หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ : เผยงานวิจัยอัตราตาย "โอมิครอน" น้อยกว่าเดลตา 9 เท่า

หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ : เผยงานวิจัยอัตราตาย "โอมิครอน" น้อยกว่าเดลตา 9 เท่า

เป็นอีกงานวิจัยที่ "หมอสันต์ ใจยอดศิลป์" สรุปมาให้อ่าน เพื่อจะได้ข้อมูลอีกชุดในงานวิจัยเกี่ยวโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" เพื่อประชาชนจะได้ตั้งรับด้วยใจที่สงบ ไม่กลัวมากเกินไป

หลายคนกังวลว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะร้ายแรงกว่าเดลตาหรือไม่

เรื่องนี้ ดร.สันต์ ใจยอดศิลป์ เขียนให้ความรู้ไว้ในเวบ drsant.com เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565  หัวข้อ "หลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกเรื่องความรุนแรงของโอมิครอนในสหรัฐอเมริกา"

 

ความกลัวโอมิครอนทั่วโลกส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่มีการแพร่ข่าวเรื่องความรุนแรงของโรคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาในประเด็นต่างๆ เช่น การที่ยอดผู้ป่วยถูกแอดมิทไว้รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น การตายเพิ่มขึ้น เด็กป่วยมากกว่าผู้ใหญ่และตายมากกว่าผู้ใหญ่ เป็นต้น

ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ข่าว ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้หลักฐานวิทยาศาสตร์ของจริงออกมาแล้ว เป็นงานวิจัยที่แคลิฟอร์เนียซึ่งสปอนเซอร์โดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) มีศูนย์ประสานงานการวิจัยอยู่ที่ ยูซี.เบิร์คเลย์ ซึ่งผมขอสรุปผลให้ฟังดังนี้

งานวิจัยนี้ทำกับผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนที่ยืนยันการตรวจด้วยเทคนิค SGTF (S gene target failure) ทำเฉพาะกับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจำนวนรวม 52,297 คน พบผลดังนี้

ผู้ป่วยทั้งหมด รวม 52,297 คน หากนับเฉพาะคนที่ติดตามได้อย่างน้อย 5.5 วัน รวมทั้งหมด 288,534 คนวัน พบว่า

- ผู้ป่วยถูกรับไว้ในโรงพยาบาล 88 คน (0.48%)

- ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 0 คน (0%)

- ท้ายที่สุดแล้วมีตาย 1 คน (0.09%)

โดยที่การติดเชื้อและระดับความรุนแรงมีการกระจายตัวเท่าๆ กันทุกกลุ่มอายุ ไม่เป็นความจริงที่ว่าเด็กป่วยมากกว่าและจะตายมากกว่า

ขณะเดียวกัน งานวิจัยนี้ยังได้เปรียบเทียบกับการติดเชื้อเดลตา ซึ่งมาที่กลุ่มโรงพยาบาลเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันจำนวน 16,982 คน พบว่า

- ผู้ป่วยทั้งหมด รวม 16,982 คน ถูกแอดมิทเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 222 คน (1.3%)

- ใส่เครื่องช่วยหายใจ 11 คน (0.06%)

- ท้ายที่สุดแล้วตาย 14 คน (0.8%)

โปรดสังเกตว่า อัตราตายของโอมิครอนคือ 0.09% นั้นต่ำกว่าอัตราตายของเดลตาซึ่งตาย 0.8% ต่างกันถึง 9 เท่า

ผมเล่าเรื่องงานวิจัยนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนจัดการโรคของทุกท่านที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งแฟนบล็อกทุกคนที่มีหน้าที่ต้องจัดการสุขภาพของตนเองด้วย เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป หรือที่เสี่ยงเกินไป หรือที่แพงเกินไป

เพื่อปกป้องตัวเราให้พ้นโรคที่มีอัตราตายต่ำกว่า 0.1% หรือพูดง่ายๆ ว่าใกล้ศูนย์ โดยยอมทิ้งความใส่ใจในโรคเจ้าประจำอื่นๆ ที่มีอัตราตายสูงกว่า เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอัตราตาย 30% โรคไข้หวัดใหญ่มีอัตราตาย 0.13-0.17% เป็นต้น

บรรณานุกรม

Clinical outcomes among patients infected with Omicron (B.1.1.529) SARS-CoV-2 variant in southern CaliforniaJoseph ALewnard,Vennis XHong,Manish MPatel,RebeccaKahn,MarcLipsitch,Sara YTartofmedRxiv2022.01.11.22269045;doi:https://doi.org/10.1101/2022.01.11.22269045

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์