วรรณา จารุสมบูรณ์ (Peaceful Death) กับ"ชุมชนกรุณา"ที่ลงมือทำได้เลย
อย่างบ้านไหนต้องกักตัว ก็ซื้อข้าวของไปแขวนไว้หน้าบ้าน ช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ได้ก็ทำ เป็นความกรุณาที่ทำได้เลย ไม่ต้องรอรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดชุมชนกรุณา โดยแต่ละพื้นที่ออกแบบกันเอง
ในช่วงแรกที่ไวรัสโควิดระบาด สิ่งที่ทุกคนทำได้ คือ หาความรู้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส และเมื่อตั้งรับได้ รู้วิธีการแล้ว ช่วงนี้ก็รอคอยว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกคิดขึ้น มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากน้อยเพียงใด
ทั้งหมดที่กล่าวเป็นเรื่องการปกป้องตัวเราจากไวรัส แต่ชีวิตยังมีมุมอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรื่อง ความสัมพันธ์ รายได้ การเจ็บป่วย จนถึงความตาย
“โควิดมาเตือนเราว่า ชีวิตไม่แน่นอน จากเดิมต้องป่วยก่อนแล้วถึงตาย แต่คราวนี้ชีวิตไม่แน่แล้ว” วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธาน Peaceful Death กลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมเล็กๆ ที่พยายามขับเคลื่อนเรื่อง ‘การรับมือความตาย’ เล่า
และอีกหลายเรื่องราวที่เราชวนคุยเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิต รวมถึงการสร้างชุมชนกรุณา สังคมที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เธอบอกว่า ชุมชนรูปแบบนี้ทำได้เลย ไม่ต้องรอรัฐบาลช่วย
เพราะชีวิตไม่มีความแน่นอน
เราไม่รู้ว่า วันนี้เดินออกจากบ้านจะเจออะไร โควิดไม่เลือกเด็ก ผู้ใหญ่และคนแก่ คนรวย คนจน โควิดเป็นสัญญาณบอกว่า 1. ชีวิตไม่มีความแน่นอน ทำให้เราเจอความจริงอย่างหนึ่งคือ ความตายอยู่ใกล้เรามาก
2 หลายอย่างที่คิดว่าไม่น่าจะเกิด...ธุรกิจกำลังไปได้ดี ใครจะคิดว่าจะล้มละลาย ปิดกิจการ ความไม่แน่อันนี้ บางทีก็รับยาก เศรษฐกิจกำลังดี คนเริ่มออกมาท่องเที่ยว แต่วันนี้กลายเป็นไม่มีคนท่องเที่ยว หลายกิจการต้องยอมขายทิ้ง
มนุษย์เคยเชื่อว่า ควบคุมทุกสิ่งได้ เอาชนะทุกอย่างได้ แม้กระทั่งธรรมชาติ การระบาดของไวรัสโควิดสอนว่า เราไม่ได้แน่จริง มนุษย์อหังการ์มานาน เราต้องเคารพธรรมชาติมากกว่านี้ เคารพสิ่งต่างๆ รอบตัวเราที่เกื้อกูลเราให้มีชีวิต
ที่ผ่านมาเรามีแต่เสพ มีแต่ใช้ เราคิดว่าสามารถใช้ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหมด ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีวันที่จะเสียอะไร เวลาถูกทวงคืน มันก็เลยหนัก
นี่คือ ความไม่แน่นอนที่สะท้อนออกมาในหลายๆ มิติของชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องความเจ็บป่วยและความตายอย่างเดียว
โควิดทำให้ชีวิตเปลี่ยน
ถ้าสถานการณ์การระบาดโควิดดีขึ้น เราก็กลับไปเหมือนเดิม จากนั้นก็มีโควิดรอบสาม รอบสี่ อีก แล้วเราจะไม่ตั้งรับหรือ เราต้องยอมรับว่า ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะอยู่กับสิ่งนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ชีวิตแย่กว่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ป้องกันตัวเองได้
บางคนตั้งหลักนานไม่ได้ วันนี้ไม่มีกินแล้ว แต่ชีวิตเราก็มีจังหวะที่ต้องตั้งหลัก สำรวจและทบทวน สถานการณ์ที่เราเจอประมาณไหน อะไรที่จัดการได้ และต้องทำก่อน เหมือนเรามีเงินจำนวนหนึ่ง ต้องรู้ว่าใช้ได้ไม่ถึงเดือน อะไรจัดการได้ ทำเลย สรุปคือ
1 ต้องทบทวน อะไรจัดการได้จัดการ อะไรจัดการไม่ได้ ก็ทำใจ เกิดขึ้นแล้วก็เรียนรู้ไปกับมัน
2 อาจต้องปรับการใช้ชีวิตของเราให้อยู่ได้ และอยู่รอด เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันทั้งครอบครัว ทุกคนต้องช่วยกัน อย่างนั้นไม่รอด
3 ต้องเตรียมใจให้พร้อม มองแง่บวกไว้ว่า เราจะมีชีวิตกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ถ้าคิดว่าจะเลวร้ายเรื่อยๆ ก็ห่อเหี่ยว ที่สำคัญคือต้องรักษาชีวิตไว้ เราต้องรอด ใช้ชีวิตทีละวัน
ส่วนใหญ่จะคิดว่ายังไม่ถึงเวลา ยังอีกไกล มันไม่ไกลแล้วนะ ต้องคิดว่าเราจะวางแผนชีวิตอย่างไร ทำสมุดเบาใจหรือวางแผนสุขภาพล่วงหน้าเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตไว้ ถ้าไม่คิด ไม่ออกแบบเอาไว้ เมื่อวันนั้นมาถึง อาจช็อคได้ และคนที่อยู่ก็ไม่รู้จะทำยังไง
คิดง่ายๆ ถ้าติดเชื้อไวรัสโควิด ญาติก็เข้าใกล้ไม่ได้ ถ้าถึงตอนที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว จะทำยังไง ที่ผ่านมาเราทำงานกับเรื่องการเตรียมตัวตายดี เราทำเรื่องสมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต เรามีแนวคิดว่า ไม่ต้องรอให้ป่วยหรือใกล้ตายค่อยทำ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเริ่มจากตัวเรา คนรอบข้าง ชุมชน สร้างเหตุดีๆ ช่วยกันได้เลย ถ้าเราไปหวังกับภาพใหญ่หรือรัฐบาล ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ สร้างชุมชนกรุณา ที่จะอยู่ร่วมกันในสถานการณ์แบบนี้อย่างไร
สร้างสรรค์ชุมชนกรุณา
อย่างบ้านไหนต้องกักตัว เราก็ซื้อข้าวของไปแขวนไว้หน้าบ้าน ช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ได้ก็ทำ ช่วยให้เขาผ่านการกักตัว 14 วันไปได้ ไม่ลำบากเกินไป เป็นความกรุณาเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้เลย ไม่ต้องรอรัฐบาล เราช่วยกันผลักดันเรื่องชุมชนกรุณา แต่ละพื้นที่ออกแบบกันเองได้ แม้สิ่งที่ทำจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มีความหมาย
งานที่เราทำ ไม่ถึงกับออกแบบให้ชุมชน ก่อนโควิดจะระบาด เรามีชุมชนกรุณา ชักชวนผู้คนให้กลับมาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอยู่แล้ว เราเชื่อว่า คนจะตายดีได้ ต้องอยู่ในสังคมหรือชุมชนอยู่ดีก่อนเรามีชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี เราชักชวนให้ผู้คนกลับมาทบทวนชีวิต ทำงานแบบจิตอาสา ตอนเกิดการระบาดของโควิด แรกๆ บางกลุ่มทำหน้ากากผ้า ก่อนรัฐบาลจะประกาศเรื่องจะใส่หน้ากากประเภทไหนก็ได้ ตอนนั้นภาคประชาชนเคลื่อนไปแล้ว ชุมชนกรุณาค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว ทำให้ชุมชนรับมือกับวิกฤตได้ง่ายขึ้น
ทำให้เราภูมิใจว่า เราไม่ได้เผชิญวิกฤติโดยลำพัง ยังมีเพื่อนบ้าน คนรอบตัว ดูแลกันอยู่ เพราะรัฐดูแลไม่ได้หมด ถ้าเราต้องการความช่วยเหลือก็ระดมทรัพยากรในชุมชน เราต้องช่วยกันบสร้างสรรค์ ชุมชนแบบนี้มีเยอะ ตอนนี้เพจ Peaceful Death ขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีชุมชนกรุณา ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง หาดใหญ่ จันทบุรี ฯลฯ เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่า มีเครือข่ายอะไรที่เกื้อกูลกันอยู่
ยกตัวอย่าง มีน้องคนหนึ่งที่จังหวัดลำปาง ไปพบผู้ป่วยติดเตียง สภาพบ้านแย่มาก พอไปเห็น ก็คิดว่าทำอะไรได้บ้าง ก็ระดมทุนในชุมชนไปซ่อมบ้านให้ ไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย แต่ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น นี่คือชุมชนกรุณา ลงมือช่วยกันในสิ่งที่ทำได้
ขยายกระบวนกรทำงานในชุมชน
บางทีคนในชุมชน ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง สิ่งหนึ่งที่พบคือ ต้องมีตัวเชื่อม โครงการเราทำมาสองปี พัฒนากระบวนกรชุมชนขึ้นมาคอยเชื่อมโยงกลุ่มคนมีความทุกข์ มีศักยภาพ ทรัพยากร มาเจอกันช่วยเหลือกัน ต้องมีคนเหล่านี้อยู่ในชุมชน มีทักษะในการสื่อสารทำให้คนในพื้นที่ เรียนรู้เติมเต็มกัน มีพลังมากกว่าการบ่นเฉยๆ ตอนนี้ก็รับสมัครกระบวนกรชุมชน ฝีกอบรมผ่านออนไลน์ได้ สามารถเอาเครื่องมือ ทักษะเทคนิคไปลงมือทำในชุมชนได้เลย แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนกัน
เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วขยายออกไป ถ้าเริ่มจากภาคใหญ่จะรู้สึกว่า ไหวหรือ มีเวลาไหม เป็นภาระไหม ให้เริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ ทำเล็กๆ ค่อยๆ ขยับ จะมองเห็นโอกาสและเห็นผู้คนที่จะสนับสนุนมากขึ้น ก็จะมีกำลังใจไปต่อได้
อย่างตอนที่ไวรัสโควิดระบาดช่วงแรก บุคลากรด้านสาธารณสุขเครียด จะกลับบ้านก็ไม่ได้ เดี๋ยวเอาเชื้อไปติดครอบครัว ก็ทุกข์มาก เราก็เลยมีกิจกรรม “รับฟังด้วยไมตรี” ผ่านออนไลน์ ใครอยากเล่าช่วงไหนนัดเวลามา แค่เขาได้ระบายออกมา มีคนรับฟัง ก็ช่วยสังคมดีขึ้นแล้ว เป็นเรื่องเล็กๆ ซึ่งทำได้เลย กลุ่มรับฟัง เมื่อรู้ปัญหาคนอื่นก็นำมาใช้กับตัวเองได้
เพราะวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ทำให้เราขาดการเชื่อมโยงกับมนุษย์ตัวเป็นๆ หลายคนคิดว่ามีแค่มือถือก็อยู่ได้แล้ว ชีวิตจึงตัดขาดจากผู้คนความสัมพันธ์ เพราะคนเราต้องการระบบความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน โควิดเตือนเราว่า ถ้าเรามีเพื่อนบ้านดี นี่คือหลักประกันของชีวิต จำได้ว่า โควิดรอบที่แล้วเรากลับบ้านที่ขอนแก่น คนในชุมชนรู้ว่า เราอยู่คนเดียว ก็เอาผักมาแขวนหน้าบ้าน ทำกับข้าวมาส่ง วันไหนเราทำกับข้าวเยอะๆ ก็เอาไปแจกบ้านนั้นบ้านนี้ มันเกิดการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ เรามีสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่เราไม่เคยใส่ใจ
..............
ภาพประกอบจาก Peaceful Death