NIA ขับเคลื่อน 'นวัตกรรมสังคม' ดาวรุ่งใหม่น่าจับตา

NIA ขับเคลื่อน 'นวัตกรรมสังคม' ดาวรุ่งใหม่น่าจับตา

NIA เผยแผนนวัตกรรมเพื่อสังคมลุยฟื้นฟูประเทศปี 64-67 หลังวิกฤติสุขภาพทั่วโลก พร้อมโชว์ผู้ประกอบการสนใจทำนวัตกรรมสังคมร่วม 900 โครงการ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เปิดแผนการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมสังคมปี 2564-2567 พร้อมกำหนด 4 เป้าหมายหลัก คือ ปี 2564 การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมในการฟื้นฟูประเทศจากภาวะวิกฤติ ปี 2565 การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมสู่ระดับภูมิภาค ปี 2566 การสร้างเครือข่ายและสร้างผลกระทบเชิงสังคม และปี 2567 การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคม นอกจากนี้ ยังปรับแผนการดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เป็นเครือข่ายร่วมกับ NIA ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมเผย 8 เดือน (ตุลาคม 2562-พฤษภาคม 2563) มีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อขอรับการสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 871 โครงการ

159127541226


ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว NIA จึงได้วางแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับบริบท ของประเทศหรือของโลก โดยอาศัยการมองภาพอนาคตเป็นเครื่องมือในการกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงมหภาคที่เป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในรูปแบบโมเดล Quintuple Helix ที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน สามารถสร้างโอกาสทางนวัตกรรมเพื่อสังคมที่หลากหลายมากขึ้น

โดยกำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้ ได้แก่ ปี 2564 เป็นปีที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมในการฟื้นฟูประเทศจากภาวะวิกฤติ ปี 2565 นวัตกรรมเพื่อสังคมสู่ระดับภูมิภาค ปี 2566 สร้างเครือข่ายและสร้างผลกระทบเชิงสังคม และปี 2567 เป็นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้รับการบ่มเพาะ เชื่อมโยง ส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเป็นระบบ จนทำให้ประเทศไทยสามารถแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการนำนวัตกรรมเพื่อสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ พร้อมทั้งสามารถพัฒนาโครงการที่เกิดผลกระทบเชิงสังคมที่สำคัญในระยะต่อจากนี้ไป

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า การเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมในปีนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 มีนวัตกรทั้งที่เป็น ผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชน ให้ความสนใจยื่นข้อเสนอโครงการจำนวนทั้งสิ้น 871 โครงการ แบ่งเป็นโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบเปิด โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และผลงานนวัตกรรมผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม

159127546798


จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 NIA ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากภาวะดังกล่าวด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคม ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เป็นเครือข่ายร่วมกับ NIA ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคเหนือตอนบน 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคใต้ชายแดน ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การบริการเข้าถึงชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ กลุ่มประชากรที่เปราะบาง เช่น กลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยง ป้องกัน ฟื้นฟู สร้างรายได้และอาชีพใหม่ ตลอดจนส่งเสริมสวัสดิการสังคมแก่ผู้ด้อยโอกาส โดยจะสนับสนุนผลงานที่มีความโดดเด่น และดำเนินการจริงในพื้นที่เป้าหมายผลงานละไม่เกิน 300,000 บาท

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องอย่างโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ในปีนี้มีผู้ที่สนใจและขอรับการสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 78 ผลงาน ใน 3 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนแคนดง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 21 ผลงาน ชุมชนท่าเรือ จ.นครพนม จำนวน 38 ผลงาน และชุมชนหนองตะเคียนบอน จ.สระแก้ว จำนวน 19 ผลงาน ทั้งนี้มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการขึ้นทะเบียนผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่พร้อมใช้งาน จำนวนทั้งสิ้น 15 ผลงาน ในด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร นวัตกรรมด้านปศุสัตว์ และนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวชุมชน และเมื่อรวมกับผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมในปีก่อน ๆ อีก 48 ผลงาน ปัจจุบันในโครงการนี้จึงมีผลงานที่พร้อมใช้งานรวมทั้งสิ้น 63 ผลงาน

159127548855


อีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความสนใจคือโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน หรือ City & Community Innovation Challenge 2020 ในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมทั้งสิ้น 412 ราย ได้แก่ นวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก 83 ราย ผ่านการคัดเลือก 38 ราย นวัตกรรมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 117 ราย ผ่านการคัดเลือก 52 ราย นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ 212 ราย ผ่านการคัดเลือก 62 ราย โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 8 ลำดับแรกของแต่ละด้านจะได้รับพิจารณาสนับสนุนโครงการในระยะต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนมิถุนายนปีนี้ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด หรือสนใจขอรับการส่งเสริมโครงการนวัตกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand