สปสช.ทำหนังสือแจงด่วนปมรพ.สิชลถูกร้อง
สปสช.ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจงปมรพ.สิชลถูกร้องไม่ดูแลผู้ป่วยโควิด19ระบบHome isolation เผยโอนเงินงวดแรกแล้วกว่า 20 ล้านบาท แต่ชะลอจ่ายชดเชยจนกว่าตรวจสอบเสร็จ ขณะที่รพ.ระบุประสงค์ทำงานเป็นจิตอาสา ไม่เรียกร้องค่าตอบแทนจากสปสช.
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำหนังสือด่วนที่ สปสช. 6.70/1031 เรื่อง ข้อเท็จจริงการดูแลผู้ติดเชื้อโรคโควิด- 19 ในระบบการดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation : HI) ของโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) โดยมีสาระว่า จากข้อสั่งการให้สปสช.ตรวจสอบ การตรวจสอบกรณีที่มีกระแสข่าวตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของกรุงเทพฯ ได้เข้าสู่ระบบดูแลที่บ้านของรพ.สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบได้ร้องเรียนว่า ไม่ได้รับบริการจากรพ.สิชล และ สปสช. ได้โอนเงินเพื่อเป็นค่าบริการผู้ป่วยระบบดูแลที่บ้าน ไปยังรพ.สิชลแล้วจำนวนหนึ่ง
อ่านข่าว : ค่าบริการดูแลผู้ติดเชื้อระบบ HI เบิกจ่ายตามบริการ - จำนวนวันดูแล
สปสช.ขอชี้แจง ดังนี้ 1.จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างวันที่ 23 - 25 ก.ย.ในกทม.และปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีรพ.รองรับการรักษาแบบผู้ป่วยในไม่เพียงพอ สปสช. ในฐานะศูนย์บริการสายด่วน 1330 ได้รับการแจ้งความประสงค์จากผู้ติดเชื้อ ขอเข้ารับบริการดูแลรักษาที่บ้าน 5 หมื่นราย ซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อคงค้างในระบบของ สปสซ. ที่ยังไม่มีหน่วยบริการมารับดูแล กว่า 3 หมื่นราย จึงได้ประสานไปยังหน่วยบริการหลายแห่งทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลรักษา ซึ่งรพ.สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ตอบรับเป็นหน่วยบริการ จัดบริการสาธารณสุขให้กับผู้ติดเชื้อที่คงค้างในระบบ HI ทั้งหมด 18,708 ราย แบ่งเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 9,909 ราย สิทธิข้าราชการ 426 ราย สิทธิประกันสังคม 7,828 ราย และสิทธิอื่นๆ 545 ราย สปสช, ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้ติดเชื้อทุกราย พบว่าสามารถติดต่อได้ 13,346 ราย เป็นสิทธิบัตรทอง 6,918 ราย และสิทธิอื่น ๆ 6,428 ราย
2.กรณีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบได้ร้องเรียนว่า ไม่ได้รับการดูแลจาก รพ.สิชล นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการ ด้วยวิธีการโทรศัพท์ตรงถึงผู้ติดเชื้อ ในระบบบัตรทอง 6,918 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 3,352 ราย ที่ รพ.สิชลให้บริการ ทั้งนี้ รพ.สิชล ชี้แจงว่า รพ.สิชล เข้าร่วมโครงการ HI ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. -14 ส.ค.2564 มีความประสงค์ทำงานเป็นจิตอาสา ไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ และไม่ต้องการให้ สปสช. จ่ายเงินให้กับรพ.สิชล และไม่เคยเรียกเก็บค่าบริการกับ สปสช. แต่อย่างใด ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงาน หลังจากรพ.ได้รับข้อมูลผู้ป่วยจาก สปสช. จะทำการส่งข้อความสั้น (SMS) ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รับ เพื่อแจ้งผลการตอบรับ และให้ผู้ป่วย แสดงตนผ่าน Google Form ของรพ.เพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่คนในครอบครัวได้เข้าร่วมรักษาในระบบ HI อยู่แล้ว แต่มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ติดเชื้อเพิ่มในครอบครัว นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเชื่อมต่อระบบไลน์ได้ ต้องโทรศัพท์ติดต่อประสานงานเป็นราย ๆ ไป โดยรวม รพ.สิชลได้ทำการดูแลผู้ป่วยทุกรายจนครบตามกำหนดระยะเวลา แม้จะไม่ใด้เข้าอยู่ในระบบของรพ.สิชลทุกคน อีกทั้งการจัดการปัญหาในสภาวะวิกฤติที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
3. ตามที่ สปสช.ได้มีการโอนเงินเพื่อเป็นค่าบริการของผู้ป่วยระบบ HI ไปยังรพ.สิชลแล้วจำนวนหนึ่งนั้น ขอชี้แจงว่า สปสช. ได้กำหนดวิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการที่รับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน HI โดยกำหนดการจ่ายชดเชยงวดแรกแบบเหมาจ่ายในอัตรา 3 พันบาต่อราย ภายหลังให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 จนสิ้นสุดการดูแล ให้หน่วยบริการบันทึกและส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายผ่านโปรแกรม e-Claim ตามรายการที่ให้บริการจริง หากค่าใช้จ่ายที่ประมวลผลได้มากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายแบบเหมาจ่ายแล้ว หน่วยบริการจะได้รับการจ่ายชดเชยเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยที่กำหนด สปสช. ได้โอนเงินค่าบริการตูแลรักษาแบบ HI แบบเหมาจ่ายงวดแรกให้กับ รพ.สิชล เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง เป็นเงิน 20,709,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 ครั้งดังนี้ ครั้งที่หนึ่ง วันที่ 11 ส.ค.2564 เป็นเงิน 19,707,000 บาท ครั้งที่สอง วันที่ 18 ส.ค.2564 เป็นเงิน 21,000 บาท ครั้งที่สาม วันที่ 26 ส.ค.2564 เป็นเงิน 633,000 บาท และครั้งที่สี่ วันที่1 ก.ย.2564 เป็นเงิน 348,000 บาท
ทั้งนี้ หากพิจารณาการให้บริการของรพ.สิชล จากการ สปสช.ได้โทรศัพท์ถึงผู้ติดเชื้อทุกราย พบว่ากรณีมีการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะสามารถจ่ายชดเชยตามผลงานการให้บริการได้ประมาณ 30,223,700 บาท ซึ่งมากกว่ายอดเหมาจ่ายงวดแรก และจากการตรวจสอบข้อมูลในฐานข้อมูลการจ่ายเงินชดเชยจนถึงวันที่ 3 ก.ย.2564 ยังไม่พบว่ารพ.สิชล มีการบันทึกข้อมูลเข้ามาในระบบ e-Claim กรณี HI เพื่อการเบิกจ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด และระหว่างการตรวจสอบตามข้อ ร้องเรียนนี้ สปสช.ได้ชะลอการจ่ายชดเชยค่าบริการ HI ทุกรายของรพ.สิชลไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบการให้บริการในระบบ HI แล้วเสร็จ