นโยบายที่สวนทางกับความจริง สร้าง "เขื่อน" บนผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ทุกคนรู้และสัมผัสได้ถึงสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะธรรมชาติถูกทำลาย จึงเรียกร้องให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าและปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น แต่ทว่า ทำไมยังมีนโยบายทำลายป่า สร้าง"เขื่อน"ขึ้นมาอีกมากมาย
ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหา อากาศร้อนสุดขั้ว จนเกิดฝนตกน้ำท่วม ผู้คนล้มตายมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประชาคมโลกเรียกร้องไม่อยากให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น จนเกิดสภาวะแปรปรวนทางอากาศโดยรวม
ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถึง 7 แห่ง
การสร้าง“เขื่อน” อาจไม่ใช่การสร้างอนาคต แต่เป็นการทำลายธรรมชาติที่มีอยู่ให้หมดไป และนั่นอาจไม่ใช่นโยบายพัฒนาสร้างชาติอย่างยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็น
- ไม่มีป่า ไม่มีชีวิต
เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ มีเจตนายืนหยัดคัดค้าน และจะติดตามความคืบหน้าโครงการทั้ง 7 โครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ป่าผืนสุดท้ายใจกลางประเทศไม่ให้ถูกทำลายอีกต่อไป
จึงได้ออกแถลงการณ์และหนังสือขอคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ในเพจเฟซบุ๊ค มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564) ดังนี้
- จดหมายคัดค้าน
การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่
ถึง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากข่าวโครงการอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ที่จะถูกก่อสร้างขึ้นในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ทั้ง 7 แห่ง กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ ซึ่งมีรายชื่อที่แนบท้าย ขอคัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่ง ดังกล่าวด้วยเหตุผลดังนี้
รัฐบาลไทยในอดีตที่ผ่านมาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และคงความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้ประกาศจัดตั้งผืนป่าเขาใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ในบริเวณดงพญาเย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย
ต่อมาได้มีการประกาศเพิ่มเติมให้ผืนป่าทับลาน ปางสีดา ตาพระยา เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา
รวมทั้งประกาศให้ป่าดงใหญ่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ปางสีดา และตาพระยาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่อีกด้วยซึ่งผืนป่าแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่”
เนื่องจากป่ามีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์
ในปี 2548 ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ
การที่ผืนป่ามีความต่อเนื่องกันขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลก ยังสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสากล ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกทางธรรมชาติของชาวโลก
ทั้งนี้ประเทศไทยยังลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทั้งชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ที่มีพันธะสัญญาอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ประเทศไทยกลับมีนโยบายทำลายผืนป่าขนาดใหญ่ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ที่เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติของคนทั้งโลกถึง 7 แห่ง พยายามตัดขาดผืนป่าออกจากกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศที่เป็นบ้านของสัตว์ป่า
และทำให้สายน้ำไหลที่หล่อเลี้ยงคนอีกหลายจังหวัดต้องหยุดนิ่งและเสื่อมคุณภาพดังที่เกิดขึ้นในอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงในพื้นที่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเคยทุ่มทุนหลายพันล้านบาท พยายามจะเชื่อมผืนป่าให้สัตว์ป่าโดยการสร้างคอริดอร์ก็ตามที แต่กลับกำลังฝังกลบนโยบายของตัวเองในนามของคำว่าพัฒนา
กลุ่มป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกยกย่องให้มีความสำคัญระดับโลกฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นควรจะเปิดกว้างให้เป็นสาธารณะไม่ใช้การจัดเวทีแบบความลับเชิญเฉพาะกลุ่ม มรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่เป็นของคนไทยทุกคน
ฉะนั้นควรรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนผ่านเวทีสาธารณะต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ไม่ใช่การตัดสินใจจากกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ผืนป่าแห่งนี้ ไม่ใช่มีแต่เพียงประชาชนในพื้นที่ที่อยู่รอบพื้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังมีประชาชนพื้นที่อื่นๆ ได้รับผลพลอยได้จากการเป็นพื้นที่อนุรักษ์สำคัญของประเทศ ฉะนั้นการเข้ามาทำโครงการที่มีผลกระทบโดยตรงกับพื้นที่จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจในพื้นที่รอบมรดกโลกฯ และพื้นที่ใกล้เคียง
- ทางออกที่สำคัญที่สุด
คือการแก้ปัญหาด้วยองค์ความรู้ต่างๆ ที่ไม่ต้องเข้าไปสร้างในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมาย ที่สามารถนำมาเลือก และไม่เกินความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่ประชาชนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และไม่ต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก
เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ จึงขอแสดงเจตนาและยืนหยัดที่จะคัดค้าน และจะติดตามความคืบหน้าโครงการทั้ง 7 โครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ผืนสุดท้ายใจกลางประเทศไม่ให้ถูกทำรายเพิ่มเติมอีกต่อไป
“ขอพื้นที่ให้ป่าไม้และสัตว์ป่า – ขอการจัดการน้ำทางเลือกให้กับประชาชน”
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก จ.นครราชสีมา
- ชมรมคนรักษ์สัตว์ป่า จ.นครนายก
- กลุ่มค.คนทำทาง จ.นครนายก
- กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก
- กลุ่มใบไม้ จ.นครนายก
- กลุ่มเยาวชนลูกมะปราง จ.สระบุรี
- กลุ่มเพื่อนทับลาน จ.ปราจีนบุรี
- กลุ่มผ้าเขาม้าติ่งป่า จ.ปราจีนบุรี
- กลุ่มรักษ์กระทิงเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
- ชมรมฮักเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
- กลุ่มไม้ขีดไฟ จ.นครราชสีมา
- กลุ่มไผ่หนาม จ.นคคราชสีมา
- กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า บ้านวังหมี จ.นครราชสีมา
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
- กลุ่มเนเจอร์แค้มป์อาสา กรุงเทพฯ
- มูลนิธิเพื่อนบูรพา กรุงเทพฯ
- เครือข่ายเพื่อสัตว์ป่า
................
ตามที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปนั้น เพื่อให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรรมชาติที่สำคัญ
มูลนิธิสืบฯและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ จึงได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ #คัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น สามารถลงชื่อผ่าน change.org ได้ที่ : https://bit.ly/3gQs8Eq
หลังจากนี้ มูลนิธิฯสืบและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ เตรียมจะไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป
.........................
อ่านเพิ่มเติม เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
ลักหลับ EHIA อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ประชุม กกวล. แอบแทรกวาระในหัวข้ออื่นๆ : https://bit.ly/3zQ39so
เหตุใด “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จึงกระทบต่อถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า : https://bit.ly/3wLXT7l
อ่านแถลงการณ์เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ได้ที่ : https://bit.ly/3d6D0M5