‘วัณโรค’ร้ายไม่แพ้‘โควิด’ หมอแนะวิธีป้องกัน
วัณโรค เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ละเลย มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งไม่ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีพอ ถ้าไม่ระวังเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทำให้ติดต่อได้
“ผู้ป่วยวัณโรคปอด กับ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาจมาด้วยอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยโควิด-19 จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจเหนื่อย มักเกิดขึ้่นในช่วง 1-14 วันหลังได้รับเชื้อ และอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วงร่วมด้วย
ส่วน วัณโรคปอด จะมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่าย เย็น หรือกลางคืน รวมถึงเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน
ดังนั้นอาการของวัณโรคและโควิด-19 จึงมีความแตกต่างกัน คือ วัณโรคทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ส่วนโควิด-19 ทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน” นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ ‘วัณโรค’ เนื่องในวันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) ที่เวียนมาถึง (24 มีนาคม)
ขณะที่ผู้คนเฝ้าระวังแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 วัณโรคก็ยังคงอยู่ และประชาชนส่วนใหญ่ก็แยกไม่ออกถึงความแตกต่างของทั้งสองโรคนี้
- วิธีป้องกันวัณโรค
“หมั่นดูแลร่างกาย รักษาสุขอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ลด ละ เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี สามารถป้องกันการติดเชื้อวัณโรคได้
วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้เร็วและปฏิบัติตามคำแนะนำที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่หยุดยาเอง อันนำมาซึ่งการดื้อยา
ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยวัณโรคได้จากการเอ็กซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะผู้ป่วยเพื่อหาเชื้อวัณโรค ซึ่งหากพบว่าป่วยเป็นวัณโรค ผู้ป่วยควรป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรค ดังต่อไปนี้
1.ไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น
2.สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม
3.อยู่ในที่โปร่งโล่ง
4.ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์
5.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
6.ตรวจสุขภาพ ปีละ 1-2 ครั้ง
- การดูแลรักษา
สำหรับคนที่เป็นโรคนี้แล้ว คุณหมอมีคำแนะนำว่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
“ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา และไม่หยุดยาเอง แม้อาการจะทุเลาลง หากผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือหยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ
จะส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ และเชื้อวัณโรคก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้” นายแพทย์เอนก กล่าว
ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า
“วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มีการติดต่อและการแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น ผ่านอากาศจากการไอ จาม โดยผู้ที่ใกล้ชิดสูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าไปจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้
โดยวัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุดคือ วัณโรคปอด”