ก.แรงงาน หนุนต่างด้าวเป็นคณะกรรมการในสถานประกอบการ
รมว.แรงงาน หนุนให้ลูกจ้างต่างด้าวมีส่วนร่วมในคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ตามกลไกระบบทวิภาคี หวังเป็นตัวแทนหารือนายจ้างร่วมจัดสวัสดิการที่เหมาะสมตรงกับความต้องการตามสัญชาติ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักสิทธิมนุษยชน มอบ กสร. ดำเนินการ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความพยายามพัฒนากลไกการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครอง ดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวให้มีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนให้เข้าไปมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น ร่วมปรึกษาหารือกับนายจ้างในการจัดสวัสดิการภายในสถานประกอบกิจการให้แก่ลูกจ้างตามสัญชาติได้อย่างเหมาะสมในแต่ละประเภทกิจการ ตรงตามความต้องการของลูกจ้างเอง มิใช่นายจ้างจัดการเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ด้วยระบบทวิภาคี เพื่อยุติปัญหาข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งเข้าไปดำเนินการส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าวทำงาน สนับสนุนให้มีตัวแทนของลูกจ้างต่างด้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์อันพึงได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ลูกจ้างกลุ่มนี้จะได้มีตัวแทนประสานงานช่วยเหลือนายจ้างในการดูแลลูกจ้างต่างด้าวด้วยกันเองได้
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในกรณีเดียวกันว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 96 ได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คน ขึ้นไป ต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายเดียวที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 5 คน หากสถานประกอบกิจการที่มีคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการแรงงานสัมพันธ์แล้ว ให้คณะกรรมการลูกจ้างนั้นทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการได้ ซึ่งกรมได้เน้นย้ำไปยังหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศให้เข้าไปส่งเสริมสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าว ได้สนับสนุนให้มีตัวแทนลูกจ้างต่างด้าวเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ สภาพการจ้าง การทำงานที่เหมาะสมครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้างในสถานประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ