ศธ.ออกประกาศมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
ศธ.ออกประกาศมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ พร้อมย้ำวิธีการป้องกันดูแลตนเองจากฝุ่นPM2.5
"ฝุ่น PM 2.5" คือฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากๆ (ขนาดเล็กกว่า2.5ไมครอน หรือไมโครเมตร)(PM ย่อมาจาก Particulate Matters) ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ เราจึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากๆ ในอากาศ จะดูคล้ายกับมีหมอกหรือควัน
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน เป็นต้น
ฝุ่น PM 2.5 นี้ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก และด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูก ไปยังหลอดลม และลงลึกจนถึงถุงลมปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศธ.ออกประกาศมาตรการป้องกันฝุ่นPM2.5 ในสถานศึกษา
วันนี้ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เมื่อวันที่ วันที่ 18 มกราคม 2566 เพื่อให้การดำเนินงานด้านป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และครอบคลุมทั่วประเทศ
โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสถานศึกษาประสบภัยพิบัติกระทรวงศึกษาการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) ในส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งกำหนดมาตรการมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกันต่อไป
ดูแลตนเอง ป้องกันฝุ่นPM2.5 ได้อย่างไร?
ฝุ่น PM 2.5 มีผลเสียต่อร่างกาย โดยในวันที่อากาศไม่ดี มีค่าฝุ่นมลพิษสูง หลายคนคงรู้สึกแสบตา แสบจมูก เจ็บคอ ระบบที่มีผลกระทบมาก คือระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะรู้สึกแสบจมูก ไม่สบาย ไอและมีเสมหะได้ ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคภูมิแพ้,โรคปอด (เช่น หอบหืด, ถุงลมโป่งพอง) ต้องระวังสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากฝุ่นนี้จะทำให้โรคกำเริบได้ง่าย
ในระยะยาวมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
นอกจากนี้ยังทำลายผิวของเราได้ด้วย ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกาย จึงหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญฝุ่นมลพิษได้ยาก
ทั้งนี้ เราจะป้องกัน และดูแลตนเองจากฝุ่นPM2.5 ได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในบ้านหรือในอาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศชนิดที่มีHEPA filter
- เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากชนิดที่สามารถกันฝุ่นPM2.5ได้ และใส่ให้ถูกวิธี
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ5หมู่ ทานผลไม้หรือวิตามินที่สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เช่นวิตามินซี ดื่มน้ำสะอาดเพื่อช่วยในการขับสารพิษจากร่างกาย
การดูแลปกป้องผิวหนังจากฝุ่น PM 2.5 โดย
- ควรทำความสะอาดผิว/ล้างหน้าให้สะอาดทันที ภายหลังจากต้องสัมผัสกับฝุ่นมลพิษ
- ใส่เสื้อผ้าแขนยาว เพื่อปกป้องผิวไม่ให้ระคายเคือง และลดการเห่อของผื่น
- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำให้เกราะป้องกันของผิวแข็งแรงขึ้น
- หากป้องกันผิวดีแล้ว แต่ยังเกิดปัญหาผิวหนัง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ