การวิจัยเชิงออกแบบคือวิถีการแสวงหาความรู้ของครู
เราต้องการพัฒนามนุษย์ที่มีความเฉพาะ มีศักยภาพที่ต่างกัน เราจึงต้องการครูที่ต่างกัน มาพัฒนามนุษย์ที่ต่างกัน
ครู คือ นักออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอยู่ตลอดเวลา ด้วยว่าไม่มีการสอนใดดีที่สุด และดีเสมอไป เราไม่สามารถนำการสอนที่ดีในบริบทหนึ่ง มาใช้สอนในบริบทอื่นได้ดี “การสอน” แปรเปลี่ยนไปตามผู้สอน นักเรียน สภาพห้องเรียน บรรยากาศการเรียนรู้ นั่นคือการสอนของครู
อาศัยความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งครูและนักเรียนคือมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเข้าใจที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ เราจึงต้องศึกษามนุษย์ผู้เรียนเหล่านั้นตามความเป็นจริง
การเรียนรู้ที่จะออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียน หรือการแสวงหาความรู้ของครู ระหว่างการออกแบบการสอน เปรียบได้กับการวิจัยเชิงออกแบบ ซึ่งเป็นการคลี่กระบวนการเลือกสรรวิธีการสอนของครูออกมา
โดยเริ่มต้นจากการเข้าใจผู้ใช้ ในกรณีนี้ก็คือ การทำความเข้าใจผู้เรียน (discovery) การเข้าใจนี้มีความหมายลึกซึ้งกว่าความพยายามหาปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เพราะเราจะไม่มองว่าเด็กขาด บกพร่อง หรือมีปัญหาในด้านใด (Deficit-based approach) อย่างที่เรามักคุ้นชินระหว่างการทำวิจัยในทางการศึกษาทั่วไป
แต่จะเป็นการมองนักเรียนอย่างเป็นกลางในแบบที่เขาเป็น ว่าเขามีความรู้สึก มีพฤติกรรมต่อการเรียนการสอนในวิชาของผู้วิจัยเป็นอย่างไร เขาเกิดการเรียนรู้ได้ดีเมื่อใด เขามีความเชื่ออย่างไรต่อการสอนของครู และการเรียนรู้ของตนเอง เป็นต้น
เป็นการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แล้วจึงเป็นขั้นตีความหมาย (interpretation) ซึ่งผู้วิจัยจะทำการตีความสิ่งที่นักเรียนบอกมาอย่างเป็นระบบ แล้วจึงนำแนวคิด (ideation) นั้นมาออกแบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง ก่อนการทดลองใช้ (experimentation) กับนักเรียน
และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หลังจากทดลองใช้แล้ว ครูจะนำข้อมูลป้อนกลับที่ได้จากนักเรียน มาพัฒนา (evolution) การสอนของตนเองให้ดีขึ้นไปอีก เป็นการลองผิดลองถูก วนซ้ำขั้นตอนเหล่านี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะเหตุใดครูไทยจึงไม่อิน (in) กับการทำงานวิจัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?
วิถีปฏิบัติในการทำวิจัยทางการศึกษาในปัจจุบัน เน้นไปที่การทำวิจัยในชั้นเรียน ที่เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) แบบเน้นข้อมูลเชิงปริมาณ มีการควบคุมตัวแปรในห้องเรียนอย่างไม่เป็นธรรมชาติ
อาทิเช่น ควบคุมการเรียนรู้นอกห้องเรียน คือ ไม่นำมาพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของนักเรียน ควบคุมการสอนของครูว่าครูสอนเหมือนกันในทุกห้องเรียน และมีจุดต่างเพียงตัวแปรจัดกระทำ
สิ่งเหล่านี้ขัดกับบริบทห้องเรียนจริงของครู ที่มีความเป็นธรรมชาติ ซับซ้อน ผลลัพธ์ของการหยิบยกวิธีการสอนที่เป็นที่ยอมรับจากวารสารวิชาการ ของนักวิจัยท่านอื่นมาใช้ มักไม่ตอบโจทย์ครูกลุ่มนี้ ครูจึงไม่เห็นประโยชน์และไม่อินกับการทำวิจัยในลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำให้ครูอินในการทำวิจัยมากขึ้น หากเราเปิดโอกาสให้ครูทำการวิจัยเชิงออกแบบ ที่เป็นวิถีการแสวงหาความรู้ของครูตามธรรมชาติอยู่แล้ว เราน่าจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์การสอนตรงของครู โอกาสนี้ยังสื่อถึงการให้ความเคารพกับความคิดของครูอย่างเต็มที่
เพราะเราเปิดโอกาสให้ครูได้ตีแผ่การออกแบบการเรียนการสอนของตนเอง การเรียนรู้ของตนเอง ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ครูเป็นผู้เข้าใจบริบทนักเรียนของตนเองดี” และ “ทุกการออกแบบมีความเป็นไปได้”
ซึ่งต่างกับการที่ครูลองหยิบยกวิธีการที่เป็นที่ยอมรับจากวารสารวิชาการ ของนักวิจัยท่านอื่นมาลองปฏิบัติใช้ในห้องเรียนของตนเอง เราควรหันมาเปลี่ยนกรอบการทำวิจัยที่ดี ที่แตกต่างไปจากการทบทวนวรรณกรรมหรือวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพในบริบทอื่น
และนำวิธีการสอนนั้นมาใช้ในห้องเรียนของตนเอง การทำวิจัยเกี่ยวกับการสอนที่ดี อาจหมายถึง การกล้าที่จะผิดพลาด และพร้อมเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
การวิจัยเชิงออกแบบ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎี (หรือนักวิจัย/นักวิชาการ) มาร่วมแนะนำแนวทางการสอนให้กับครู ในขั้นของการเสนอแนวคิด (ideation) การวิจัยเชิงออกแบบจะเน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการศึกษา
การช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของการสอนที่ครูได้ลองออกแบบไว้ เป็นการเปิดกว้างทางความคิด เป็นการบูรณาการศักยภาพของมนุษย์แต่ละคนที่มีมุมมองที่หลากหลายอย่างเต็มที่ สามารถเสริมต่อยอดกัน นำมาซึ่งความคิดที่สร้างสรรค์ ก่อนการนำการสอนนั้นไปใช้จริง
การวิจัยเชิงออกแบบ เป็นการปล่อยให้สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ของทั้งนักเรียนและครูเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจที่ว่า การทำวิจัยกับมนุษย์นั้น เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้ได้ ไม่ได้หมายความว่าการวิจัยเชิงออกแบบ ไม่มีความเคร่งครัด
แต่เพราะการวิจัยเชิงออกแบบ เข้าถึงความเป็นมนุษย์ได้มากกว่า การวิจัยเชิงทดลอง (ที่มีการควบคุมตัวแปร มีการจัดกระทำบางสิ่งบางอย่างกับกลุ่มทดลอง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง)
ดูจะเหมาะสมกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ มากกว่างานทางด้านมนุษยศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยเพื่อเข้าใจการเรียนรู้ของมนุษย์ ยังคงนิยมใช้การวิจัยเชิงทดลอง อาทิเช่น มีการศึกษา “ผลการสอน X หรือการเลือกสรรสื่อ Y ที่มีต่อ Z ของนักเรียน”
อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราน่าจะอยู่ห่างไกลกับคำว่า “วิทยาศาสตร์” ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการและเหตุผล เราจึงไม่อาจอธิบายสิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ด้วยหลักการที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะสร้างธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ให้กับวงการการศึกษา ให้ครูหันมาแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองในบริบทไทย ผ่านการวิจัยเชิงออกแบบ ให้ครูหันมาช่วยกันตีแผ่ความเป็นไทยในระบบการศึกษา เราทุกคนจะได้ตระหนักและช่วยกันพัฒนาต่อยอดความรู้ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยบ้านเราต่อไป
ผู้เขียน: สลา สามิภักดิ์ และศราวุธ รามศรี
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย