'งานวิจัย-วัฒนธรรมข้อมูล'เครื่องมือช่วยเด็กไทยหลุดพ้นสภาวะความรู้ถดถอย

'งานวิจัย-วัฒนธรรมข้อมูล'เครื่องมือช่วยเด็กไทยหลุดพ้นสภาวะความรู้ถดถอย

เด็กไทยหลุดพ้นสภาวะความรู้ถดถอย ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการศึกษามีคุณภาพต้องอาศัย 'งานวิจัย-วัฒนธรรมข้อมูล' เป็นเครื่องมือสำคัญ แนะต้องลงทุนด้านงบประมาณ คน และการเชื่อมโยงองค์ความรู้ พลิกโฉมการศึกษาไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และองค์การยูนิเซฟ พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายทางด้านการศึกษา จัดการประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 17 การพลิกโฉมการศึกษาไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 8-9 สิงหาคม 2566   

โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดเวทีให้แก่ผู้ที่สนใจการศึกษาได้มารับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากงานวิจัย ทำให้มีข้อมูล มีความรู้ด้านวิชาการ

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่าการศึกษามีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างมาก เพราะเป็นความมั่นคงต่อชีวิต ครอบครัว และประเทศชาติ ไม่ว่าจะระดับไหน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา การสร้างคนที่จะมีสมรรถนะสูงในอนาคต จะเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัล ประเทศไทย 4.0  โดยการศึกษาของทุกรุ่นทุกวัย เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมาหารือร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดช่อง! ช่วยเด็กให้พ้นภาวะวิกฤตการศึกษา ทิ้งปมครอบครัวไม่ได้ 

ทำอย่างไร? ถึงจะสร้างผลกระทบเชิงบวก ฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย

สพฐ.รุกพัฒนาระบบเทคโนโลยีใช้บริหาร-จัดการศึกษายุคดิจิทัล

 

ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องเร่งลงทุน 4 ด้าน

“การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีความจำเป็นต้องครอบคลุมเนื้อหาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งโลกได้รับผลกระทบจากสิ่งต่างๆ ที่คาดไม่ถึงจำนวนมาก เช่น โควิด-19 การถดถอยของเศรษฐกิจบ้านเมือง มีผลกระทบต่อการศึกษา และแรงงานต่อคนไทยมาโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนหันมาสนใจการศึกษาต่อจากไปต้องใช้วิทยาศาสตร์​ เทคโนโลยีไอทีเข้ามาช่วย ต้องมีการเตรียมการและเข้าใจว่าการที่จะให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่มีคุณค่า  อย่าง ในการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 มีนักเรียนประมาณ20% ที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ทั้งมีอุปกรณ์และมี Wifi และเนื้อหาต้องเป็นดิจิตอล และที่สำคัญมีครูที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และเนื้อหาดิจิตอลได้” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประเทศอยากเห็นเด็กเรียนออนไลน์ใช้เทคโนโลยีแต่ไทยยังไม่มีเครื่องมือ ไม่มีงบประมาณ  ไม่มีเนื้อหา และไม่มีครูที่มีความรู้เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ดังนั้น อยากให้ผู้วิจัย และผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาเครื่องมือให้ครบแก่นักเรียนของสพฐ.ที่มีประมาณ 1.4 ล้านคนไม่มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์

เมื่อเริ่มต้นไม่มีทั้ง 4ประการนี้ จึงเป็นโจทย์ที่ต้องระดมความคิด ระดมทุน เพื่อจัดอุปกรณ์ให้เด็กเรียนออนไลน์ ลดความเหลื่อมล้ำ และฟื้นฟูการเรียนรู้สถานการณ์โควิด-19 พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดการศึกษาสอดคล้องกับตลาดแรงงานและความต้องการของโลก ลงทุนด้านการศึกษา  การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และพลิกโฉมการศึกษา

 

งานวิจัย ข้อมูล เครื่องมือช่วยเด็กและเยาวชนก้าวข้ามอุปสรรค

ดร.ไกรยศ ภัทราวาท  ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการมีงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีข้อมูลทางด้านวิชาการที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปสู่เป้าหมายตามที่กำหนดไว้ นั่นคือ คุณภาพของเด็ก เยาวชน ครู และสถานศึกษาให้ก้าวพ้นวิกฤตต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน  

กสศ. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม การประชุมวิชาการ การวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สกศ.มองเห็นความสำคัญในการดำเนินงานด้านวิจัย วิชาการมากว่า 17 ปี สิ่งสำคัญที่ระบบการศึกษาไทย ต้องมีความสามารถในการผลิตผลงานวิชาการ วิจัย ข้อมูล เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเกิดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษา ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และเหตุการณ์ที่ทำให้เด็ก ครูและสถานศึกษาไม่เคยอยู่ในสภาวะเหล่านี้มาก่อน

“การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการนำงานวิจัย วัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางวิชาการที่มีมาตรฐาน คุณภาพสูง เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ผู้ปกครอง คุณครู และสถานศึกษาทั่วประเทศมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ในอนาคต มีความเสมอภาคมากขึ้น  อีกทั้งเป็นระบบการศึกษาที่มีความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลง ความแน่นอนที่จะเกิดขึ้น และทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนที่ก้าวออกจากระบบการศึกษาไทยไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่คุณค่าและรวมพัฒนาประเทศได้อย่างเสมอภาคร่วมกัน” ดร.ไกรยศ กล่าว

ดร.สุเทพ แก่นสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีทางด้านวิชาการในการนำเสนองานทางการศึกษา เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย  และยกย่องส่งเสริมนักวิจัยผู้ที่สร้างผลงานที่ทรงคุณค่าในการขับเคลื่อนองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการศึกษา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษา พัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านไอที คน และการเชื่อมโยงระบบ เพื่อทำให้มีงานวิจัย และสามารถเข้าถึงงานวิจัย หรือข้อมูลในการนำมาพัฒนาการศึกษาไทย