว