'อุ่นใจไซเบอร์' ติดอาวุธครู-นักเรียนยุคใหม่ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

'อุ่นใจไซเบอร์' ติดอาวุธครู-นักเรียนยุคใหม่ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

กทม. จับมือ AIS เดินหน้าขยายผลหลักสูตร 'อุ่นใจไซเบอร์' สู่ 437 โรงเรียนสังกัด กทม. ครอบคลุมบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลให้บุคลากร เยาวชน นักเรียน กทม. รู้ทันภัยไซเบอร์

Key Point: 

  • ปัจจุบัน เยาวชนไทย ตกเป็นเหยื่อถูกกลั่นแกล้ง หลอกลวง ผ่านทางโลกไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น จากการเข้าถึงได้ง่าย
  • ปัญหาที่เจอบ่อยที่สุดของยุคดิจิทัล อันดับ 1 คือ การติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ถัดมา คือ Cyberbullying รวมถึง การนัดพบคนที่ไม่รู้จักทางช่องทางออนไลน์ 
  • ล่าสุด กทม.ร่วมกับ AIS กรมสุขภาพจิต และ มจธ. ขยายผล ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครูนักเรียน โรงเรียนสังกัดกทม. 437 แห่ง สร้างภูมิคุ้มกัน ใช้ไซเบอร์ปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

การก้าวสู่โลกยุคดิจิทัลในปัจจุบัน ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นในหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่งอาจทำให้เกิดโทษหากไม่รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจตกเป็นเหยื่อ ดังนั้น การสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่เยาวชน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา ในสถาบันการศึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

ข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยงานวิจัยล่าสุดที่เก็บข้อมูลในปี 2566 พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 40 เคยเห็นเหตุการณ์การกลั่นแกล้ง และมีคนที่เคยตกเป็นเหยื่อกว่าร้อยละ 30 ส่วนใหญ่มาในช่องทางโซเชียลมีเดียที่เด็กใช้ และสิ่งที่น่าสนใจ คือ ความรุนแรงมักจะอยู่ในแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องโชว์ตัวตน ทำให้ความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวัย ม.ปลายจนถึงมหาวิทยาลัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย และมีหลายแพลตฟอร์ม 'ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์' คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การรังแกทางโลกโซเชียล หมายถึง การรังแก ดูถูก คุกคาม ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งร้ายชัดเจนและกระทำการรังแกซ้ำๆ ต่อเหยื่อหรือผู้ถูกรังแก ซึ่งเหยื่อหรือผู้ถูกรังแกจะรู้สึกว่าถูกคุกคาม และก่อให้เกิดความทุกข์ใจ

 

จุดที่ทำให้ Cyberbullying ต่างจาก Bully ปกติ เพราะช่องทางมีมากกว่า 1 ช่องทาง มีการกระทำซ้ำๆ มุ่งร้าย เพราะไม่มีการแสดงตัวตน ไม่มีใครเห็น และ No safe place เพราะการที่ใครสักคนตกเป็นเหยื่อ เราจะหาพื้นที่ปลอดภัย สิ่งกระทบที่สุดของการเป็นเหยื่อคือการหมดหนทาง โลกไซเบอร์ การรังแกบนไซเบอร์เกิดได้ทุกที่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตามไปทุกที่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ เหตุไม่ได้จบเฉพาะหน้าแล้วจบ ความรุนแรงการถูกกลั่นแกล้งจึงมากขึ้น ในไทยมีงานวิจัย เกี่ยวกับ Cyberbullying เยอะแต่ไม่มีการวิจัยที่เหยื่อโดยตรง ส่วนใหญ่จะถามคนทั่วไป เพราะการถามเหยื่อเป็นเรื่องยากที่จะตอบ

 

สถานการณ์ในไทยที่พบมาก

 

1.การโจมตีหรือใช้วาจาหยาบคาย

2.การคุกคามทางเพศออนไลน์

3.การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น

4.การแบล็คเมล์

5.การหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ

6.การสร้างกลุ่มในเครือข่ายสังคมและโจมตีบุคคลที่ตนเองไม่ชอบ

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' ติดอาวุธครู-นักเรียนยุคใหม่ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

 

อุ่นใจไซเบอร์ ติดอาวุธ ครู - เยาวชน

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 กรุงเทพมหานครฯ จับมือ AIS และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’ ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ที่มีทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน

 

ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัล พร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ให้มีอยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว หรือแม้แต่รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องเหมาะกับแต่ละสถาบันการศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

 

สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์

 

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลสำหรับ ข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ว่า สิ่งแรกที่ตื่นนอน เราจะอยู่ในโลกออนไลน์ เรียกว่าเป็นโลกคู่ขนานกับเราเรื่อยๆ ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ แต่มีโลกดิจิทัลด้วย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ชีวิตครึ่งหนึ่งของเขา ความสุขครึ่งหนึ่งของเราอยู่ในโลกดิจิทัล และไม่ว่าจะโลกแห่งความเป็นจริงหรือดิจิทัล ก็มีทั้งความสุข ความทุกข์ ความจริง การหลอกลวง รังแก และเอื้ออาทร มีทุกอย่างที่เป็นโลกคู่ขนานกันไปเรื่อยๆ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัลให้มีความสุขและปลอดภัยได้อย่างไร

 

“ภัยไซเบอร์ มีทั้งการถูกกลั่นแกล้ง หลอกลวง หลอกให้ส่งรูป มีการเอาโปรไฟล์แอบเพื่อทำอะไรบางอย่าง หากไปคุยกับเด็กจริงๆ จะพบว่า เขาเคยเจอหนึ่งในเหตุการณ์เหล่านี้กว่า 90% เพียงแต่ว่าจะเกิดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน อันนี้แล้วแต่คน สิ่งเหล่านี้มีปัญหาหลายอย่าง ภัยในโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่กดลิงค์ โอนเงิน หรือต่อว่ากัน แต่มีมากกว่านั้น”

 

ปัญหาที่เจอบ่อยที่สุด ในเยาวชน คือ การติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต บางคนไม่ได้เล่นเกม แต่ดูคลิปทั้งวัน เพราะบางครอบครัวเด็กก็ไม่ได้เป็นเด็กแย่ แต่ทุกบ้านมักจะมีปัญหาในการใช้เวลากับเกมและอินเทอร์เน็ต ถัดมา คือ Cyberbullying เพราะการโพสต์รูปง่าย ตั้งกลุ่ม ทุกอย่างง่ายไปหมดทำให้การกลั่นแกล้งตามมา รวมถึงการนัดพบคนที่ไม่รู้จักผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' ติดอาวุธครู-นักเรียนยุคใหม่ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

นำร่องพื้นที่ กทม.

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษา คือหนึ่งในภารกิจของกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายเรียนดีของผู้ว่าฯ กทม.ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเนื้อหาหรือแม้แต่ทักษะด้านดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพ ซึ่งความร่วมมือกับ AIS รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้ยกระดับไปอีกขั้น

 

"ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ให้แก่นักเรียน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 437 แห่ง ซึ่งจะทำให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย”

 

ใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์

 

ด้าน สายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ

 

"หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช. โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป”

 

\'อุ่นใจไซเบอร์\' ติดอาวุธครู-นักเรียนยุคใหม่ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

 

สำหรับ ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’ นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์

4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิก