คุณธรรม-ความซื่อสัตย์ในคนไทยต่างรุ่น | อรรถพันธ์ สารวงศ์
คนไทยถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์ในสายตาคนต่างชาติมาแต่อดีต! จากบันทึกของ ฟรังซัวร์ส อังรี ตูร์แปง (Turpin) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสยามช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ได้บันทึกไว้ว่า “...ชาวสยามชอบขี้ปดมดเท็จไม่กล้าสู้ความจริง..." (กรมศิลปากร, 2522)
มิหนำซ้ำ รูธ เบเนดิกต์ (อ้างถึงในโกวิท วงศ์สุรวัฒน์, 2565) ยังได้สรุปลักษณะนิสัยประจำชาติของไทยว่า
“คนไทยมีนิสัยชอบซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้งจากการถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้าย แต่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าคนที่หลอกลวงหรือทำร้ายคนอื่นนั้นมีความผิดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยจะเห็นว่าการหลอกลวง หรือการทำร้ายบุคคลอื่นนั้นจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายอะไรนัก”
ในการประเมินการรับรู้คุณธรรมตามช่วงวัย จากการศึกษาของทีมวิจัยของศูนย์คุณธรรม นำโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี จากกลุ่มตัวอย่าง 213 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างรุ่น Baby Boomer มีการรับรู้ด้านคุณธรรมสูงเป็นลำดับที่ 1 ใน 3 ประเด็นคุณธรรม คือ พอเพียง สุจริต จิตสาธารณะ
Generation X มีการรับรู้ด้านคุณธรรมสูงเป็นลำดับที่ 1 ใน 2 ประเด็นคุณธรรม คือ วินัย และรับผิดชอบ ขณะที่ Generation Y และ Z มีการรับรู้ด้านคุณธรรมทั้ง 5 ประเด็นอยู่ในระดับ 3 และ 4 ตามลำดับ จะพบว่าเยาวชนรับรู้คุณภาพตามบรรทัดฐานของทางการไทยในระดับที่น้อยกว่ารุ่นผู้ใหญ่
คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะมองคุณธรรมว่า ต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นไปตามหลักสากล ผลจากนวัตกรรมการสื่อสารในยุคดิจิทัล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ แทรกซึมในทุกส่วนของกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่
การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อการประกอบสร้างตัวตนหรืออัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่ รวมถึงเข้ามามีส่วนในการสร้างค่านิยมการเลือก รับหลักคุณธรรมที่หลากหลายมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ยึดติดอยู่กับชุดความคิดใดความคิดหนึ่ง
เกิดการตั้งคำถามกับตนเองและสังคมในหลายเรื่อง เนื่องจากได้รับชุดข้อมูลอันหลากหลายจากพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมีความทับซ้อนกันระหว่างโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์
การศึกษาของภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ได้ชี้ให้เห็นมุมมองต่อหลักคุณธรรมของชาวดิจิทัลว่ามีความหลากหลายทั้งตามช่วงวัย บริบททางสังคมวัฒนธรรม เช่น ศาสนา ความเป็นเมือง เพศสภาพ ชนชั้น
ทั้งนี้ ถึงแม้หลักคุณธรรมในมุมมองของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่จะมีความซับซ้อนและไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่ชาวดิจิทัลกลุ่มนี้ต่างมีจุดยืนในการตีความหลักคุณธรรมร่วมกัน กล่าวคือ หลักคุณธรรมดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล
การประยุกต์ใช้ได้ ความยืดหยุ่นรวมทั้งการเคารพและให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก และต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม
ดังนั้น หากหลักคุณธรรมใดไม่สอดคล้องกับหลักคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเกิดจากภาพจำของการสอนที่ทำให้ห่างไกลการประยุกต์ใช้ในบริบทของการใช้ชีวิต หรือไม่สามารถตอบสนองความสมเหตุสมผลได้
นอกจากนี้ ชาวดิจิทัลก็มักจะตอบสนองโดยการคิด โต้แย้ง และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม ทั้งในกรณีของหลักคุณธรรมในเรื่อง วินัย ความพอเพียง และจิตอาสา ในขณะที่หลักคุณธรรมด้านความสุจริต เป็นสิ่งที่ชาวดิจิทัลยังคงให้ความสำคัญ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับหลักสุจริตของคนในสังคมที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
หรือการที่ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่เล็งเห็นคุณค่าของจิตสาธารณะมากกว่าจิตอาสา เพราะจิตสาธารณะสำหรับพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจส่วนบุคคลและเป็นการช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ในขณะที่จิตอาสาถูกนำมาถ่ายทอดโดยผ่านการกำหนดรูปแบบให้ปฏิบัติในหลักสูตร หรือกิจกรรมที่แลกกับการได้รับคะแนนหรือการประเมินต่างๆ
อย่างไรก็ตาม สถาบันครอบครัวยังคงมีบทบาทสำคัญในการขัดเกลาหลักคุณธรรม แต่ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษา โดยสถาบันสื่อโดยเฉพาะสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ได้กลายเป็นตัวแทนสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ดังกล่าวในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับการศึกษาของทีมวิจัย นำโดย ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย ที่พบว่าวัยรุ่นอาจจะทำการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ ถ้าการกระทำนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในสังคม การศึกษานี้ได้ศึกษาเชิงทดลองเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการเป็นอาสาสมั ครและความซื่อสัตย์ของวัยรุ่น
ผลการศึกษาพบว่า การทำกิจกรรมอาสาสมัครและความซื่อสัตย์ไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาทำกิจกรรมอาสาสมัครค่อนข้างมาก มีแนวโน้มที่จะซื่อสัตย์มากกว่าตัวอย่างที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมอาสาสมัครน้อยกว่า
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผลประโยชน์จากความไม่ซื่อสัตย์ตกอยู่กับสังคม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมอาสาสมัครในสัดส่วนสูงมาก มีแนวโน้มที่จะไม่ซื่อสัตย์กว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาในการทำกิจกรรมอาสาสมัครน้อย
สะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นบางส่วนอาจมีความคิดว่าการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ แต่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่ตนเองไม่ได้รับประโยชน์เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้
ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อกระตุ้นเตือนการประพฤติที่พึงประสงค์ จำเป็นต้องส่งเสริมหรือฝึกปฏิบัติตั้งแต่วัยเรียนและต้องผ่านกระบวนการฝึกปฏิบัติการ
การศึกษาของกมลวรรณ คารมปราชญ์ คล้ายแก้ว และพิชชาดา ประสิทธิโชค ชี้ให้เห็นว่าแนวทางการจัดการเรียนการสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในระดับอุดมศึกษาที่โดดเด่น คือ การจัดการเรียนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้กระทำหรือการจัดการเรียนเชิงรุก (active learning) ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ
การศึกษาของสุนทรี สกุลพราหมณ์ และคณะ ชี้ให้เห็นว่าการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ประเภทสื่อการเรียนรู้และเกมมัลติมีเดีย สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เรียนได้ในระดับสูง
ในขณะที่สื่อในรูปแบบต่างๆ กำลังเปิดโปงคอร์รัปชันในวงราชการ และการเมืองก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม สถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญที่จะต้องตามให้ทันคุณค่า และคุณธรรมที่เปลี่ยนไปในสังคม และดำเนินการสอนให้มีดุลยภาพที่ดีระหว่างคุณค่าใหม่กับคุณค่าเก่า