ภาคประชาสังคม-นักวิชาการ ร้องเดินหน้าประชาธิปไตย เคารพมติเสียงข้างมาก
2 ข้อเรียกร้ององค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคม ผลักดันเดินหน้าประชาธิปไตย แนะเคารพเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2566 ) องค์กรภาคประชาสังคมมากกว่า 70 องค์กร อาทิเช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ-ประเทศไทย กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย(Non-Binary Thailand)
เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี-ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันปรีดี พนมยงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ฟังเสียง 'New Gen' บนจุดยืนการเลือกตั้ง 66 ตั้งรัฐบาลไม่โดนใจ จะเกิดอะไร?
งานแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ SAY YES อยากทำงานด้วยมากที่สุด
เปิดวิธีทำให้ “คนรุ่นเก่า” ในองค์กร รับฟังเสียงของ “คนรุ่นใหม่”
รวมทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนกว่า 393 คน อาทิ นางทิชา ณ นคร นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นายจะเด็จ เชาวน์วิไล นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ นายธารา บัวคำศรี นายประยงค์ ดอกลำใย ดร.กฤษฎา บุญชัย นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
นายสมบูรณ์ คำแหง น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล น.ส.สุภาวดี เพชรรัตน์ น.ส. สิรินาฏ ศิริสุนทร นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท และ นายชูวิทย์ จันทรส เป็นต้น ได้ลงชื่อเรียกร้องต่อสมาชิกวุฒิสภา นักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเดินหน้าประชาธิปไตย และเคารพเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ
2 ข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคม
โดยในข้อเรียกร้องได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยวิถีประชาธิปไตย โดยเลือกพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ รวม 313 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม
แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจถูกขัดขวางจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยการลงมติไม่เห็นชอบ หรือไม่ออกเสียงเมื่อมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย และจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมา จึงมีข้อเรียกร้อง 2 ประการคือ
1. ให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติสนับสนุนชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เคารพต่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมากกว่าจะมุ่งสืบทอดอำนาจกลุ่มบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร
2. เรียกร้องให้สมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีดังกล่าว แม้พรรคการเมืองของตนจะไม่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก เพื่อเคารพคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชน และแสดงเจตนารมณ์ว่าตนและพรรคการเมืองของตนนั้นยึดมั่นต่อวิถีการปกครองตามระบบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น
โดยในท้ายคำแถลงได้ระบุว่า
การลงคะแนนเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา และพรรคการเมืองตามข้อเรียกร้องนี้ มิใช่เป็นข้อเสนอเพื่อสนับสนุนบุคคลใด หรือพรรคการเมืองใดให้เป็นนายรัฐมนตรีและรัฐบาล แต่เป็นข้อเรียกร้องโดยประสงค์มิให้วุฒิสภาและคณะรัฐประหารเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งและสร้างปัญหาทางการเมืองขึ้นมาเสียเอง เพราะนี่คือห้วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านกติกาทางการเมืองที่ให้อำนาจคณะรัฐประหารมีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ไปสู่วิถีการเมืองแบบประชาธิปไตยด้วยสันติวิธีเยี่ยงนานาอารยประเทศ โดยผ่านการลงคะแนนเสียงของประชาชนทั่วประเทศ