ยกระดับทุนทางวัฒนธรรม 'เมืองเก่านครลำปาง'
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำทุนทางวัฒนธรรมย่านเมืองเก่านครลำปาง ต่อยอดสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น ควบคู่กับการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม หวังให้คนลำปางมีจิตสำนึกรักท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือ มทร.ล้านนา ได้ดำเนินโครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่านครลำปางเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสำนึกท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” หวังยกระดับทุนทางวัฒนธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเป็นหนึ่งในพันธกิจของทางมหาวิทยาลัยในการทำนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม โดยบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการศาสตร์ต่าง ๆ ในลักษณะการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ทางคณะผู้วิจัยนำ โดยอาจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน และอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยได้ร่วมกับอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่อาทิ เทศบาลนครลำปาง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง สมาพันธ์เอสเอ็มอีลำปาง ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ทางคณะผู้ทำวิจัย ได้ชูย่านเมืองเก่านครลำปางในเขตเทศบาลนครลำปาง ที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และงานบริการทางวัฒนธรรม รวมถึงการปลูกฝังและพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ย่านเมืองเก่า
สำหรับการดำเนินการวิจัย ทางคณะผู้วิจัยจะทำการพูดคุยกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ประชุมเก็บข้อมูลเพื่อที่จะค้นหาอัตลักษณ์สินค้า หรือบริการทางวัฒนธรรมของชุมชน หลังจากนั้นจะจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมและปฏิทินกิจกรรมย่านเมืองเก่านครลำปางสำหรับนักท่องเที่ยว และจะได้จัดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม ,อบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนโดยชุมชน พร้อมสร้างทายาททางวัฒนธรรม เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม และถ่ายทอดความรู้ให้คนชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดลำปางเคยได้รับฉายาว่า “เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา” ซึ่งในอดีตนครลำปางถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ จากการที่บริษัทของชาวต่างชาติเข้ามาเป็นนายทุนหลักในการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ส่งผลให้มีแรงงานจากหลากหลายชาติพันธุ์ เข้ามาทำงานและตั้งรกรากในเมือง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมจนทำให้เมืองลำปางมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อันเกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมนานาชาติกับวัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิม รวมถึงมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือที่มาถึงนครลำปางในปี พ.ศ. 2459 ก่อให้เกิดย่านการค้าขนาดใหญ่ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในนครลำปาง ทำให้เกิดเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมการดำเนินวิถีชีวิต การใช้รถม้าเป็นพาหนะ ความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมทางด้านอาหาร ประเพณีต่าง ๆ
อาจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น รอง ผอ.สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ มทร.ล้านนา หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ทางคณะผู้ทำวิจัยต้องการจะให้คนในท้องถิ่น รวมถึงคนลำปางที่อยู่ต่างถิ่น มีความรักความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง คาดหวังว่าเขาเหล่านั้นจะช่วยพัฒนาท้องถิ่น และต้องการให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ15 ในเขตพื้นที่เมืองเก่านครลำปาง ซึ่งเมืองลำปางยังคงเป็นเมืองที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เป็นเมืองที่เติบโตอย่างช้า ๆ ทำให้ทุนทางวัฒนธรรมหลาย ๆอย่างยังคงอยู่ ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นเริ่มต้นทำการรักษาและต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับเมืองลำปาง
ด้านอาจารย์กรณิศ เปี้ยอุดร คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มทร.ล้านนา ลำปาง เปิดเผยว่า ทางคณะผู้ทำวิจัยจะมีแบบประเมินเบื้องต้น ที่จะนำมาทำการประเมินความพร้อมว่าผู้ประกอบการ ว่าผู้ประกอบการรายใดบ้าง ที่มีความสามารถที่จะพัฒนาหรือต่อยอดให้ได้อย่างยั่งยืน และหลังจากนี้จะมีกระบวนการในการคัดเลือกผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการดำเนินการค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากจังหวัดลำปางหลายครั้งมักจะถูกมองว่าเป็นเมืองผ่าน ดังนั้นการที่จะทำให้สินค้า หรือบริการเป็นที่นิยมต้องใช้ผู้มีความรู้จากหลากหลายด้านเพื่อที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และการที่จะทำการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาต่อยอดอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะทำการเปลี่ยนแปลงในครั้งเดียวหรือเห็นผลในทันที แต่หากค่อย ๆทำอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นผลในอนาคต
ขณะที่ ผศ.ศรีชนา เจริญเนตร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง กล่าวว่า เวลาที่มีการจัดทำโครงการ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาพวกคนมักจะมองว่าโบราณ เชย หรือดูเหมาะกับงานประเพณีเพียงอย่างเดียว ดังนั้นทางผู้ทำวิจัยจึงมีความแนวคิดว่าจะสามารถทำให้เหมาะกับวิถีชีวิตปัจจุบันได้หรือไม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของทางคณะผู้ทำวิจัยที่จะทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่