‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ 'รัฐมนตรีศึกษา' ป้ายแดง

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ 'รัฐมนตรีศึกษา' ป้ายแดง

หลังจากที่มีการเปิดโผคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดสรรตำแหน่ง กระทรวงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยในส่วนของ ‘กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พรรคการเมืองที่จะมาดูแลเป็น ‘พรรคภูมิใจไทย(ภท.)’

Keypoint:

  • 'การศึกษาไทย' ปัญหาเรื้อรังที่หลายๆ รัฐบาลได้เข้ามาช่วยแก้ไข แต่ด้วยปัญหาหลาย ๆ ด้าน ทั้งการจัดการศึกษาทุกระดับ ผู้เรียน ครู และการบริหารการศึกษา เหมือนยิ่งแก้ปมก็ยิ่งมากขึ้น
  • รัฐบาลครม.เศรษฐา 'พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ' จากพรรคภูมิใจไทย นั่งรมว.ศธ. ซึ่งภูมิใจไทยชูนโยบายด้านการศึกษา ทุกคนมีสิทธิเรียนจบได้ใบปริญญาอย่างเท่าเทียม ผลักดันการเรียนออนไลน์ ให้เรียนฟรีตลอดชีวิต 
  • นักวิชาการ แนะขอทีมทำงานเสมา 1 เข้าใจปัญหาการศึกษา  พร้อมทำงานจริงๆ ไม่ใช่เพียงสานต่อนโยบายหาเสียง ระบุนักการเมืองส่งผลให้การศึกษาไทยรุ่งหรือร่วง

ทาง 'พรรคภูมิใจไทย(ภท.)' ได้มีการวางตัวรัฐมนตรีป้ายแดง อย่าง ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ" นั่งตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ ‘นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล นั่งตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาของไทย

ทุกรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ระบบการศึกษา’ มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคล หรือสร้างคนคุณภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ยิ่งในยุคที่มีการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง มีความท้าทายมากมายที่คนยุคใหม่ต้องเผชิญ หากไม่มีการเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่จะมีอาวุธติดตัวไปสู้กับโลกที่กำลังแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไร?

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘ดัชนีดิจิทัลไทย' ความเหลื่อมล้ำ ‘ลดลง’ เข้าถึงเน็ตทะลุ 89% ต่อครัวเรือน

20 ปี 'กับดักรายได้ปานกลาง' ทำอย่างไร ไทยจะเจอทางออก

นักศศ.ธรรมศาสตร์ กดดันสว.-รื้อมรดกรัฐบาลเดิม ลดความเหลื่อมล้ำประเทศ

 

หวือหวา ตื่นตาตื่นใจแต่จะทำได้แค่ไหน??

ในช่วงหาเสียงทุกพรรคการเมืองได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันออกไป โดยเน้นการสร้างความหวือหวา น่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ประชาชนได้เลือก ไม่ว่าจะเป็น การขยายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี เรียนออนไลน์ เรียนฟรีตลอดชีวิต การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน อาหารกลางวันฟรี ลดงานครู แจกแท็บเล็ต ให้ทุน เป็นต้น

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

พรรคภูมิใจไทย’ แม้ช่วงหาเสียงอาจจะไม่ได้หยิบยกนโยบายด้านการศึกษาเป็นตัวชูโรง แต่ชูคอนเซ็ปต์ พูดแล้วทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนโยบายด้านการศึกษา โดยเน้นว่า

  • ใครๆ ก็มีสิทธิเรียนจบได้ใบปริญญาอย่างเท่าเทียม โดยจะผลักดันการเรียนออนไลน์ ให้เรียนฟรีตลอดชีวิต พร้อมกับได้ใบปริญญา
  • หยุดพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถือเป็นหนึ่งในประเภทที่จัดอยู่ในระบบ โดยจะได้รับการหยุดพักอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  • เน้นการให้ความสำคัญกับการศึกษาออนไลน์ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้แก่ระบบการศึกษาไทย
  • การจัดการเรียนการสอน หรือเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี
  • สร้างระบบ Virtual School หรือ Online School ไม่ว่าอยู่ในชนบทห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็ก จะได้เรียนกับครูเก่งๆ
  • ผลักดันการจัดตั้ง สถาบันพัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติขึ้น เพื่อสร้างระบบใหม่ของการจัดการเรียนการสอน ให้เด็กที่มีคุณภาพ

 

นโยบายการศึกษา เน้นสร้างความมั่นคง

ขณะที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ได้มีนโยบายด้านการศึกษา เน้นเรื่องการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคง และเกิดเท่าเทียมในสังคม อาทิ 

  • ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน Learn to Earn เพื่อเรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต
  • มีนโยบายจบปริญญาตรีอายุ 18 ปี
  • ปรับระบบการศึกษาจาก 6-6-4 ไปสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนคนเข้าตลาดแรงงานเร็วขึ้น
  • มีนโยบาย ‘Free tablet for all’ โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และโครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์
  • โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับประชาชน คือ เรียนฟรี ต้องฟรีจริง
  • เพิ่มงบประมาณอาหารกลางวัน และบริการรถรับส่งนักเรียนฟรี
  • เรียนอาชีวะฟรีมีอยู่จริง ปั้นสถานศึกษาอาชีวะเป็นศูนย์สร้างสรรค์ สร้างตัวได้
  • โรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น สอนภาษาต่างประเทศ
  • มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ให้ครบทุกจังหวัด

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

นักการเมือง ปัจจัยศึกษาไทยรุ่ง หรือร่วง?

ตอนนี้ถึงจะไม่ทราบได้ว่า ‘รัฐมนตรีป้ายแดง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ จะขับเคลื่อนการศึกษาไปในทิศทางใด และจะมุ่งด้านไหนเป็นพิเศษ แต่หากมองเส้นทางการศึกษาไทย ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า ฝ่ายการเมืองมีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้มิติการศึกษาไทย เกิดใหม่ หรือย่ำอยู่กับที่ รุ่งหรือร่วงหนักกว่าเดิม เพราะหากนักการเมืองเข้ามาทำงานการศึกษาอย่างจริงจัง เปิดกว้าง รับฟัง เลือกนักการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษายุคใหม่ๆ ก็อาจที่จะทำให้การศึกษาไทยพัฒนามากขึ้น

ทว่าในทางกลับกัน นักการเมืองมาจากคนที่ไม่เข้าใจระบบการศึกษา ฐานความคิดแบบเก่า ปฎิเสธการเปลี่ยนแปลง ใช้เพียงเม็ดเงินในการสร้างเครื่องมือ อุดหนุนในสิ่งที่เป็นนโยบายของตนเอง ลด แลก แจก แถมมากกว่าเดิม เพื่อเรียกคะแนนเสียงในครั้งหน้า โดยไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะซ้ำเติมปัญหามากขึ้น

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

'การศึกษา' ปฏิรูปมาถูกทางหรือไม่ ??

ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐไทยมีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด และกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงที่สุด เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ยังคงเดินหน้านโยบายเรียนฟรีและปรับหลักสูตรให้ทันสมัย เป็นอะไรที่พูดถึงอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อดูในทางปฎิบัติกลับพบว่าผลลัพธ์สวนทางกัน ไม่สามารถพัฒนา หรือยกระดับการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนดเป็นนโยบายไว้ได้

“ไม่ว่ารัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองไหน สิ่งที่นโยบายการศึกษาควรทำ คือ การลงมือทำจริงๆ ทำให้มากกว่าพูดว่านโยบายการศึกษาควรทำอะไร มีนโยบายอะไรบ้าง เพราะเพียงดูนโยบายหาเสียงก็พอแสดงให้เห็นได้ว่า มีพรรคการเมืองน้อยมากที่ตระหนักเรื่องการศึกษา พูดถึงปัญหา และลงมือปฎิบัติจริง” ผศ.ดร.ธร กล่าว

จากโครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ขั้นแรกพรรคการเมืองต้องชูนโยบายการศึกษาเป็นนโยบายเรือธงเสียก่อน โจทย์ต่อมาคือจะทำอย่างไรต่อ ในขั้นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งระบบ ข้อเสนอนี้ยืนยันว่าทำไมการแก้ปัญหาเชิงระบบเป็นสิ่งจำเป็น

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

 แก้เหลื่อมล้ำเด็กเล็ก-ยากจน

ผศ.ดร.ธร กล่าวต่อว่า ปัญหาการศึกษา เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มากและทุกพรรคการเมืองพยายามจะแก้ปัญหา แต่เหมือนจะยังไม่สามารถแก้ได้ และหากดูนโยบายพรรคการเมือง ตอนนี้ยังไม่มีพรรคไหนที่มุ่งแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายอุดหนุน เรียนฟรี เพิ่มทุน ดูแลครู

ดังนั้น อยากให้เริ่มต้นแก้ความเหลื่อมล้ำที่วัยเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในครอบครัวยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดึงเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ยาก การขยายปีเรียนฟรีไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยไม่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กกลุ่มนี้มากนัก เพราะมหาวิทยาลัยเป็นจุดที่คนยากจนเข้าไม่ถึง และเด็กยากจนหลุดจากระบบไปตั้งแต่แรกแล้ว

ขณะเดียวกัน การอุดหนุนเรียนฟรีนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้ฟรีทุกเรื่อง ยังมีค่าใช้จ่ายอีกมากที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนต้องเสียเอง ดังนั้น ครอบครัวยากจนไม่ได้รับการเรียนฟรี มีโอกาสที่พวกเขาจะไม่เรียนต่อจำนวนมาก การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาควรพุ่งไปที่เด็กและทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือครอบครัวเด็ก

ที่ผ่านมารัฐมีโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แต่ยังพบปัญหาการตกหล่นค่อนข้างมาก การปรับวิธีให้เงินอุดหนุนที่สามารถเข้าถึงคนได้มากกว่านี้ เช่น ให้แบบถ้วนหน้าหรือให้ถ้วนหน้าไปก่อนแล้วค่อยตัดคนที่ไม่ได้ใช้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

ร่างพ.ร.บ.การศึกษาไปไม่ถึงฝัน

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาใหญ่ในโจทย์การศึกษาไทยที่ยังค้างอยู่ คือ เรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และการทำหลักสูตร ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองใดสนใจเรื่องเหล่านี้ โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะมองเฉพาะเรื่องการอุดหนุน การแจก การเรียนฟรี แต่ไม่มีใครมองเรื่องระบบ ทั้งที่ตอนนี้ระบบการศึกษาจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างกฎหมายการศึกษาและนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้าง คนที่ทำงานด้านนี้ไม่แน่ใจว่าต้องรอคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลก่อนถึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ เป็นต้น

“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ถูกแขวนไว้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะมีการยื้ออำนาจกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม จนมีร่างกฎหมายออกมาหลายเวอร์ชันแล้วถูกนำมารวมกัน เมื่อกรรมาธิการแก้ไขแล้วก็ยื้อไว้จนไม่ทันรอบการพิจารณาของสภา กลายเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ เพราะหลายเรื่องยังคุยกันไม่ตกผลึก เช่น เรื่องให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล การกระจายอำนาจการศึกษา ซึ่งถ้าไม่พูดเรื่องพวกนี้ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ขณะที่ เรื่องการจัดทำหลักสูตรการศึกษา ตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่รอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อ” ผศ.อรรถพลกล่าว

ตลอดสองทศวรรษนี้โฉมหน้านักปฏิรูปการศึกษาเป็นหน้าเดิมๆ เปลี่ยนรัฐบาลกี่ปีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงก็เป็นคนเดิม ถ้าพรรคการเมืองเข้ามาโดยไม่เข้าใจก็จะถูกลากไปกับชุดความคิดเดิมๆ ที่เขาพยายามรักษากันไว้ เปลี่ยนรัฐมนตรีกี่รอบก็มีปัญหาเรื่องเดิม เพราะชุดความคิดฝังอยู่กับระบบราชการ เป็นแนวความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในการศึกษา

‘อนาคตการศึกษาไทย’จะไปทางไหน? เมื่อได้ \'รัฐมนตรีศึกษา\' ป้ายแดง

รับฟัง-ทำงานเพื่อการศึกษาจริงๆ

ผศ.อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงรมว.ศธ. ว่าการเลือกทีมที่ปรึกษามีความสำคัญอย่างมาก อยากให้ เลือกทีมที่ปรึกษาที่รู้จักหน้างานจริงๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ทีมที่ปรึกษาชุดเดิม เพราะทีมเดิมทำมาตลอด 20 ปี การศึกษาไทยก็ย่ำอยู่กับที่ ทีมปรึกษาควรจะมาจากนักวิชาการที่หลากหลาย จากโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนนวัตกรรม อย่ามองปัญหาการศึกษาเฉพาะโรงเรียนรัฐควรจะเข้าใจบริบทการศึกษาที่แตกต่างและหลากหลาย

 “รัฐมนตรีการศึกษาจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นครู แต่ขอให้เป็นคนที่พร้อมทำงาน พร้อมรับฟัง และทำงานเพื่อการศึกษา และควรเปิดรับความคิดเห็นของคนทำงานจริงๆ ถ้าไม่เคยทำงานด้านการศึกษาควรมีทีมงานที่เข้าใจ และรู้จักการศึกษาจริงๆ อย่าเข้ามาเพียงสั่งการให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคอย่างเดียว ต้องฟังเสียงของเด็ก ครู และข้าราชการด้วย” ผศ.อรรถพล กล่าว

อ้างอิง:กสศ.