'มศว' ปรับหลักสูตรรับ 'เด็กยุคใหม่' เลือกทักษะที่สนใจ ใช้งานได้จริง

'มศว' ปรับหลักสูตรรับ 'เด็กยุคใหม่' เลือกทักษะที่สนใจ ใช้งานได้จริง

มศว พัฒนาการเรียนการสอน ปรับหลักสูตร เลือกเสรีกว่า 170 วิชา รับความต้องการ 'เด็กยุคใหม่' เลือกเรียนได้ตามทักษะที่ต้องการ สามารถนำไปใช้งานได้จริง พร้อมเดินหน้า นำเทคโนโลยีพัฒนาระบบ เดินหน้าหลักสูตรอินเตอร์ ขยายรับนิสิตต่างชาติมากขึ้น

Key Point : 

  • มศว นับเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในฝันและยอดนิยมของเด็กๆ หลายคน ปัจุจบันมีนิสิตกว่า 27,000 คน โดยกว่า 90% เป็นเด็กไทย และยังได้รับความนิยมจากต่างชาติโดยเฉพาะการเรียนภาษาไทย
  • ที่ผ่านมา มศว มีการปรับหลักสูตรวิชาเลือกเสรีกว่า 170 รายวิชา เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสเลือกตามทักษะที่ตนเองสนใจ และสามารถนำไปใช้ได้ทันที 
  • อีกทั้ง ยังมีการนำดิจิทัลมาใช้ในระบบการศึกษา เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรให้อินเตอร์เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายไปสู่กลุ่มอาเซียน และประเทศอื่นๆ ต่อไป 

 

 

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ มศว (Srinakharinwirot University -SWU) นับเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีประวัติยาวนาน พัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงและวิทยาลัยวิชาการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงสถาปนาเมื่อพุทธศักราช 2492 ยกฐานะเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อพุทธศักราช 2496 และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อพุทธศักราช 2517

 

โดยในปีนี้ มศว มีนิสิตรับปริญญาราว 7,000 คน และมีนิสิตทั้งมหาวิทยาลัยรวมกว่า 27,000 คน มากกว่า 90% เป็นนิสิตไทย อีกทั้งได้รับความสนใจจากเด็กๆ ต่างชาติเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลักสูตรภาษาไทย

 

ขณะเดียวกัน ในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น องค์ความรู้ต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ และเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งซอฟต์สกิล ฮาร์ดสกิล และทักษะต่างๆ นอกเหนือจากการเรียนในหลักสูตรหลัก ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่ส่งเสริมความรู้ จึงต้องปรับตัว ปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดรับกับความต้องการ

 

\'มศว\' ปรับหลักสูตรรับ \'เด็กยุคใหม่\' เลือกทักษะที่สนใจ ใช้งานได้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

รศ.ดร.สมชาย สันติวิวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า มศว มีการปรับหลักสูตรตามใจผู้เรียน เพราะในปัจจุบัน การกำหนดว่าเด็กจะต้องรู้อะไรบ้าง ไม่ได้อีกต่อไป แต่เป็นการออกแบบหลักสูตรตามความต้องการของเด็กจริงๆ ว่าเด็กต้องการเรียนอะไร ดังนั้น มหาวิทยาลัย จึงมีการพัฒนาวิชาเลือกเสรี 170 วิชา ที่เด็กสามารถเลือกเรียนได้อย่างเสรี และสามารถนำไปใช้งานได้จริง ถือเป็นการปรับตามยุคสมัย

 

ถัดมา คือ เรื่องของดิจิทัลที่มาแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึง เมตาเวิร์ส (Metaverse) ต้องปรับเพื่อรองรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และเตรียมอินเทอร์เน็ตให้พร้อม และระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อให้เด็กๆ สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และในอนาคต จะมีการปรับรูปแบบห้องสมุดเป็น e-Library ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องสมุดอีกต่อไป แต่สามารถอ่านหนังสือในรูปแบบ E-Book และ E-Journal ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

 

“ตอนนี้กระแสมาแรง คือ ชุดวิชาเลือกเสรีที่เปิดมาแล้ว มี 170 ชุดวิชาที่ให้เด็กทั้งมหาวิทยาลัยเลือก มีการปรับหน่วยกิตให้เด็กเรียนเลือกเสรีเป็นซอฟต์สกิล หรือ วิชาที่ทำให้เขานำทักษะต่างๆ ไปใช้งานได้ทันทีราว 21 หน่วยกิต”

 

\'มศว\' ปรับหลักสูตรรับ \'เด็กยุคใหม่\' เลือกทักษะที่สนใจ ใช้งานได้จริง

 

 

หลักสูตรยอดนิยม มศว

 

หากถามว่าหลักสูตรยอดนิยม อธิการบดี มศว กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นด้าน COSCI (College of Social Communication Innovation) ถัดมา คือ เรื่องของภาษาคณะมนุษยศาสตร์ เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่สนใจด้านภาษา โดย มศว มีการเรียนการสอนทั้งหมด 6 ภาษาอาเซียน เช่น บาฮาซา เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทั้งหลักสูตรระยะสั้น 3 เดือน และระยะยาว ซึ่งภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ภาษาไทย ของ มศว. ได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นโดยเฉพาะจากประเทศจีน มีนักศึกษาจากประเทศจีนมาเรียนภาษาไทยทั้งระดับปริญญาโท ปริญญาเอก

 

“นอกจากนี้ เรามีทุนของวิเทศสัมพันธ์ของรัฐบาลที่ให้เด็ก เช่น จากประเทศเวียดนามมาเรียน 4 เดือน สามารถพูดภาษาไทยได้ โดยให้เขาจัดอีเวนต์ เป็นพิธีกรพูด ซึ่งเขาสามารถทำได้เลย และบางคนหากสนใจ ก็จะมาเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอกเป็นภาษาไทยเพื่อประกอบอาชีพ”

 

โควิดกับการปรับตัว

ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 เรียกว่าเป็นช่วงที่เป็นตัวเร่งให้เข้าใกล้ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น อธิการบดี มศว. กล่าวต่อไปว่า เรามีการปรับตัวตั้งแต่เจอโควิด-19 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 มีการประกาศให้ใช้การเรียนออนไลน์ โดยจัดอบรมอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมการเรียนการสอนด้านออนไลน์ วิธีการบันทึก วิธีการสอนที่น่าสนใจ เด็กไม่เบื่อ

 

และปัจจุบัน เมื่อสามารถเรียนออนไซต์ได้แล้ว ก็มีการปรับเป็นออนไซต์เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีบางครั้งที่เป็น Hybrid หรือบางครั้งอาจารย์อยู่ที่ต่างประเทศ ก็จำเป็นจะต้องปรับไปเรียนออนไลน์ 100% ก็มีเช่นเดียวกัน อีกทั้ง มีนิสิตต่างชาติ เช่น จีน ที่ยังคงเรียนออนไลน์

 

\'มศว\' ปรับหลักสูตรรับ \'เด็กยุคใหม่\' เลือกทักษะที่สนใจ ใช้งานได้จริง

 

ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม

 

ในปีนี้ มศว มีนิสิตที่เข้ารับปริญญาราว 7,000 คน จำนวนนิสิตทั้งหมดราว 27,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมากกว่า 90% และเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีดารานักแสดงเข้าเรียนจำนวนไม่น้อย 

 

อธิการบดี มศว กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัย เราส่งเสริมเด็กทุกกิจกรรม เพราะมีนักกีฬาซีเกมส์ นักกีฬาลีลาศ นักกีฬาฟุตบอล ฯลฯ และดารานักแสดงก็เยอะ แต่ทุกคนสามารถขาดเรียนได้แค่ 3 ครั้งเท่ากัน เพราะเราปฏิบัติกับทุกคนเท่ากัน เด็กต้องรับผิดชอบในการแบ่งเวลา บางคนอาจจะยอมรับว่า ขอเลือกเรียนและทำงานคู่กัน งานเขาก็ทิ้งไม่ได้เพราะอยู่ในช่วงกำลังพีคทำให้ยอมที่จะจบหลังเพื่อนแต่ก็ถือเป็นส่วนน้อย 

 

"เราปฏิบัติกับเด็กทุกคนเหมือนกัน ทุกคนจ่ายค่าเทอมเท่ากันทั้งหมด และเราไม่ได้บอกว่าคุณลงเรียนแล้วคุณต้องจบ เพราะหากไม่เรียนก็ไม่จบ ไม่เช่นนั้นจะเสียระบบ เราไม่เคยให้อภิสิทธิ์ใคร เรียนก็ต้องเรียน ขาดได้แค่ 3 ครั้งต่อวิชาต่อเทอม ไม่เช่นนั้นจะตอบคำถามเด็กคนอื่นไม่ได้" 

 

ทั้งนี้ หลังจากเด็กๆ จบไป สิ่งที่มหาวิทยาลัยอยากจะให้เด็กๆ ได้กลับไปนอกจากใบปริญญา รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ต้องบอกว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ รับใช้สังคม เราจึงต้องสร้างให้เด็กของเราเป็นคนที่มีจิตอาสา มีความรู้ แต่หากไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่มีความดีอยู่ในตัว ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้ร่วมงาน ผู้อยู่รอบข้าง เรียกว่าไม่มีพรหมวิหาร 4 คือ ไม่มีเมตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ไร้ประโยชน์ เหมือนสร้างคนแต่หยาบเกินไป เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างจิตใจเขาให้อ่อนโยนด้วย

 

“เป้าหมายระยะยาวของมหาวิทยาลัย ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นอินเตอร์ เพราะตอนนี้เราพยายามขยายในอาเซียน และจะขยายต่อไปให้กว้างขึ้น ปรับหลักสูตรให้เป็นอินเตอร์มากขึ้น พอมีหลักสูตรอินเตอร์เยอะๆ ก็จะสามารถดึงดูดประเทศรอบข้างของเราได้มากขึ้น” อธิการบดี มศว กล่าวทิ้งท้าย

 

\'มศว\' ปรับหลักสูตรรับ \'เด็กยุคใหม่\' เลือกทักษะที่สนใจ ใช้งานได้จริง