“White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด” สู่สถานศึกษาสีขาว
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข อย่างจริงจังและต่อเนื่อง มาตั้งแต่วันที่1เมษายน 2541 จนถึงปัจจุบัน
โดยบูรณาการแผนงานกับทุกภาคส่วนและระดมทรัพยากรจากทุกหน่วยงานในการจัดทำองค์ความรู้และประสานงานเป็นกลไกขับเคลื่อนงานในสถานศึกษา ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษา
รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยงรอบสถานศึกษาได้ในระดับหนึ่งกลุ่มผู้ค้ายังมีความพยายามเข้าถึงกลุ่มเยาวชนโดยการพัฒนาสูตรยาเสพติด ประกอบด้วยส่วนผสมให้มีรูป รส กลิ่น สี เพื่อให้เยาวชนอยากลอง จำหน่ายตามสถานบริการ สถานบันเทิงและแหล่งมั่วสุมเพิ่มมากขึ้น
ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ และผู้ปกครองจึงต้องเฝ้าระวัง ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ที่จะดำเนินการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษาให้เป็นสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข มีความเข้มแข็งและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"หลักสูตร" ที่ควรเรียน..ก่อนเข้าสู่ "แวดวงธุรกิจกัญชา"
เชียงใหม่ ย้ำสถานศึกษาต้องปลอด "กัญชา" ห่วงส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก
- สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดด้วยสถานศึกษาสีขาว
การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดด้วยโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุขในสถานศึกษา เป็นการจัดการเรียนรู้ ภายใต้ภารกิจการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน.อำเภอ ได้แก่ การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาตามอัธยาศัย ที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระยาเสพติดในด้านการป้องกัน การค้นหา การรักษาและการเฝ้าระวังเพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงมีความสามารถที่จะปรับตัวได้ในอนาคต มีทักษะที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ในเรื่องต่างๆมาเชื่อมโยงกับทัศนคติผ่านการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองถึงผลที่จะเกิดขึ้นและตัดสินใจปฎิบัติในสิ่งที่เหมาะสมได้ และรับมือกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้
วันนี้ ( 26 ตุลาคม 2565) กระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดกิจกรรม “White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด” โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการเร่งด่วน อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน
กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ดำเนินกิจกรรมด้านความปลอดภัยและปฏิบัติอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา โดย ศธ.ได้มีมาตรการดูแลเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด และให้ผู้เรียนได้รับความปลอดภัยสูงสุด ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและเยาวชนทุกคน เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ปกครองและสังคม
- ยึดหลัก 3 ป.มาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้ดำเนินงานเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยเน้นแนวทางปฏิบัติภายใต้หลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ซึ่งเรามีแผนและมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ โดยใช้หลักการทำให้ผู้เรียนมีความเข้มแข็ง จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ผ่านการพิจารณาผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นกรณีพิเศษ
อีกทั้ง อาจมีความจำเป็นในการสร้างข้อตกลงร่วมกัน และการติดตาม เฝ้าระวัง รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจถึงโทษภัย และผลกระทบของยาเสพติด โดยให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
“เราจำเป็นต้องสร้างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการร่วมมือกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนทุกหน่วยงานในชุมชน สังคมของเราในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง เป็นเครือข่ายที่จะป้องกันภัยจากปัญหายาเสพติด” น.ส.ตรีนุช กล่าว
การจัดกิจกรรม ‘White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด’เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ นักศึกษา กศน. และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ร่วมกันแสดงพลังและสร้างความมั่นใจในการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อให้สถานศึกษา กศน. เป็นแหล่งปลอดสารเสพติดและนักศึกษา
กศน. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกชนิด เน้นในเรื่องของการประสานงานในครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เครือข่ายผู้ปกครอง สถานีตำรวจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา นำไปสู่การขยายผลและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ต่อไป
ดร.อรรถพล สังขวาสี รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรม “White Zone สถานศึกษา กศน.ปลอดสารเสพติด” กศน.จะมีการสำรวจและค้นหาสารเสพติด โดยการสุ่มตรวจการพกพาสารเสพติดจากนักศึกษา สุ่มตรวจปัสสาวะนักศึกษา และมีการตรวจสารเสพติดประจำปี
ส่วนการเฝ้าระวัง จะมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อนที่ปรึกษา เพื่อนดูแลเพื่อน สร้างครูแกนนำเฝ้าระวัง สังเกตุพฤติกรรมและเก็บข้อมูลนักศึกษากลุ่มเสี่ยง
ส่วนการฟื้นฟู จะมีการเข้าค่ายปรับพฤติกรรม ทำกิจกรรมจิตสังคมบำบัดในสถานศึกษา จากนั้นจะมีการสร้างความยั่งยืน เช่น จัดตั้งองค์กร นักศึกษาต้านยาเสพติด จัดตั้งเครือข่ายต้านยาเสพติด และบรรจุเนื้อหายาเสพติดในหลักสูตรสถานศึกษา
- กศน.มุกดาหาร ประกาศแก้ปัญหายาเสพติด
นายเพียร แสวงบุญ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองมุกดาหาร กล่าวว่า ด้วยรัฐบาล ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดและ การใช้อาวุธ โดยมอบหมายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการเร่งด่วน ได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรม
ดังนั้น รมว.ศธ.ได้กำหนดมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในส่วนของสถานศึกษาให้ดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืนอย่างเข้มงวดมากขึ้น
โดยใช้กลไกตามนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษาใช้หลักการทำเด็กให้เข้มแข็ง และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปลูกฝังและปราบปราม ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงาน กศน.จังหวัดทุกแห่ง และสำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร เริ่มต้น การขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว
โดยการจัดกิจกรรม “White Zone สถานศึกษา กศน. ปลอดสารเสพติด”ขึ้น พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังให้เกิดความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในสถานศึกษาให้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา นักศึกษา กศน. /ครู กศน. และบุคลากรทางการศึกษา
รวมทั้งเพื่อให้นักศึกษา กศน. ได้รู้ถึงพิษภัยอันตรายของยาเสพติดและอาวุธ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธ ให้หลีกเลี่ยงและรู้จักห่างไกลยาเสพติดและอาวุธ และเพื่อให้นักศึกษา กศน./ ครู กศน. มีความรู้ความเข้าใจและสามารถป้องกันภัยที่เกิดจากยาเสพติดและอาวุธให้สถานศึกษามีความปลอดภัย