"การระบาดใหญ่" กับ "โรคประจำถิ่น" แตกต่างกันอย่างไร
ช่วงนี้ในหลายประเทศ รวมถึงไทย มีการพูดกันเป็นวงกว้างว่า “โควิด-19” ซึ่งเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ในปัจจุบัน กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) แล้วในความเป็นจริง ทั้ง 2 คำมีความแตกต่างกันอย่างไร
ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) หลังจากแพร่ระบาดลุกลามไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่เดือน นับตั้งแต่จีนรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเมืองอู่ฮั่นเมื่อเดือน ธ.ค. 2562
ผ่านมากว่า 2 ปีจนถึงปัจจุบัน (25 ม.ค. 2565) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้วกว่า 355.7 ล้านราย และคร่าชีวิตผู้ป่วยไปกว่า 5.62 ล้านคน
ขณะที่สถานการณ์ในหลายประเทศยังคงเผชิญกับการระบาดซ้ำหลายระลอกและมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ เช่น เดลตา และโอมิครอน ท่ามกลางการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมประชากรในประเทศให้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหมู่
อย่างไรก็ตาม การที่ WHO ประกาศให้โควิดเป็นการระบาดใหญ่นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลก เพราะโรคเอดส์ ไข้หวัดใหญ่สเปน และไข้หวัดนก (H5N1) ก็เคยถูกประกาศอยู่ในภาวะนี้เช่นกัน
Pandemic คืออะไร
โดยทั่วไปแล้ว การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ ระดับการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ตามความหมายของ WHO คำว่า Pandemic คือเชื้อโรคที่ระบาดไปทั่วโลกที่ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งคาดการณ์ได้ยาก โดยมีรากศัพท์ภาษากรีกที่แปลว่า ผู้คนทั้งหมด เป็นศัพท์ที่ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อเมื่อโรคระบาดหรือ epedimic ขยายวงออกไปในหลายประเทศหรือหลายทวีปในเวลาพร้อม ๆ กัน
การประกาศภาวะโรคระบาดโลกมีหลักการเบื้องต้นอยู่ 3 ประการคือ
- โรคสามารถก่อให้เกิดอาการป่วยจนถึงเสียชีวิต
- มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน
- การแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก
3 ปัจจัยสู่ Endemic
โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ อาจเป็นเมือง ประเทศ กลุ่มประเทศ หรือทวีป โดยมีรากศัพท์ภาษากรีกที่แปลว่า ภายในหมู่ผู้คน และมีอัตราป่วยคงที่และคาดการณ์ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยเริ่มทรงตัว หลังจากมีการติดเชื้อสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ได้ภายในปีนี้
สำหรับโรคที่จะกลายสภาพเป็นโรคประจำถิ่นนั้น พิจารณาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้
- ตัวเชื้อโรคเอง
- ตัวคนที่เป็นผู้ติดเชื้อ
- สิ่งแวดล้อมเอื้อให้เกิดการสมดุลระหว่างเชื้อกับคน กล่าวคือ เชื้ออยู่ได้ คนอยู่ได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวโน้มที่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ว่า หากจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เชื้อโรคจะต้องอยู่กับคนได้ ความรุนแรงจะต้องค่อย ๆ ลดลง เช่น โอมิครอนที่ความรุนแรงค่อย ๆ ลดลง
นายแพทย์โอภาส เสริมว่า ถัดมา คือคนต้องอยู่กับเชื้อโรคได้ ติดเชื้อแล้วไม่เสียชีวิต แต่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับหนึ่ง การที่คนจะอยู่กับเชื้อโรคได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่
1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันพอเชื้อโรคมา ก็ไม่ป่วยหนัก เสียชีวิต อยู่กับเชื้อโรคได้
2. ติดเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ เป็นต้น
โรคประจำถิ่น ไม่เท่ากับ ปลอดภัย
ดร.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของ WHO เตือนว่า การที่ WHO อาจยุติประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกสำหรับโควิด-19 ภายในปีนี้ เพราะมันมีแนวโน้มกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้น ไม่ได้หมายความว่า โควิดไม่ใช่โรคอันตรายอีกต่อไป
“ผู้คนพูดกันมากเรื่องโรคระบาดใหญ่กับโรคประจำถิ่น โรคประจำถิ่นมาลาเรียคร่าชีวิตคนหลายแสน โรคประจำถิ่นเอชไอวี ความรุนแรงประจำถิ่นในเมืองชั้นใน โรคประจำถิ่นโดยตัวมันเองไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป” ดร.ไรอันกล่าวในเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมผ่านระบบออนไลน์ หัวข้อความเท่าเทียมกันด้านวัคซีนในเดือน ม.ค. 2565
“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือทำให้เกิดโรคน้อยโดยฉีดวัคซีนประชากรให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นี่คือการสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินในทัศนะของผม นั่นคือการสิ้นสุดการระบาดใหญ่” ดร.ไรอันกล่าว
“เรายังหยุดไวรัสไม่ได้ในปีนี้ เราอาจหยุดมันไม่ได้เลย การระบาดใหญ่ของไวรัสจะสิ้นสุดลงด้วยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สิ่งที่เราทำได้คือยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”
----------------
อ้างอิง: WHO, กระทรวงสาธารณสุข, Byjus