'แยกขยะ(ติดเชื้อ)ก่อนทิ้ง' ช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิดได้

'แยกขยะ(ติดเชื้อ)ก่อนทิ้ง' ช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิดได้

ปกติโรงพยาบาลเป็นแหล่งที่มี"ขยะติดเชื้อ"ปริมาณเยอะอยู่แล้ว ยิ่งสถานการณ์ไวรัสโควิดแพร่ระบาด ขยะติดเชื้อก็เพิ่มทวีคูณ สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องทำในช่วงนี้ แยกขยะติดเชื้อทุกรูปแบบ

ข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2563 รายงานไว้ว่า ประเทศไทยมีสถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนกว่า 37,000 แห่ง มีจำนวนเตียงประมาณ 140,000 เตียง ซึ่งสถานพยาบาลเหล่านี้ มีการผลิตขยะติดเชื้อประมาณ 65 ตัน ต่อวัน

ในจำนวนดังกล่าว เป็นขยะติดเชื้อในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 20 ตันต่อวัน ที่เหลือเกิดขึ้นในสถานพยาบาล ในส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 45 ตันต่อวัน 

โดยคาดการณ์ว่าจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 20 ตันต่อวัน ทั้งจากโรงพยาบาล และภาคครัวเรือน รวมถึงโรงพยาบาลสนาม

ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ผู้ผลิตถุงขยะฮีโร่ โดยบริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ไม่รอช้าที่จะลงมาบริจาคถุงขยะ ถุงแดง และถุงซิป ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ ภายใต้โครงการ “ฮีโร่มาแล้ว” เพื่อช่วยให้แต่ละโรงพยาบาลได้ลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยป้องกันการกระจายของเชื้อโรคอีกด้วย

162476718538

ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล กรรมการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด กล่าวว่า เราได้ส่งทีมงานลงพื้นที่พูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์หลายโรงพยาบาล พบว่าปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น โรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 3.2 ตันในเวลาแค่เพียงครึ่งปี ในขณะที่ รพ.สนามของ รพ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 423 กิโลกรัมต่อวัน และ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ปริมาณขยะติดเชื้อสูงถึง 600 กิโลกรัมต่อวัน

นายแพทย์สุเทพ จันทรเมธีกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี กล่าวว่า ในปี 2562 โรงพยาบาลมีปริมาณขยะติดเชื้ออยู่ที่ 4.2 ตัน จากปริมาณขยะทั้งหมด 7.7 ตัน และในปี 2563 ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.36 ตันต่อปี จากปริมาณขยะทั้งหมด 8.36 ตัน และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณขยะติดเชื้ออยู่ที่ 3.2 ตันต่อปี ส่งผลให้โรงพยาบาลมีความต้องการใช้ถุงขยะแดงจำนวนมาก

 “โรงพยาบาลมีขยะติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุด PPE หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งขยะติดเชื้อหากไม่ได้จัดเก็บอย่างถูกวิธีก็จะเป็นอันตรายต่อบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ดำเนินการจัดการกำจัดขยะ ซึ่งเมื่อแยกขยะติดเชื้อออกแล้ว ก็จะนำไปกำจัดทิ้งโดยวิธีการเผาด้วยความร้อน 1,200 องศาเซลเซียส” 

ทางด้านแพทย์หญิงอนุธิดา ประทุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พื้นที่ที่มีการติดเชื้อกลุ่มใหญ่ ล่าสุด กล่าวว่า สำหรับยอดผู้ป่วยโควิด -19 ที่โรงพยาบาลรับตอนนี้มีทั้งหมด 245 เตียง โดยรักษาตัวอยู่ที่ ชะอำ-อีโค่ แคมป์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาล จากจำนวนผู้ป่วยส่งผลให้มีขยะทางการแพทย์ 423 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากก่อนช่วงมีวิกฤติโควิดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

 “โดยขยะติดเชื้อทั้งหมดจะดำเนินการแยกใส่ถุงขยะแดง ส่วนถุงซิปจะนำมาจัดเก็บสิ่งส่งตรวจ  เพื่อลดการสัมผัสการติดเชื้อในเจ้าหน้าที่ การแยกขยะจะช่วยลดการปนเปื้อนในส่วนของขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เป็นอย่างดี"

 ส่วน นายแพทย์ พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร  กล่าวว่า ณ ตอนนี้(กลางเดือนมิถุนายน 64ป รพ.บ้านแพ้ว ดูแลผู้ป่วยโควิดอยู่ที่ 42 คน ช่วงโควิดปริมาณขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก ขยะติดเชื้อจากเดิม 360 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มมาเป็น 600 กิโลกรัมต่อวัน ขยะทั่วไป 1,200 กิโลกรัมต่อวัน เพิ่มมาเป็น 1,371 กิโลกรัมต่อวัน

“ผลมาจากช่วงโควิด-19 เรามีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว รวมถึงมีขยะติดเชื้อค่อนข้างมาก และเพื่อป้องกันการติดเชื้อทีมเจ้าหน้าที่เรา เราจึงเข้มงวดกับแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ขนย้ายขยะติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง”

โครงการ ฮีโร่มาแล้ว เป็นโครงการเพื่อสังคม โดยบริษัท คิงส์แพค อินดัสเตรียล จำกัด  และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านใบ ได้แก่ ถุงขยะดำ สำหรับขยะทั่วไป ถุงขยะแดง สำหรับขยะติดเชื้อ และถุงซิปเอนกประสงค์ ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการทั่วประเทศ