จองสิทธิฉีดวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” สปสช. ขยายลงทะเบียนถึง 30 เม.ย.นี้
ขยายบริการจองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เม.ย. 64
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายบริการจองสิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เม.ย. 64 เพื่อสอดคล้องกับเพิ่มเติมบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกจำนวน 2.4 ล้านโด๊ส รวมเป็น 6.4 ล้านโด๊ส สำหรับดูแลประชาน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิในปีนี้ โดยขณะนี้มีประชาชนได้ทยอยจองสิทธิขอรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถรับบริการฉีดที่หน่วยบริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 31 ส.ค. 2564
พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีส่วนช่วยประเทศในการจัดการโรคโควิด-19 เพราะการลดอัตราเจ็บป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากช่วยลดความสับสนในการวินิจฉัยระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 แล้ว ยังลดอุปสรรคในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 รวมถึงค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขที่ลดลงไปด้วย
เนื่องจากอาการป่วยเบื้องต้นทั้ง 2 โรค มีลักษณะคล้ายกันมาก ไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ ฉะนั้นในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดที่ต้องสอบสวนโรค ดูความเสี่ยงไทม์ไลน์ หากมีการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดอัตราการป่วยไข้หวัดใหญ่ก็จะช่วยลดความสับสนของโรคลงไปได้
ข้อดีอีกประการคือ กลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับ วัคซีนโควิด-19 นั้นใกล้เคียงกัน และมีหลายกลุ่มซ้อนทับกันอยู่ ฉะนั้นในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ซึ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลก็จะได้รับการตรวจสอบสิทธิในการับวัคซีนโควิด-19 ไปในคราวเดียวกัน เป็นการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ในประชากรกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
สำหรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดจะฉีดพร้อมกันไม่ได้ ต้องเว้นห่างอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน แต่ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนตัวหนึ่งก็จะได้ทำการลงทะเบียนนัดรับอีกตัวหนึ่งไปเลย เพื่อให้แพทย์สามารถจัดตารางการให้วัคซีนได้ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จำนวน 6.4 ล้านโด๊ส จะเริ่มบริการฉีดตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป ส่วนวัคซีนโควิด-19 ตามแผนจะเริ่มทยอยนำเข้าเพื่อฉีดให้ประชาชนในช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย. นี้เช่นกัน
“ต้องย้ำว่าหลักการของวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด-19 มีลักษณะเดียวกัน คือไม่ได้หมายความว่าเมื่อฉีดแล้วจะมีภูมิขึ้นสามารถป้องกันโรคได้ 100% ทุกคน แต่เป้าหมายสำคัญ คือช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและลดโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคเหมือนกัน” พญ.สุชาดา กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 4 ช่องทาง คือ 1. สายด่วน สปสช. โทร 1330 กด 1 หลังจากนั้นกด 8 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. (ทั่วประเทศ) 2. หน่วยบริการประจำ หรือ โรงพยาบาลในระบบบัตรทอง (ทั่วประเทศ) 3. Line@UCBKK สร้างสุข (เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองหรือพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ให้บริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.30 – 18.00 น. และวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. และ 4. ระบบ Health Wallet บนแอพพลิเคชันเป๋าตัง ที่ได้ขยายการลงทะเบียนให้ครอบคลุมประชากร 7 กลุ่มเสี่ยง จากที่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ทั้งนี้ ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน (หมายถึง กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็ม จนถึงอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน) 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมียและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ7. โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI>35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ทั้งนี้ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป สปสช. ได้จัดเตรียมวัคซีนไว้สำหรับทุกคน โดยสามารถขอรับการฉีดวัคซีนได้ตลอดทั้งปีไม่จำกัดเฉพาะช่วงการรณรงค์เท่านั้น