อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ก้าวไปพร้อมกันหรือต่างคนต่างเดิน
เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563 มูลค่าการซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสิ้น 3.78 ล้านล้านบาท
ประเทศไทยยังมีสัดส่วนการใช้มือถือต่อจำนวนประชากรสูงสุดในเอเชีย โดยมีสัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 67 จะพบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ประเทศไทยมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในระดับสูง ข้อมูลการจัดอันดับดัชนีคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัล (Digital Quality of Life Index) ปี 2564 โดย Surfshark (2021)
คำนวณจาก 5 ปัจจัยสำคัญ คือ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต คุณภาพอินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
พบว่า ประเทศไทยมีลำดับดัชนีคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัลในลำดับที่ 44 ของโลกจากทั้งหมด 110 ประเทศ ซึ่งมีอันดับที่โดดเด่นในด้านคุณภาพของอินเทอร์เน็ต
โดยเฉพาะความเร็วของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และความเร็วอินเทอร์เน็ตมือถือที่เพิ่มขึ้น ที่อยู่ในอันดับที่ 2 และ 22 ของโลก ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติความสามารถในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กลับพบว่ายังมีลำดับที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมือถือราคาถูก (อันดับที่ 69) และการเข้าถึงบรอดแบนด์ราคาถูก (อันดับที่ 58)
สะท้อนให้เห็นว่าการให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั้งบรอดแบนด์และมือถือมีความเร็วสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ความสามารถในการเข้าถึงบริการของผู้คนบางกลุ่มอาจยังทำได้จำกัด
จึงทำให้มีเพียงกลุ่มผู้ที่มีความพร้อมทางการเงินเท่านั้น ที่จะเข้าถึงการใช้ประโยชน์และโอกาสจากเทคโนโลยีดิจิทัล
ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาจจะเข้าไม่ถึง ผลดังกล่าวก็จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังมีอุปสรรคในการเข้าถึง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตมือถือที่สมาร์ตโฟนมีบทบาทในชีวิตของคนทุกกลุ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเข้าไปสู่ยุคดิจิทัลที่มีการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ อาจนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระหว่างผู้มีศักยภาพและผู้ขาดโอกาส
ทั้งด้านการเข้าถึงความรู้แหล่ง เงินทุน หรือสวัสดิการทางสังคม ซึ่งจะยิ่งส่งผลทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรสูงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอนหลายประการที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) ได้ฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยสำคัญที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีผลกระทบสูง คือ
- การเก็บเกี่ยวโอกาสทางเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มที่หรือล้าหลังตามไม่ทันโอกาส
- การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วนหรือบูรณาการ
เมื่อนำ 2 ปัจจัยมาไขว้กันจะได้ภาพอนาคต 4 ภาพ คือ
1) ผ่านไปด้วยกัน ไปได้ไกล เป็นภาพอนาคตที่ประเทศไทยสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทันการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด
ภาคธุรกิจขยายตัวและขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ร่วมไปกับสังคมที่มีการอยู่ร่วมกันและทำงานประสานกันอย่างบูรณาการ ให้ความสำคัญกับกลุ่มและสังคมรอบข้าง
2) ก้าวล้ำไกล ตัวใครตัวมัน เป็นภาพอนาคตที่ประเทศไทยสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทันการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด
แต่สังคมที่มีความเป็นปัจเจกนิยมสูง ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ไม่มีความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน แม้จะพยายามพัฒนาอย่างรอบด้าน แต่มีความเป็นไปได้ที่การพัฒนาจะเกิดขึ้นกระจุกเฉพาะกลุ่ม และไม่สามารถเข้าถึงประชากรทั้งหมดได้
3) ทิ้งฉันไว้ตามลำพัง เป็นภาพอนาคตที่ประเทศไทยไม่สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ได้ทัน ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้
ทำให้ประเทศไทยล้าหลังทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ไม่เป็นอิสระทางด้านเทคโนโลยี เนื่องจากต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวชะลอตัว และสังคมยังมีความเป็นปัจเจกนิยมสูง ต่างคนต่างอยู่
4) จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เป็นภาพอนาคตที่ประเทศไทยไม่สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ได้ทัน ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้
ประเทศไทยอาจจะหันมาพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอื่นหรือมุ่งไปที่การผลิตและการค้าขายภายในประเทศ ไม่พึ่งพาตลาดโลกมากนัก แต่สังคมยังอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ให้ความสำคัญกับกลุ่มและสังคมรอบข้าง
หากจะต้องการไปสู่ภาพอนาคตที่ 1 สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมในปัจจุบัน คือ
1) การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการเพิ่มความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ของทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ
และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั้งในด้านกายภาพและระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่
2) การเพิ่มภูมิคุ้มกันและกลไกป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการเพิ่มความเข้าใจและรู้เท่าทันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
และการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการพัฒนากลไกเชิงสถาบันและออกแบบมาตรการบรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ
แม้ว่าในภาพรวมคนไทยมีแนวโน้มจะเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น แต่อินเทอร์เน็ตอาจจะยังคงเป็นสินค้าเอกชนที่มีราคาแพงและเป็นภาระที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยบางกลุ่ม
โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และยิ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศก็มีน้อยลง การแข่งขันที่น้อยลงอาจจะทำให้ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตในระยะยาวไม่สามารถถูกลงกว่านี้ได้ ก็จะยิ่งทำให้มีคนตกขบวนจากการไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
การใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อเปิดให้ทุกคนได้มีโอกาสแสวงหาประโยชน์ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม
รวมถึงเป็นขุมพลังสำคัญที่จะช่วยกันต่อยอดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และเป็นภาพอนาคตที่คนไทยจะก้าวไปด้วยกันและก้าวไปได้ไกลได้อย่างแท้จริง