Design4Thailand พัฒนาแผนธุรกิจด้วยหลัก Design Thinking รับความยั่งยืน
Design for Thailand ก่อตั้งโดยนิสิตสถาบันวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (BAScii) พัฒนานิสิตให้เป็น Justice Innovators และ Future Leaders แห่งศตวรรษที่ 21 ยกระดับแผนธุรกิจด้วยหลักคิด Design Thinking
สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (BAScii) ก่อตั้งชมรม Design4Thailand เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม จากการเรียนในวิชา Rethinking Justice for Innovators หนึ่งในวิชาที่ทางสถาบันฯ ร่วมจัดกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เพื่อพัฒนานิสิตให้เป็น Justice Innovators และ Future Leaders แห่งศตวรรษที่ 21โดยมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้
นิสิตชั้นปีที่ 1 ของสถาบันฯ ได้เรียนรู้วิชานี้ โดยมีอาจารย์ปริชา ดวงทวีทรัพย์ เป็นอาจารย์ประจำวิชา นิสิตได้เรียนรู้และสัมผัสปัญหาที่เชื่อมโยงกับประเด็นความยุติธรรมในหลากหลายมิติ ผ่านการจำลองสถานการณ์และการทำความเข้าใจมุมมองของกลุ่มเปราะบาง นอกจากภาคทฤษฎีแล้ว การเรียนยังเน้น project-based ที่ให้นิสิตออกแบบนวัตกรรมความยุติธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
“ทุกคนอยากเห็นและเป็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสร้างความสุขและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น การมาอยู่ใน Design for Thailand ทำให้เรารู้ว่าพวกเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เพียงกล้าที่จะ (เริ่ม) ลงมือทำ” กวินนา ชินประสิทธิ์ชัย กล่าวถึงแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ในการก่อตั้งชมรม ร่วมกับเพื่อน ๆ อาทิ ขอขวัญ เลาอโศก, ชลันธร วิสุทธิแพทย์ และกัลยรักษ์ กฤตพิทยบูรณ์ ปัจจุบัน Design4Thailand มีสมาชิกจำนวน 10 คน เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 และ 2
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Design4thailand เติมเต็มผู้ประกอบการชุมชน
ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการ 'เป็น' ความเปลี่ยนแปลงในสังคม และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาแผนธุรกิจในชุมชนให้เกิดความยุติธรรมและยั่งยืน นิสิตจาก Design4Thailand สวมบทบาทเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม และใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเป็นเครื่องมือสู่การสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลง
“Design thinking ช่วยในการทำความเข้าใจความต้องการและมุมมองของชุมชน และพัฒนาแนวทางแก้ไขที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและยั่งยืน สนับสนุนแนวทางใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคมที่ซับซ้อน และส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือ และการสร้างสรรค์ร่วมกันกับกลุ่มผู้ประกอบการและชุมชน” กวินนา กล่าว
พร้อมอธิบายหลักการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) ตามโมเดลของ D.School Stanford University ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
- เข้าใจปัญหา (Empathize) โดยนำเอาความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) มาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา และทำความเข้าใจพฤติกรรมของ User (ผู้ใช้งาน) หรือกลุ่มเป้าหมาย
- นิยามปัญหาให้ชัดเจน (Define) คือการระบุปัญหา หรือประเด็นที่ต้องการจะแก้ไข (Problem statement)
- ระดมความคิด (Ideate) เป็นการนำเสนอแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มุมมองและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายให้มากที่สุด
- สร้างต้นแบบ (Prototype) คือการแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างง่ายสุด
- ทดสอบ (Test) เป็นการทดสอบกระบวนการ แนวคิด แผนที่วิเคราะห์ว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดประสิทธิภาพที่ดี
พัฒนาแผนธุรกิจตามหลักDesign Thinking
“การคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการและเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ช่วยเราหาโซลูชันที่แตกต่าง และแผนงานที่สร้างสรรค์ ธุรกิจหรือบริการต่างๆ ย่อมมีปัญหาหรือช่องว่างที่ต้องการพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มยอดขายหรือเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เราจึงหวังจะช่วยผู้ประกอบแก้ไขปัญหา ค้นหาคำตอบด้วยการสำรวจ วิจัย และพัฒนาแผนกลยุทธ์ร่วมกัน ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยรวมของธุรกิจ” ขอขวัญ กล่าว
ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ก่อตั้งชมรม พวกเขา Design4Thailand ได้ลงมือทดลองทำ 3 โปรเจกต์ ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างผลสะเทือนทางสังคมได้มากขึ้น อาทิ โปรเจกต์พวงหรีดสร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสและคนชรา โปรเจกต์ถ้วยอนามัยแบรนด์ไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และโปรเจกต์การท่องเที่ยวทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
Design4Thailand ยังได้รับแรงบันดาลใจในการก่อตั้งและการดำเนินการมาจาก Design for America (DFA) เครือข่ายนักประดิษฐ์ที่ใช้ทักษะการคิดเชิงออกแบบเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมในท้องถิ่น พัฒนาโดยคณาจารย์และนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา เพื่อหล่อหลอมผู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมรุ่นต่อไปและยกระดับการเรียนรู้ระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย
3 โปรเจกต์ พัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน
ในระยะเวลา 2 ปีที่ก่อตั้งชมรม Design4Thailand ได้ร่วมพัฒนาแผนธุรกิจกับชุมชนและผู้ประกอบการแล้ว 3 โปรเจกต์ ได้แก่
1) Carenation วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีไอเดียจัดทำพวงหรีดสานบุญ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับการจากไปมากกว่าการจัดพิธีฌาปนกิจศพ โดย Carenation มุ่งเน้นที่จะช่วยสังคมใน 3 ด้าน
- สานบุญชุมชน มุ่งทำงานกับปัญหาผู้ด้อยโอกาสและคนชราที่ไม่มีงานทำ โดยออกแบบพวงหรีดให้ประกอบได้ง่ายเพื่อให้คนชราและเด็กสามารถประกอบได้ เป็นการให้งานสำหรับคนว่างงานที่สามารถทำได้โดยง่าย พวงหรีดทุกพวงประกอบโดยคนในชุมชน ให้โอกาส ให้อาชีพ
- สานบุญสังคม ทำให้ช่องทางการบริจาคโปร่งใส Carenation เป็นคนกลางกับพันธมิตรกับองค์กรที่ดี ลูกค้าจะได้รับใบอนุโมทนาบัตรจากองค์กรนั้น ๆ เพื่อยืนยันว่าได้บริจาคจริง ได้ทำบุญให้ผู้วายชนม์จริง และมีการอัปเดตยอดการบริจาคที่ลูกค้าสามารถดูได้ทุกวันที่โฮมเพจของเว็บไซต์
- สานบุญสิ่งแวดล้อม พวงหรีดที่มีความคล้ายคลึงกับพวงหรีดดอกไม้จริง แต่ทำจากกระดาษรีไซเคิลและไม้จากป่าปลูกเท่านั้น
Design4Thailand เข้ามาเสริมพลังให้กับ Carenation ในการหากลุ่มเป้าหมายสำหรับพวงหรีดกระดาษ ได้กล่าวว่า ไอเดียของ carenation ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย จึงอาจทำให้มีปัญหาเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น Design4Thailand จึงทำวิจัยและลงพื้นที่เพื่อระบุกลุ่มลูกค้าที่ควรสร้างสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์
โดยได้ระบุแผนกลยุทธ์ออกมา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพนักงานวัยกลางคนที่มีรายได้ และอาศัยอยู่ใน กทม. และปริมณฑล กลุ่มชาวจีนเตรียมไหว้บรรพบุรุษในโอกาสพิเศษ และกลุ่มวัยทำงานแรกเข้าและนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยแต่ละกลุ่มจะมีกลยุทธ์การเข้าถึงและสร้างสัมพันธ์กับแบรนด์แตกต่างกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Carenation ติดต่อ https://care-nation.com/our-story/
2) Joie Period Care ธุรกิจผลิตภัณฑ์ถ้วยอนามัยแบรนด์ไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นถ้วยอนามัยที่รองรับประจำเดือนได้มากเท่าผ้าอนามัยแบบกลางวัน 4-5 ชิ้น ใส่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง แถมถ้วยอนามัย 1 ชิ้นยังมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี จึงช่วยลดขยะผ้าอนามัยไปได้กว่า 2,400 ชิ้นตลอดอายุการใช้งาน
สำหรับธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ Design4Thailand ช่วยวิจัยเพื่อทำความเข้าใจมุมมองของผู้หญิงในชุมชนด้อยโอกาสต่อถ้วยอนามัย และนำเสนอไอเดียให้กับ Joie Period Care เกี่ยวข้องกับวิธีการบริจาคและโปรโมตการใช้ถ้วยอนามัยในสังคมดังกล่าว สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Joie Period Care ติดต่อ https://www.facebook.com/cupsofjoie/
3) RJR – โครงการร้อยใจรักษ์ จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพสุจริตแทนการทำสิ่งผิดกฎหมายและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการให้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหายาเสพติดในเขตพื้นที่สังคมเมืองอย่างยั่งยืน
ส่วนที่ Design4Thailand เข้าไปร่วมพัฒนาคือการทำความเข้าใจและโปรโมตการท่องเที่ยวแบบ Alternative Tourism ให้โครงการร้อยใจรักษ์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาและสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในพื้นที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับRJR –โครงการร้อยใจรักษ์ ติดต่อ https://www.maefahluang.org/domestic-program-01/
Design4thailand พร้อมตอบโจทย์ SME เพื่อสังคม
Design4Thailand ยังเปิดรับโครงการใหม่ ๆ ที่ต้องการไอเดียทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นธรรมให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
กัลยรักษ์ กฤตพิทยบูรณ์ หนึ่งในสมาชิก Design4Thailand กล่าวทิ้งท้ายว่า เราเป็นคนหนึ่งที่เคยมีความคิดว่า ตัวเองเป็นแค่เด็ก เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น ความคาดหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ฟังดูเป็นอะไรที่เกินตัวไปหรือเปล่านะ?
แต่หลังจากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Design for Thailand เราก็ได้รู้ว่าความคิดที่อยากจะเริ่มลงมือทำต่างหากคือสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนสังคมของผู้ใหญ่ หรือไม่ว่าจะเป็นเพียงการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของนิสิตนักศึกษาคนหนึ่ง ก็สามารถทำให้สังคมของเราเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้ เราค่อนข้างเชื่อว่าสักวันหนึ่ง สิ่งที่เราและเพื่อน ๆ กำลังทำอยู่ตอนนี้ จะมีความหมายกับใครสักคนในอนาคตอย่างแน่นอน
แม้จะเป็นชมรมที่ตั้งโดยนิสิต BAScii จุฬาฯ แต่น้อง ๆ Design4Thailand บอกว่ายินดีต้อนรับเพื่อนจากคณะอื่นในมหาวิทยาลัยให้มาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกัน
สำหรับผู้ที่สนใจโครงการดี ๆ จากชุมชนหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ instagram : Design4thailand https://www.instagram.com/design4thailand/
อ้างอิง:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย