ทำนายอนาคตแบบ'นักวิทยาศาสตร์'
การใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการทำนายอนาคต ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถเอาข้อมูลมาประมวล สร้างเครื่องมือที่เที่ยงตรง โดยใช้พื้นความรู้ในเรื่องธรรมชาติ
คนชาติไหนๆ ยุคใดๆ ต่างก็เหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ อยากรู้และเห็นอนาคตข้างหน้า บ้างก็หวังป้องกันเรื่องไม่ดี บ้างก็แค่อยากรู้เรื่องดีๆ ล่วงหน้า การพยากรณ์อนาคตจึงฮอทฮิตติดชาร์ตมาแต่โบราณ
แต่วิธีการเข้าถึง "ข้อมูล" พวกนี้ สมัยก่อนก็อ้างกันเรื่องอิทธิฤทธิ์วิเศษบ้าง อ้างเรื่องการเข้าทรงเข้าฌาณบ้าง เปิดช่องให้มีคนอุปโลกน์โกหกพกลมว่ารู้ได้เองเต็มไปหมด
นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์อนาคตได้หรือไม่ ?
อันที่จริงนักวิทยาศาสตร์ "พยากรณ์" หรือทำนายอะไรได้มากนะครับ อาศัยกฎต่างๆ ที่สรุปจากความรู้ความเข้าใจในธรรมชาตินี่แหละครับ การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นไม่ได้เลย ไม่สามารถคิดคำนวณและ "ทำนาย" ค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ได้
หรือน้ำมันและเวลาที่ต้องใช้ เช่น เครื่องยนต์ รถคันที่สนใจทำความเร็วได้เท่าไหร่ และกินน้ำมันมากเท่าไหร่ จะเห็นได้ไม่ยากว่าการทำนายแบบนี้ทำ ได้ตลอดและเป็นจริงเสมอ จึงต่างออกไปจากการทำนายอนาคตที่กำลังพูดถึงอยู่บ้าง
หากเอาเรื่องที่ทำนายอนาคตเท่านั้น ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดคงไม่แคล้วเป็นเรื่องการพยากรณ์อากาศ อันที่จริงยังมีเรื่องของการพยากรณ์การจราจร การทำนายเพื่อบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ฯลฯ สำหรับเรื่องการพยากรณ์อากาศนั้น ทุกท่านคงคุ้นเคยกับคำพยากรณ์รายวันและรายสัปดาห์ บางคนอาจสงสัยว่าทายกันแม่นยำแค่ไหน ? หรือทายล่วงหน้านานกว่านั้นไม่ได้หรือ ?
คำตอบคือ มีความแม่นยำมากและยิ่งแม่นมากขึ้นทุกวัน เพราะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มากขึ้น ทั้งฐานข้อมูลวันที่ฝนตก มีเมฆมาก-น้อย (เทียบกับที่พยากรณ์ไว้ด้วย) อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ทั้งที่ติดไว้กับดาวเทียมหรือไว้ที่สถานีต่างๆ ซึ่งก็วัดค่าได้สารพัด นอกเหนือจากปริมาณความชื้นในบรรยากาศ อุปกรณ์ประมวลผลคือเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นทุกวันเช่นกัน
ผมลองค้นดูว่ามีผู้ตรวจเช็คความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศไว้บ้างหรือไม่ ? ผลก็คือมีเว็บไซต์หลายแห่งลองทำแล้วนะครับ ข้อมูลจากเว็บ worldsciencefestival.com และ minitabl.com ระบุตรงกันว่า ผลการทำนายวันรุ่งขึ้นจะแม่นยำที่สุด (และถูกต้องเป็นส่วนใหญ่)
หากเทียบกับการพยากรณ์ล่วงหน้าอีก 3 วันหรือ 5 วันข้างหน้า หรือแม้แต่สัปดาห์หน้า ความแม่นยำก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป โดยระดับความแม่นยำที่เชื่อถือได้จะอยู่ในช่วงไม่เกิน 3-5 วันเท่านั้น
แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่มีไอเดียแจ่มๆ และไม่อยากจะพยากรณ์แค่อากาศ แต่อยากทำนายอะไรที่ท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น ทำนายการระบาดของโรคต่างๆ, การก่อจลาจล, สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฯลฯ
วิธีการที่นักวิจัยเหล่านี้ใช้ก็น่าสนใจทีเดียว เช่น เอริก ฮอร์วิทซ์ (Eric Horvitz) แห่งไมโครซอฟท์รีเสิร์ช และคิระ แรดินสกี (Kira Radinsky) แห่งสถาบันเทคเนียน-อิสราเอล (Technion-Israel Institute) ที่ร่วมกันคิดค้นซอฟท์แวร์ที่สามารถวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ๆ
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในคลังของหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ (ที่รวมเนื้อหา 20 กว่าปีล่าสุดไว้) หรือแม้แต่เว็บสารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก "วิกิพีเดีย" และเว็บอื่นๆ ทำนองเดียวกันอีกเกือบ 100 เว็บ
ในการทำนายก็ต้องพยายามหา "ตัวแปรต้น" ที่จะนำไปสู่ "ผลลัพธ์" เช่น การพยายามโยงภัยธรรมชาติไม่วาจะเป็นพายุหรือความแห้งแล้ง ว่าเกี่ยวข้องกับการระบาดของโรค เช่น อหิวาตกโรค หรือไม่ ซึ่งผลที่ได้ก็น่าพอใจทีเดียว เพราะสามารถเตือนการระบาดของอหิวาตกโรคล่วงหน้าในประเทศอังโกลาได้เกือบหนึ่งปี !
นักวิจัยชี้ว่า ซอฟแวร์ที่ใช้มีจุดเด่นเหนือการทำนายโดยมนุษย์หลายอย่างคือ ระบบมันเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเองได้ และทำงานได้ต่อเนื่องไม่ต้องหยุดพักเหมือนคน ที่สำคัญคือระบบพวกนี้ไม่มีอคติแบบมนุษย์
แต่กระนั้นปัญหาใหญ่ที่ระบบแบบนี้ต้องเจอก็คือ ในประเทศแถบแอฟริกาข้อมูลต่างๆ มักหายาก และบางครั้งซอฟแวร์ก็หลงไปหาความสัมพันธ์ในสิ่งที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันก็มี
ในคราวเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ก็มีนักวิจัยหลายกลุ่มทดลองใช้แบบจำลองต่างๆ เช่น ให้รายงานผลจากทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กว่า แถบใดมีคนโพสต์เรื่องอาการไม่สบายที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคนี้ได้บ้าง (เช่น เป็นไข้) หรือมีการซื้อขายยากินเอง (ยาลดไข้ ยาแก้ปวด) เพิ่มขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีคนที่ใช้ข้อมูลค่าการเปลี่ยนแปลงการเดินทางทางภาคพื้นดินและทางอากาศของผู้คน มาลองใช้คาดการณ์ด้วย ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจว่า ทำนาย "สถานที่" ที่โรคแพร่ระบาดไปได้ดีทีเดียว
แต่ที่ทำนายได้ยังไม่ดีมากนักก็คือ จำนวนผู้ที่จะป่วยเพราะติดเชื้อ
ตัวอย่างอื่นๆ เช่น มีการทดลองหาความเกี่ยวข้องระหว่างอุปนิสัยแบบต่างๆ ของผู้ป่วยกับโรคหลอดเลือดหัวใจ (กลุ่มตัวอย่างราว 5,200 คนและทำมาตั้งแต่ปี 1948) และกับโรคเบาหวานประเภทที่ 2
อีกตัวอย่างก็คือนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นคิดแบบจำลองที่สามารถทำนายตำแหน่งของคน ณ เวลาจำเพาะ (เช่น ห้าโมงเย็น) ได้อย่างแม่นยำ โดยอาศัยฐานข้อมูลการเดินทางที่ผ่านๆ มาเป็นตัวช่วย
โครงการทำนองนี้ที่ใหญ่มากๆ คงไม่แคล้วเป็นของ เดิร์ก เฮลบิง (Dirk Helbing) ที่เสนอไว้เมื่อปี 2011 คือ โครงการชื่อ โปรแกรมจำลองโลกมีชีวิต (The Living Earth Simulator) ซึ่ง "อาจจะ" สามารถทำนายเหตุการณ์ระดับโลกได้ ในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์, การเมืองการปกครอง, เทรนด์ด้านวัฒนธรรม, การระบาดของโรค, เกษตรกรรม, การพัฒนาเทคโนโลยี ฯลฯ
โครงการนี้เคยเสนอขอเงินจากอีซีถึง 1 พันล้านยูโร !!!
ทุกวันนี้มีงานวิจัยกับ "ข้อมูลยักษ์ (big data)" แบบนี้อีกมาก และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังครอบคลุมไปยังสาขาหรือเรื่องต่างๆ สารพัดอีกด้วย ในอนาคตหากต้องการคำทำนายดีๆ แม่นๆ ผู้คนก็อาจต้องวิ่งหานักวิทยาศาสตร์ แทนที่จะวิ่งไปหาหมอดูอย่างปัจจุบันก็เป็นได้ !