พลังคนเคลื่อนคน | ศิริวรรณ สืบนุการณ์
การเกิดขึ้นของความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง การพัฒนาความรู้รูปแบบใหม่และประชาธิปไตย
เหล่านี้เป็นโอกาสและความท้าทายของโลก ที่ต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มิใช่ “ฮีโร่” เพียงหนึ่งเดียว หากแต่เป็นการรวมพลังทางความคิด แรงกาย แรงใจของคนในชุมชน และเครือข่ายผู้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและถิ่นที่ของตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน
การขับเคลื่อนด้วย “คน” ที่ทำงานภาคประชาสังคมเป็นพลังร่วมในการ “เคลื่อน” ขยับและเขยื้อน “คน” ในชุมชนทั้งหมดให้ไปต่อได้ในเส้นทางแห่งความหวังร่วมกัน
เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน วิจัย และสร้างนวัตกรรมการศึกษาเรียนรู้ในชุมนุมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ดำเนินการโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ เน้นให้นักศึกษามีความรู้และทักษะแบบสหวิทยาการที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ผ่านศาสตร์หลายแขนง
ได้แก่ การทำงานร่วมกับชุมชน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง การอำนวยการเรียนรู้เบื้องต้น การคิดและออกแบบเชิงนวัตกรรม และการศึกษาและความเสมอภาค
เพื่อเปิดมุมมองใหม่ต่อความเข้าใจในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะการศึกษาในระบบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมในสังคม
นอกจากนั้น นักศึกษาจะได้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม ผ่านแนวคิดการออกแบบโดยยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) โดยใช้หลักการคิดเชิงออกแบบเป็นแกน (Design Thinking)
การจัดการเรียนการสอน มุ่งให้ผู้เรียนตระหนักถึงประเด็นปัญหาในชุมชนและความสำคัญของการศึกษาชุมชน เข้าใจกระบวนการในการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลของชุมชน
ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ ในการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากชุมชน โดยก่อนลงฝึกปฏิบัติภาคสนาม จะมีการเตรียมความพร้อมผู้เรียน
เช่น ให้แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดทางสังคมและมานุษยวิทยา จริยธรรมในการทำงานกับเพื่อนมนุษย์ ทักษะการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือ 7+1 ชิ้น เรียนรู้ชุมชน
“แผนผังการเรียนรู้ในชุมชน” เป็นเครื่องมือชิ้นที่ 8 ที่ทีมอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากเครื่องมือ 7 ชิ้นในการเรียนรู้วิถีชุมชนของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ประกอบด้วย แผนที่เดินดิน แผนผังเครือญาติ ประวัติชีวิต ประวัติชุมชน ปฏิทินชุมชน โครงสร้างองค์กรชุมชน แผนผังสุขภาพ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2559) ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการมองชุมชน เป็นเสมือนภาชนะว่างเปล่า ขาดการเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือวางแผนนโยบายอย่างผิดพลาด
แผนผังการเรียนรู้ในชุมชน คือ ผังแสดงการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน มีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจปรากฏการณ์ และทำความเข้าใจระบบการบ่มเพาะวัฒนธรรมการเรียนรู้ของชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม
ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นนักวิทยาการเรียนรู้ โดยพิจารณาจาก 3 ก้อนหลักๆ คือ
1) ในระบบ (formal) ซึ่งมีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน หลักสูตรถูกออกแบบมาอย่างตายตัวและมีวิธีการวัดและประเมินผลที่ชัดเจน เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย อาชีวศึกษา เป็นต้น
2) นอกระบบ (non formal) แม้จะเป็นการเรียนรู้ที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน แต่จะตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของบุคคลมากกว่า เวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ การออกแบบหลักสูตร และวิธีการวัดและประเมินผลมีความยืดหยุ่นกว่า เช่น การศึกษาผู้ใหญ่ การเข้าอบรมระยะสั้นในหลักสูตรต่างๆ กศน. เป็นต้น
3) ตามอัธยาศัย (informal) ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากความสนใจใคร่รู้ของผู้เรียน ที่อยู่นอกเหนือจากหลักสูตรที่จัดตั้งขึ้นมาหรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น การเข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาต่างๆ จากปราชญ์ชาวบ้านในบ้านของเขา การเข้าไปอยู่ในธรรมชาติและได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตอันสงบสุข เป็นต้น
การเรียนรู้ในก้อนที่ 3 โดยส่วนใหญ่จะมีความข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากทุนที่ชุมชนมีอยู่ ทั้งทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม
และส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากตัวคนในชุมชนเอง ไม่ได้มาจากการจัดตั้งขององค์กรหรือภาครัฐ โดยองค์ความรู้นี้มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (tangible) และจับต้องไม่ได้ (intangible)
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในผังการเรียนรู้ในชุมชน หากนักศึกษาไม่ได้ลงพื้นที่ชุมชน ทำความเข้าใจวิถีชุมชนอย่างลงลึก พวกเขาอาจจะมองเห็นเพียงแค่การเรียนรู้ที่มีอยู่ในระบบ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือนอกระบบ เช่น กศน. การศึกษาผู้ใหญ่ต่างๆ ที่ถูกจัดตั้งจากส่วนกลาง และอาจละเลยมุมมองคุณค่าและทุนที่มีอยู่ในมนุษย์
เช่น ภูมิปัญญาในชุมชนนั้น การถ่ายทอดและส่งต่อวัฒนธรรม การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเรียนรู้ของพื้นที่ ที่สะท้อนผ่านวิถีที่ชุมชนนั้นดำรงอยู่อย่างแท้จริง โดยในหลายพื้นที่มันเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนหรือพัฒนาชุมชนนั้นๆ และ อาจนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาที่บิดเบือน ไม่ตรงจุดในภายภาคหน้าได้
รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ เน้นว่า เครื่องมือชิ้นนี้จึงน่าจะช่วยตอบข้อสงสัย คำถามยอดฮิตที่ว่าทำไมเรียนคณะนี้แล้วต้องลงชุมชนได้ ไม่มากก็น้อย
ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ คือการร่วมพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนสู่สำนึกความเป็นพลเมืองในฐานะของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้น บทบาทหน้าหนึ่งที่สำคัญคือการพัฒนาตนเอง รวมถึงการพัฒนาสิ่งรอบข้างให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีงาม
ในขณะที่การสร้างสำนึกนั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ หรือเข้าถึงรายละเอียดต่างๆ ด้วยวิธีการปฏิบัติในพื้นที่จริง และมองเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์หรือปัญหาต่างๆ คือ การทำความเข้าใจชุมชน
สอดคล้องกับมุมมองความคิดที่ว่า “...ชุมชนคือต้นทาง ร่วมสร้างนวัตกรรม...” ซึ่งเป็นเนื้อร้องบางส่วนของเพลงประจำคณะฯ ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ที่เน้นการทำความเข้าใจรากฐานของสังคม จากแนวคิดดังกล่าวทางคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มองเห็นคุณค่าและจัดให้เป็น “กระบวนการเรียนรู้” ภายใต้รายวิชาชุมชนกับการเรียนรู้ (Community & Learning).