ไม่ต้องรอปฏิวัติแฟชั่น เปลี่ยนตัวเองก่อนได้เลย
ถ้าไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ประหยัดทั้งเงินในกระเป๋าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะแต่งตัวอย่างไรให้ดูดี ลองอ่านเรื่องดีๆ จาก 1 ใน 10 ผู้สร้างแรงบันดาลใจใน Greenery talk 2021
“มีใครบ้าง ไม่กล้าใส่เสื้อซ้ำ กลัวโดนเพื่อนทัก มีใครไม่กล้าซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือมีเสื้อผ้ากองอยู่ในตู้ไม่ได้ใส่เลย ซื้อมาเพราะติดป้ายลดราคา เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ยาก ชีวิตเราอยู่ท่ามกลางป้ายโฆษณา ป้ายลดราคา โฆษณาออนไลน์ที่คอยกระตุ้นให้เราซื้อเสื้อผ้าใหม่ และให้เรานิยามตัวตนอยู่กับการบริโภค
การบริโภคไม่ผิด แต่การบริโภคเกินจำเป็น การมีสิ่งของเกินจำเป็น อาจส่งผลกระทบอย่างที่เราคาดไม่ถึง แฟชั่นเป็นตัวกลางหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะมากมายบนโลก” อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand หนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจ “กินดี กรีนดี.”เล่า ในงาน Greenery talk 2021 : Can Change the Wor่ld เมื่อเร็วๆ นี้
ถ้าใครไม่เคยใส่เสื้อผ้าซ้ำ และอยากลอง อุ้งมีคำแนะนำในแบบของเธอ
ก่อนหน้าที่เธอจะตั้งคำถามแบบนี้ เธอเรียนจบด้านสิ่งทอจาก Royal College of Art ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำงานในแวดวงการออกแบบให้หลายแบรนด์
“ชอบของสวยๆ งามๆ ชอบแฟชั่น ศิลปะ ตอนเด็กๆ ก็ชอบเดินแถวสยาม ก็ไม่ได้ตั้งคำถาม คิดว่าแฟชั่นขับเคลื่อนให้โลกหมุน ให้พลังงานที่ดีกับเรา จนเรียนการออกแบบแฟชั่น ทำงานกับหลายแบรนด์ไทย และทำงานที่ต่างประเทศ ได้รู้เบื้องหลังกลไกตลาด การสร้างเทรนด์ และความต้องการจอมปลอม
ชีวิตบางช่วงต้องนั่งหน้าคอมฯ สเก็ตชุดเสื้อผ้าเป็นร้อยๆ ตัว เพื่อผลิตให้ทันเวลา ตอนสนองเทรนด์ การทำงานตรงนั้นได้เห็นขยะและสต็อคเสื้อผ้าเยอะมากที่ขายไม่ได้ ก็เลยเกิดคำถาม และดูเหมือนไม่มีทางออก”
แต่ละปีมีเสื้อผ้าผลิตใหม่ 150 ล้านล้านชิ้น มากกว่า 3 ใน 5 ของเสื้อผ้าเหล่านั้น ถูกนำไปเผาในเตาขยะจนเกิดมลพิษ นอกจากขยะเสื้อผ้า เธอบอกว่า แต่ละคนมีเสื้อผ้าที่ใส่จริงๆ แค่ 1 ใน 4 ในตู้เท่านั้น
รู้ไหม...การผลิตเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นก่อนจะถึงมือเรา มีกระบวนการซับซ้อนเพียงใด ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การฟอกย้อม การขนส่ง การทอมาเป็นผืน ล้วนแล้วแต่ใช้สารเคมี น้ำ ที่ดิน และพลังงานมหาศาล
“เสื้อผ้าที่เราใส่ ก็มีเส้นใยพลาสติกชนิดเดียวกับพลาสติกขวดน้ำ และเส้นใยพลาสติกเล็กๆ เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำ กลับมาสู่เราในรูปอาหาร (ปลา ปู กุ้ง หอย ที่กินพลาสติกเล็กๆ เข้าไป)
นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม การผลิตแบบเร่งด่วน โดยใช้แรงงานมากมายด้วยค่าจ้างราคาถูก ไม่มีสวัสดิการที่ดี มีหลายคนป่วยเป็นโรคกรวยไตอักเสบ เพราะนั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ เนื่องจากกลัวว่าจะผลิตไม่ทันเวลาหรือทันความต้องการลูกค้า” อุ้ง เล่าบนเวที
หลายคนอาจจำไม่ได้แล้ว เมื่อปี 2013 ข่าวโรงงานเย็บผ้าที่บังคลาเทศถล่ม คนงานเย็บผ้าเสียชีวิตกว่าพันคน นั่นทำให้คนในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นตระหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่การผลิต และเธอเองก็ตั้งคำถามไม่ต่างกัน
เพราะการทำงานในแวดวงการออกแบบเสื้อผ้า ทำให้เธอเห็นของทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่มากมาย รวมถึงระบบที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน
อุ้ง บอกว่า เราจะสร้างสรรค์ผลงานและใช้ชีวิตแบบมีความสุข โดยไม่ทำร้ายโลก หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมแบบนั้นได้ไหม
นั่นทำให้เธอลองเดินทางไปเรียนรู้การทอผ้า และผลิตเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมในชุมชนสกลนคร เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช
“การพลิกฟื้นภูมิปัญญาย้อมครามที่สกลนคร ทำให้รู้ว่าการทำเสื้อผ้าในอดีตประกอบไปด้วยความรัก ความใส่ใจ การให้เวลา และให้ความสำคัญทุกกระบวนการ ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกคราม ทุกเส้นใยทุกสี มีที่มา มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ สร้างงานให้ชุมชน
สิ่งที่เธอเรียนรู้ และพบเห็น ช่วยสร้างแรงบันดาลใจมากมายในชีวิต จึงขอทุนไปเรียนต่อสิ่งทอที่ประเทศอังกฤษ ตั้งใจเอาความรู้กลับมาพัฒนางานคราฟท์
“ตอนอยู่อังกฤษได้ไปร่วมงานกลุ่ม Fashion Revolution ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แฟชั่นไม่ต้องเป็นอย่างที่เราเห็นในอุตสาหกรรมก็ได้ เราไปร่วมเวิร์คช้อปเยอะมาก จากวันนั้นเราก็จัดกิจกรรมเล็กๆ ความยั่งยืนต้องเริ่มที่ตัวเรา ลงมือทำ สร้างสรรค์งานดีๆ ออกมา ทำให้พบว่าความยั่งยืนในตัวเรา โลกและสิ่งแวดล้อมคือเรื่องเดียวกัน
จากบทเรียนตรงนั้น ทำให้เรากลับมาเริ่มต้น Fashion Revolution ในประเทศไทย ตอนนั้นยังไม่มีคนพูดถึงผลกระทบของแฟชั่น เราทำกิจกรรมโดยใช้แฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes ซึ่งกลุ่มนี้ใช้ทั่วโลกในโซเชียลมีเดีย ชวนคนเหล่านั้นมาทำกิจกรรมให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมาเจอกันมากขึ้น"
งานแลกเสื้อผ้า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ เธอบอกว่า สามารถลดขยะเสื้อผ้าที่บ่อขยะได้มากถึง 5,509 ชิ้นในจำนวนนี้ เกือบครึ่งแลกกันในงาน อีกครึ่งส่งต่อให้มูลนิธินำไปคัดแยกให้คนในชุมชน
“งานแลกเสื้อผ้าไม่ได้ดีแค่สิ่งแวดล้อม ยังดีต่อเงินในกระเป๋า ได้สำรวจสไตล์และตัวตนของเรา และสนุกกับการแต่งตัว โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อใหม่”
ส่วนเรื่องการดัดแปลง ลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ อุ้งแนะว่า สามารถ้นำของที่มีอยู่แล้ว มา Mix&Match ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เกิดลุคใหม่ๆ หรือไม่ก็ ใช้บริการ เช่า ยืม นำมาแลก และซื้อเสื้อผ้ามือสอง
“คิดก่อนซื้อ ถ้าอยากได้เสื้อผ้าตัวนั้นจริงๆ คำนวณก่อนว่า ซื้อมาแล้วใส่กี่ครั้ง ควรใส่มากกว่า 40 ครั้ง หรือนานกว่านั้น คนอเมริกาใส่เสื้อผ้า 3-4 ครั้งแล้วทิ้ง การใส่ซ้ำหลายๆ ครั้งช่วยโลกได้ เราเองมีเทคนิคว่าถ้าอยากได้เสื้อผ้าใหม่ชิ้นไหนมากๆ เราจะเว้นระยะการไปช้อปหนึ่งสัปดาห์ เพื่อเช็คว่า เรายังอยากได้ชิ้นนั้นจริงๆ หรือ”
"""""""""""""""""""""""""""""""'
รูปจากเฟซบุ๊ค Greenary ดูรายละเอียดที่ได้เฟซบุ๊ค fashion revolution thailand