ไม่อยากป่วยเป็นโรคมะเร็ง ต้องลดความเสี่ยงด้านไหนบ้าง
ชวนทำความรู้จักกับโรค"มะเร็ง" ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคร้าย วิธีการลดความเสี่ยง ควรตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ อย่างไร และวิธีการรักษามะเร็งระยะต่างๆ
เมื่อใดก็ตามที่มีคนในสังคม หรือคนรอบข้างป่วยเป็นมะเร็ง และจากไปด้วยเวลาอันรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ก็ตระหนักรู้ หวั่นไหวและตั้งสติได้พักหนึ่ง จากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตตามความเคยชิน
การหันมาดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายได้
เซลผิดปกติที่เรียกว่า มะเร็ง
มะเร็ง เกิดจากเซลล์ผิดปกติในร่างกายที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเกินปกติ จนร่างกายคุมไม่ได้ ลุกลามและแพร่กระจายทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
มะเร็ง ต่างจากเนื้องอก ที่เป็นก้อนเนื้อผิดปกติจะโตช้า ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง เพียงกดหรือเบียดเมื่อก้อนโตขึ้น ไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและทางกระแสน้ำเหลือง เนื้องอกจึงเป็นโรคที่รักษาหายได้โดยการผ่าตัด
โรคมะเร็ง พบได้ในทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่พบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กพบน้อยกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ,มะเร็งปอด,มะเร็งลำไส้ใหญ่,มะเร็งต่อมลูกหมาก,มะเร็งต่อมน้ำเหลือง,มะเร็งเม็ดเลือดขาว,มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ,มะเร็งช่องปาก,มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม,มะเร็งปากมดลูก,มะเร็งตับ,มะเร็งปอด,มะเร็งลำไส้ใหญ่,มะเร็งรังไข่,มะเร็งเม็ดเลือดขาว,มะเร็งช่องปาก,มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
และมะเร็งที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว,มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเนื้องอก ,มะเร็งสมองมะเร็งนิวโรบลาสโตมา
ปัจจัยการเกิดมะเร็ง
ปัจจัยภายนอก อาทิเช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เป็นต้น รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และพยาธิบางชนิด
ปัจจัยภายในร่างกาย อาทิเช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน และภาวะทุพโภชนา เป็นต้น
คนที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง
1. สูบบุหรี่จัด เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งระบบหายใจ ได้แก่ ปอด และกล่องเสียง
2. ดื่มสุราเป็นประจำ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ถ้าทั้งดื่มสุราและสูบบุหรี่จัด จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากและในลำคอด้วย
3. ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มี สารพิษ ชื่อ อัลฟาทอกซิล ที่พบจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารเช่น ถั่วลิสงป่น เป็นต้น
หากรับประทานประจำจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ และหากได้รับทั้ง 2 อย่าง โอกาส จะเป็นมะเร็งตับมากขึ้น
4. ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เต้านม ลำไส้ใหญ่ เยื่อบุมดลูก และต่อมลูกหมาก
5. ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และรับประทานอาหารที่ใส่ดินประสิวเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
6. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเกิดจากความผิดปกติจากพันธุกรรมหรือติดเชื้อไวรัส เอดส์ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งของหลอดเลือด เป็นต้น
7. ผู้ที่รับประทานอาหารเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและส่วนไหม้เกรียมของอาหารเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะ อาหารและลำไส้ใหญ่
8. ผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว อาทิ มะเร็งของจอตา มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดที่ เป็นติ่งเนื้อ เป็นต้น
9. ผู้ที่ตากแดดจัดเป็นประจำ จะได้รับอันตรายจากแสงแดดที่มีปริมาณของแสงอุลตราไวโอเลตจำนวนมาก มีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้
อาการน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
แม้จะไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง และที่แตกต่างคือ มักมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเรื้อรัง ดังต่อไปนี้
-มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น
-มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อย ๆ
-ไฝ ปาน หูดที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก
-หายใจหรือมีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
-เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
-ไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด
-มีเสมหะ น้ำลาย หรือเสลดปนเลือดบ่อย
อาการโรคมะเร็ง
-อาเจียนเป็นเลือด
-ปัสสาวะเป็นเลือด
-ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
-อุจจาระเป็นเลือด มูกหรือเป็นมูกเลือด
-ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือมีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
-ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
-มีไข้ต่ำ ๆ ไข้สูงบ่อยๆ หาสาเหตุไม่ได้
-ผอมลงมากใน 6 เดือน น้ำหนักลดลงจากเดิม 10%
-มีจ้ำห้อเลือดง่ายหรือมีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
-ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือแขนขาอ่อนแรง หรือชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
-ปวดหลังเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจร่วมกับแขนขาอ่อนแรง
การวินิจฉัยมะเร็ง
-สามารถตรวจร่างกายด้วยตนเองและโดยแพทย์
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเสมหะ
- การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
-การตรวจทางรังสี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การเอกซเรย์เฉพาะอวัยวะ และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษส่องกล้องโดยตรง เช่น การตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหารและลำคอ เป็นต้น
ระยะของมะเร็ง
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ
-ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
- ระยะที่ 2 : ก้อน แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อและอวัยวะ
- ระยะที่ 3 : ก้อน แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ,อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ และอวัยวะที่เป็นมะเร็ง
-ระยะที่ 4 : ก้อน แผลมะเร็งขนาดโตมาก และหรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ,อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และหรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต หลอดน้ำเหลือง กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ และอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก
การรักษามะเร็ง
การตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้
1. การผ่าตัด การเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออกไป
2. รังสีรักษา การให้รังสีกำลังสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
3. เคมีบำบัด การให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
4. ฮอร์โมนบำบัด การใช้ฮอร์โมนเพื่อยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
5. การรักษาแบบผสมผสาน การรักษาร่วมกันหลายวิธีดังกล่าวข้างต้น แต่จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
ในภาพรวมโดยประมาณ อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี (โอกาสรักษามะเร็งได้หาย) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง คือ
-ระยะ 0 ประมาณ 90 – 95 %
-ระยะที่ 1 ประมาณ 70 – 90 %
-ระยะที่ 2 ประมาณ 70 – 80 %
-ระยะที่ 3 ประมาณ 20 – 60 %
-ระยะที่ 4 ประมาณ 0 – 15 %
ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่น ๆ
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ การตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากมะเร็งสูงขึ้นหรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลง
ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
.....................
อ้างอิง
-นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ