สกสค.กางแผนพลิกโฉม 'โรงพยาบาลครู'เล็งรักษาทางไกล
'พิเชฐ รักษาการเลขาธิการสกสค.' กางแผนพลิกโฉม 'โรงพยาบาลครู' เปลี่ยนระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็น Digital Transformation to Smart hospital เล็งรักษาทางไกล พร้อมรีโนเวทอาคารหอพัก 4 ชั้น ขยายบริการด้านการแพทย์ – ล้างไต - ตั้งศูนย์ Lab
ดร. พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลครู เป็นหนึ่งในภารกิจด้านการจัดสวัสดิการ งานบริการด้านสุขภาพ ของสำนักงาน สกสค. ซึ่งปัจจุบันมีอาคารเก่าทรุดโทรมไม่ทันสมัยเท่าที่ควร และเพื่อรักษาพยาบาลครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปให้ดี และทันสมัยยิ่งขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จึงจะดำเนินการพัฒนาพลิกโฉมโรงพยาบาลครูครั้งใหญ่ โดยทำ 2 เรื่องควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน คือ
1. ปรับการบริหารจัดการเป็น Smart hospital โดยเปลี่ยนระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงพยาบาลครู จาก Hospital OS เป็น Digital Transformation to Smart hospital
2. การขยายพื้นที่โรงพยาบาลครู โดย Renovation อาคารหอพัก 4 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ติดกับอาคารโรงพยาบาลครูปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เตรียมจัดใหญ่วันสถาปนา สกสค. ครบ 2 ทศวรรษ 9 ก.ย.นี้
ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ด้วยการเพิ่มคะแนน Cigarette Tax Scorecard
CIBA DPU ติวเข้มทักษะการตลาดดิจิทัล สร้างมืออาชีพรับตลาดแรงงาน
รีโนเวทโรงพยาบาลครู บริการสาธารณสุข
ทั้ง 2 เรื่องนี้ บอร์ด สกสค. ที่มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว และให้เดินหน้าในส่วนที่ทำได้ก่อน และเสนอของบประมาณมาในภายหลัง ซึ่งขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด โดยมีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลครู ที่มี นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานกรรมการ กำกับดูแล
รักษาการแทนเลขาธิการ สกสค. กล่าวต่อไปว่า การใช้ Digital Transformation to Smart hospital จะทำให้ โรงพยาบาลครู มีระบบฐานข้อมูลทันสมัย ไม่ใช้บัตร OPD Card แบบกระดาษที่มีฝุ่นเกาะอีกแล้ว โดยมีการจัดเก็บข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยด้วยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบให้บริการนัดหมาย หรือจองคิว และแจ้งเตือนผู้รับบริการแบบออนไลน์ มีการใช้ใบสั่งยาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถสืบค้นข้อมูลโดยลิงก์ข้อมูลการรักษาพยาบาลภายในโรงพยาบาล
เชื่อมโยงสิทธิ์การรักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลาง เชื่อมโยงกับสถานพยาบาลอื่นทั้งของรัฐและเอกชนได้ และในอนาคตก็จะนำระบบ Telemedicine มาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงแบบทางไกล และจัดส่งยารักษาไปให้ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาด้วยตนเอง
ให้บริการด้านการแพทย์ – ล้างไต - ตั้งศูนย์ Lab
ดร. พิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการขยายพื้นที่โรงพยาบาลครู โดย Renovation อาคารหอพัก 4 ชั้น มาเป็นพื้นที่รักษาพยาบาล จะปรับโฉมทั้งภายในภายนอก ซึ่งภายนอกจะทำ Facade หรือ เปลือกอาคาร ให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามน่ามาเข้ารับบริการ มีการทำทางเชื่อมที่ชั้น 2 และชั้น 4 กับอาคารเดิม
ส่วนภายในปรับปรุงพื้นที่ทั้ง 4 ชั้น
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วยหน่วยบริการ ติดตั้ง Central Lab ครบวงจร โดย Outsourcing ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาปฏิบัติงาน เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางของ Lab ไปตรวจที่อื่น ,มีการการติดตั้งเครื่อง X-ray แบบ Digital เพื่อให้มีเครื่อง X-ray ที่ทันสมัย, ตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยไตเทียม เช่น เครื่องทำน้ำ RO และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ชั้นที่ 2 ใช้เป็นหน่วยไตเทียม ได้ 20 เตียง โดยจะมีเอกชนมาลงทุน เพื่อเพิ่มบริการ ในการล้างไตในทุกสิทธิ์
ชั้นที่ 3 ใช้เป็นนวดแผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้ประมาณ 20 เตียง ซึ่งปัจจุบันมี 7 เตียงบริการ และได้รับความนิยมเข้าใช้บริการมาก โดยในปี 2565 ให้บริการได้ 3,498 ราย ทำรายได้เข้า สกสค. 947,800 บาท และปัจจุบันผู้รับบริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47
ส่วนชั้นที่ 4 ใช้เป็นสำนักงานห้องผู้อำนวยการ และหน่วยสนับสนุน และทำให้สามารถขยายบริการหน่วยทำฟัน จากปัจจุบันที่มี 4 หน่วย เพิ่มได้อีก 2-3 หน่วย
“สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. สถาปนามาครบ 20 ปี ในวันที่ 9 กันยายน 2566 นี้ และกำลังเข้าสู่ปีที่ 21 เราจะพลิกโฉมภารกิจด้านการจัดสวัสดิการ งานบริการด้านสุขภาพ แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันโรงพยาบาลครู มีการให้บริการตรวจรักษาทั้งทางด้านเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์ทางเลือก นวดแผนไทย มีการตรวจสุขภาพประจำปี” รักษาการแทนเลขาธิการ สกสค. กล่าว
ทั้งนี้ ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับ 3 โรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลวิชัยเวช โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลศุภมิตร ในการส่งต่อผู้ป่วยสำหรับการดูแลครูประจำการ และครูเกษียณอายุราชการไปแล้ว
ส่วนผู้ที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ไม่สามารถเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลครูได้ ก็ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค. จังหวัดประสานกับโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนในพื้นที่ให้มีโครงการ มีเงื่อนไขดี ๆ เช่น ส่วนลดให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดูแลการศึกษาของชาติ