'ครูอาจารย์ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร' มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยมากที่สุด
โพล วธ. เผยแข่งแต่งกลอน คัดลายมือ สวดมนต์ หนุนการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง 'ครูอาจารย์ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร' มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยมากที่สุดในปัจจุบัน พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อให้เด็กและประชาชนเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าภาษาไทย ภาษาประจำชาติ
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อ 'วันภาษาไทยแห่งชาติ' ประจำปี 2566 (29 กรกฎาคม 2566) จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,402 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.)เปิดเผยว่าจากการสำรวจดังกล่าว พบว่า
1. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่
- ร้อยละ 79.29 ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี
- ร้อยละ 20.71 ไม่ทราบ
2. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าภาษาไทยมีความสำคัญ
- อันดับ 1 เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ร้อยละ 78.98
- อันดับ 2 เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ร้อยละ 54.09
- อันดับ 3 เป็นสื่อที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี และสุนทรียภาพ ร้อยละ 52.16
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิตามินเสริมสำหรับ 'คนวัยทำงาน' นอนดึกอย่างไร...ก็ไม่โทรม
โรคใหม่ที่ควรรู้! มากับยุง 'ไข้เลือดออก-เชื้อไวรัสซิกา'
รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย
'ครูอาจารย์ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร' ต้นแบบการใช้ภาษาไทยที่มีอิทธิพลต่อเด็ก
3. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยในยุคปัจจุบัน 5 อันดับแรก คือ
- อันดับ 1 โรงเรียน/มหาวิทยาลัย/สถานศึกษา ร้อยละ 75.57
- อันดับ 2 หอสมุดแห่งชาติ ร้อยละ 56.2
- อันดับ 3 ห้องสมุดออนไลน์ ร้อยละ 48.02
- อันดับ 4 ห้องสมุดประชาชน ร้อยละ 46.06
- อันดับ 5 พิพิธภัณฑ์ ร้อยละ 43.17
4. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยมากที่สุดในปัจจุบัน
- อันดับ 1 ครูอาจารย์ ร้อยละ 67.20
- อันดับ 2 ผู้ประกาศข่าว ร้อยละ 63.50
- อันดับ 3 พิธีกร ร้อยละ 58.33
- โดยศิลปิน/ดารา และนักพูด น้อยที่สุด
5. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าจะมีส่วนช่วยสืบสาน อนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป 5 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 พูด อ่าน เขียน ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ ร้อยละ 85.61
อันดับ 2 การพูดออกเสียงภาษาถิ่น ภาษาพื้นเมือง และภาษาไทยกลางให้ถูกต้อง ร้อยละ 63.73
อันดับ 3 ตั้งใจเรียนรู้และถ่ายทอดภาษาไทยอย่างถ่องแท้ ร้อยละ 58.56
อันดับ 4 ร่วมเผยแพร่ภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติเมื่อมีโอกาส ร้อยละ 51.97
อันดับ 5 อื่น ๆ อาทิ ฟังหรือร้องเพลงไทย เป็นต้น ร้อยละ 1.03
วธ. เดินหน้าพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้กับเด็ก และประชาชน
6. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่ากิจกรรม ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ภาษาไทย 5 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 การแข่งขันทักษะทางภาษาไทย อาทิ การแต่งกลอน การคัดลายมือ และการประกวดคลิปวิดีโอ ร้อยละ 63.20
อันดับ 2 การแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรมไทย ร้อยละ 61.28
อันดับ 3 ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลใช้ภาษาไทยดีเด่น ร้อยละ 48.14
อันดับ 4 การตอบปัญหา ทำแบบทดสอบ เพื่อรับเกียรติบัตร ร้อยละ 41.97
อันดับ 5 การสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ ร้อยละ 40.64
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เด็กและเยาวชน ประชาชน เสนอให้ วธ. มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา วธ. และหน่วยงานในสังกัด ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
อาทิ กิจกรรมทางวิชาการด้านภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นิทรรศการ อภิปรายทางวิชาการ การประกวดงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง การอ่านทำนองเสนาะ การขับเสภาและเล่านิทาน อ่านหนังสือ ร้องเพลง
ส่งเสริมกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในการสอนทักษะการพูด อ่าน เขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องให้แก่เด็กและเยาวชน เช่น การจัดทำสื่อโปสเตอร์ อินโฟกราฟิก ละครสั้นด้านวรรณคดีกับเหตุการณ์ความเจริญยุคใหม่
รณรงค์ให้บุคคลต้นแบบอาชีพต่าง ๆ อาทิ ดารา พิธีกร ยูทูบเบอร์ เป็นต้นแบบการใช้ภาษาไทย ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน รวมไปถึงร่วมจัดให้มีกิจกรรมการประกวดคัดลายมือ การเขียนเรียงความ การแต่งโคลง กาพย์ กลอน การโต้วาที การอภิปราย เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน เกิดความภาคภูมิใจ เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย