ผลวิจัยใหม่ชี้ WFH ประสิทธิภาพทำงานต่ำกว่าพนักงานออฟฟิศ 18%
ผลการศึกษาใหม่พบว่า แรงงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่บ้านเต็มเวลา มีประสิทธิภาพการทำงานน้อยกว่าคนทำงานในออฟฟิศ 18% !
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงาน (4 ส.ค.) ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส พบว่า แรงงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานที่บ้านเต็มเวลา มีประสิทธิภาพการทำงานน้อยกว่าคนทำงานในออฟฟิศ 18%
นักวิจัยที่ศึกษาพนักงานคีย์ข้อมูลจ้างใหม่ในอินเดีย ที่แบ่งให้ทำงานในออฟฟิศและที่บ้าน บอกว่า แรงงานทำงานจากบ้านมีประสิทธิภาพทำงานลดลง 2 ใน 3 ตั้งแต่ทำงานวันแรก และเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พนักงานในออฟฟิศเรียนรู้ได้เร็วกว่าพนักงานที่ทำอยู่บ้านเต็มรูปแบบ
แม้ผู้เขียนไม่ได้คาดเดาว่าผลการศึกษาจะเป็นอย่างไร แต่รายงานนี้ถือเป็นข้อถกเถียงล่าสุดของการโต้แย้งอย่างดุเดือด ในเว็บไซต์สแล็กแชท และในแวดวงวิชาการ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้แรงงานต้อง Work From Home (WFH) เป็นหลัก
ด้าน “โคเซ มาเรีย บาร์เรโร” นักเศรษฐศาสตร์และผู้ก่อตั้งกลุ่มวิจัย WFH ที่คอยศึกษาเกี่ยวกับการทำงานแบบรีโมทเวิร์ก บอกว่า รายงานดังกล่าว สอดคล้องกับรายงานอื่น ๆ ที่พบว่า การทำงานแบบรีโมทเวิร์ก มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ หรือการทำงานแบบไฮบริด
อย่างไรก็ตาม แม้รีโมทเวิร์กทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แต่เขาย้ำว่า การทำงานรูปแบบนี้ยังคุ้มค่าต่อบริษัท เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่งานวิเคราะห์งานใหญ่ของแมคคินซีย์แอนด์โค ที่ศึกษาแรงงานในบริษัทตนเองเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า การทำงานในออฟฟิศ 50% เป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับงานแบบไฮบริดเวิร์ก หากการทำงานออฟฟิศหรือที่บ้านมีสัดส่วนมากกว่านั้น อาจสูญเสียความยืดหยุ่นในการทำงาน และเสียเวลาให้ความสำคัญกับงาน อีกทั้งไม่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานด้วย
งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบอื่น ๆ ก็พบว่า การทำงานแบบไฮบริดเวิร์ก ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพราะพนักงานมีความสุขมากขึ้น และมีโอกาสลาออกน้อยลง