ติดเชื้อโควิด "กักตัว" ยังไง ไม่ให้แพร่เชื้อ
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังมีจำนวนมาก อาจเพราะความรู้ที่เรามียังไม่มากพอ ผู้ติดเชื้อกินยารักษาแล้ว แต่กักตัวไม่ถูกต้อง การแพร่เชื้อก็ยังเกิดขึ้นต่อไป กักตัวยังไงให้ปลอดภัย คุณหมอมีคำตอบ
หลายๆ คนที่ติดเชื้อโควิด รักษาหายแล้ว กลับมาอาศัยอยู่ที่บ้าน คอนโด แต่กลับได้รับความรังเกียจจากคนรอบข้าง นั่นเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ในเรื่องของการแพร่เชื้อ และการกักตัว จะทำอย่างไรให้ไม่แพร่เชื้อได้อีก
นพ.ธนีย์ ธนียวัน หรือ Tany Thaniyavarn, MD อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด, วิกฤติบำบัด และการปลูกถ่ายปอด จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์คลิปให้ความรู้ลงใน Youtube ช่อง Doctor Tany (ที่มีผู้ติดตาม 2.35 แสน คน) ว่า
“มีคนหายจากโควิดแล้วหลาย ๆ คนโดนสังคมรังเกียจว่า จะมาแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้หรือเปล่า กลับมาอยู่คอนโด กลับมาอยู่หมู่บ้าน เพื่อนบ้าน คนร่วมห้อง คนรอบ ๆ ตัวก็รังเกียจ เขาหายจากโควิดแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว
กักตัวแค่ไหนถึงจะเพียงพอ แล้ว สามารถแพร่เชื้อได้อีกหรือเปล่า เมื่อมีอาการหรือจะกลับไปทำงานได้เมื่อไร กินข้าวกับคนอื่นได้หรือยัง”
Cr.นพ.ธนีย์ ธนียวัน
- จำนวนวันกักตัว ขึ้นอยู่กับอาการมากน้อย
คุณหมอธนีย์ กล่าวว่า การกักตัวของผู้ที่ติดโควิด ถ้ามี อาการไม่รุนแรง กักตัวแค่ 10 วัน นับตั้งแต่วันที่มีอาการวันแรก เลย 10 วันไปแล้วสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะมีอาการอยู่ก็ตาม
“โดยทั่วไป โควิด จะมีอาการช่วงแรก หลังจากนั้นจะเริ่มดีขึ้น ในคนที่อาการไม่มาก ไม่ต้องใช้ออกซิเจน แล้วอาการทุก ๆ อย่างเริ่มดีขึ้นเรียบร้อยแล้ว ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ คือไม่มีไข้เลย ผ่านไป 10 วันก็ไม่แพร่เชื้อแล้ว ไม่ต้องกักตัวต่อก็ได้
แต่สำหรับคนที่ มีอาการมาก ต้องใช้ออกซิเจนขนาดสูง เข้าไอซียู กลุ่มนี้ต้องกักตัวให้ครบ 20 วัน นับตั้งแต่วันที่มีอาการวันแรก
และในกลุ่มพิเศษคือ กลุ่มที่รับประทานยากดภูมิต้านทาน หรือมีโรคภูมิต้านทานผิดปกติ แพทย์ต้องตรวจซ้ำ RT-PCR เพื่อดูว่าเขาจะแพร่เชื้อได้อีกหรือเปล่า
โดยเกณฑ์ที่รพ.ผมใช้คือ ถ้าตรวจ RT-PCR สองครั้ง ห่างกัน 24 ชั่วโมง มีค่า CT (Cycle Threshold) เกิน 30 ทั้งสองครั้ง อย่างนี้ก็ไม่แพร่แล้ว แม้มันยังบวกอยู่ แต่เป็นแค่เศษซากเชื้อที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้”
- ค่า CT จากการตรวจ RT-PCR คืออะไร
การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส จะทำเป็นรอบๆ ประมาณ 40 ครั้ง ค่าตรวจแต่ละครั้งที่ได้จะมีค่า Ct (Cycle Threshold) ถ้าได้ค่าน้อยแสดงว่ามีเชื้อไวรัสเยอะ เพราะทำไม่กี่รอบก็สามารถเพิ่มสารพันธุกรรมจนตรวจเจอได้แล้ว
เช่น นายก. เป็นโควิด ตรวจ RT-PCR ได้ค่า Ct เท่ากับ 10 แปลว่าทำไปแค่ 10 ก็ตรวจเจอเชื้อไวรัส ส่วนนายข.มีค่า Ct 30 แสดงว่ามีเชื้อน้อยกว่าเพราะทำไป 30 รอบกว่าจะตรวจเจอเชื้อไวรัส สรุป Ct น้อยเชื้อมาก Ct มากเชื้อน้อย
- คนติดโควิด กลับมาอยู่บ้าน ยังแพร่เชื้อได้ไหม
คนที่กลับบ้านไปแล้ว แต่ยังมีอาการอยู่ เช่น ไอ มีน้ำมูก มีคันคอ เหนื่อย อ่อนเพลีย พวกนี้ยังแพร่เชื้อได้อีกไหม คุณหมอตอบว่า
“ถ้าผ่านพ้นเกณฑ์ที่หมอบอกก็ไม่แพร่แล้ว คือ ผ่านพ้น 10 วันสำหรับคนที่อาการน้อย และ 20 วันสำหรับคนมีอาการมาก
กรณีคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือกรณีอื่น ที่ตรวจ RT-PCR 2 ครั้งห่างกัน 24 ชั่วโมง ค่า CT เกิน 30 ทั้งสองครั้ง ก็ไม่แพร่แล้ว แม้มีอาการอยู่ก็ตาม สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้”
- ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดช่วยได้
โดยทั่วไป ทุก ๆ คนในครอบครัว หรือคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ควรฉีดวัคซีนให้ครบเรียบร้อย คุณหมอเน้นย้ำ
“คนที่เพิ่งหายมาใหม่ ๆ อาจไม่มีปัญหาเท่าไร เนื่องจากภูมิป้องกันการติดเชื้อของเขายังมีอยู่ แต่ถ้าภูมิของคนที่อยู่ร่วมอาศัยกับเขา ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือท่านอาจจะไปรับเชื้อที่ไหนมาแล้วก็สามารถเป็นได้
ยิ่งถ้ามีคนในครัวเรือนที่อยู่ด้วยกันมากกว่าหนึ่งคน เช่น ผมเป็น แล้วผมหาย กักตัวในโรงพยาบาลครบ 10 วันเสร็จเรียบร้อยกลับบ้านแล้ว ตอนนั้นผมไม่แพร่แล้วนะครับ แม้ว่าผมจะมีไอ มีน้ำมูกอยู่ก็ตาม
แต่ถ้าคนในครอบครัวผมมี 3-4 คน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าคนหนึ่งในนั้นติด แล้วผมก็ไปกินข้าวด้วย ผมอาจไม่เป็นอะไร แต่ 3-4 คนที่อยู่ด้วยกัน ถ้าคนหนึ่งมีเชื้อ ก็มีโอกาสจะติดได้ เพราะว่าเขายังไม่มีภูมิต้านทาน
กรณีที่กลับไปทำงาน บางที่ทำงานมีการตรวจซ้ำ ถ้าตรวจ ATK โอกาสที่เป็นบวกก็ยังมีอยู่ โดยทั่วไปผ่านไปสองอาทิตย์ จะไม่ค่อยบวกแล้ว แต่ถ้ายังบวกอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ได้แปลว่าท่านยังแพร่เชื้ออยู่ เป็นผลบวกก็ไม่แพร่เชื้อแล้ว
แต่ถ้าบริษัทไหนยังไม่สบายใจ แนะนำให้ส่งไปตรวจ RT-PCR ที่มีค่า CT ที่อเมริกาไม่มีการทำแบบนั้น ไม่มีความจำเป็น แพทย์ไม่แนะนำ เขาป่วยแล้ว หายแล้ว เราไม่ควรซ้ำเติมด้วยการรังเกียจเขา ให้เขาไปตรวจแล้วเสียค่าใช้จ่ายเอง
ซึ่งถ้าตรวจ RT-PCR มาแล้ว ผลยังเป็นบวกอยู่ แต่ค่า CT สูงเกิน 30 แปลว่า ปริมาณเชื้อน้อยมาก ๆ แล้วก็เป็นเชื้อตายซะหมดแล้ว ไม่แพร่อะไรแล้ว
โดยสรุป คนที่เคยเป็นโควิดมาก่อน บางคนอาจมีอาการ Long Covid เช่น เพลีย, ไอ, คัดจมูก, น้ำมูกไหล ยังไม่ได้รับกลิ่น ไม่ได้รับรส ยังมีอาการเหล่านี้ได้เรื้อรัง ไม่ได้แปลว่าเขาจะสามารถแพร่เชื้อได้
เราควรให้กำลังใจเขามากกว่า คนเหล่านี้เมื่อหายแล้วก็ควรจะรีบไปฉีดวัคซีน หลังจากที่ท่านกักตัวครบนะครับ
เพื่อความสบายใจและไม่ต้องโทษซึ่งกันและกัน ทุก ๆ คนที่หายแล้วมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราควรจะช่วยเหลือกัน