กสศ. เชื่อมข้อมูลเด็กยากจน 1.9 ล้านคน ให้ ”ปฐมวัย-อุดมศึกษา” เรียนต่อ 20 ปี
กสศ.ชี้สังคมไทยยังหยุดวงจรความยากจนยาก หากเยาวชนจากครัวเรือนยากจนมีโอกาสเรียนต่ออุดมศึกษาเพียง 20% เชื่อหลักประกันโอกาสการศึกษาระยะยาวช่วยลดความเหลื่อมล้ำจาก 6 เท่าเหลือ 1.4 เท่า พร้อมเสนอเชื่อม BIG DATA เด็กยากจน-ยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เรียนต่อปฐมวัย-อุดมศึกษา 20 ปี
“...การกำหนดเป้าหมายด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ให้นักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าใกล้เคียงกับนักเรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะดีเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว.ภายใน 10 ปี ระบบหลักประกันฯ นี้ก็จะสามารถช่วยเป็นเครื่องมือในการจัดทำนโยบาย และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำจาก 6 เท่าเหลือ 1.4 เท่าได้”
ความยากจนข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนจากครอบครัวยากจนจำนวนมาก ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือมากกว่าภาคบังคับ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ระบุว่า ข้อมูลจากองค์การยูเนสโก ระบุว่าไทยมีเยาวชนจากครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ เพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ น้อยกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศถึง 6 เท่า
ไม่ใช่เพราะความสามารถและขาดศักยภาพการเรียนรู้ หากแต่เป็นเพราะการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาจากเศรษฐานะของครอบครัวและปัจจัยอื่นๆที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงโอกาสและทำให้เด็กไม่สามารถที่จะเรียนต่อ ทั้งนี้มีผลวิจัยติดตามข้อมูลประชากรเยาวชนมากกว่า 1.5 แสนคนอย่างต่อเนื่อง 4 ปีพบว่าประเทศไทยมีเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ซึ่งมาจากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศที่แม้จะยากจนแต่สามารถสอบผ่านเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จราวร้อยละ 14
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จากการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2561-2565 ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ได้รับทุนเสมอภาคจากของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หรือเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ พบว่าในปีการศึกษา 2565 มีเยาวชนจากครัวเรือนที่รายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 20,018 คน สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS65 ได้สำเร็จ
“เมื่อปีการศึกษา 2561 กสศ. และ สพฐ. ได้ร่วมกันคัดกรองและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม.3 ที่มีสถานะความยากจนในระดับยากจนและยากจนพิเศษจำนวน 106,137 และ 41,884 คนตามลำดับ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดย 4 ปีต่อมานักเรียนในกลุ่มนี้จำนวน 20,018 คนสามารถสอบติดมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS65 ได้สำเร็จ คิดเป็นราวร้อยละ 12-14 ตัวเลขนี้อาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่นับว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ TCAS64” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด
ทำอย่างไรจึงจะสร้าง “โอกาสทางการศึกษา” ให้เสมอภาคได้จริง
หนึ่งในกลุ่มเยาวชนกลุ่มที่ดร.ไกรยส พูดถึง คือ “นักเรียนทุนเสมอภาค” จำนวน 41,884 คน ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นแรกของ กสศ. ที่ได้รับการคัดกรองมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เวลานั้นกสศ.ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษา ผ่านการพัฒนากลไก และมาตรการเชิงระบบเพื่อให้สามารถสร้างโอกาสที่จะนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดในภายใต้ทรัพยากรด้านงบประมาณของประเทศมีจำกัด เนื่องจาก กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศทั้งระบบ
กสศ. ได้วิจัยพัฒนากระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อม (Proxy Means Test: PMT) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชี้เป้าหมาย เด็กและเยาวชนที่มีชีวิตยากลำบากมากที่สุด ร้อยละ 15-20 ของประเทศ ให้ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค จากกสศ. ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าครองชีพทางการศึกษา
โดยมีเงื่อนไขให้ต้องมีอัตราการมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 และมีพัฒนาการที่สมวัย เพราะกสศ.เชื่อว่าเป็นนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจนระดับรุนแรง แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการเรียนฟรีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานะครัวเรือนของประชากรกลุ่มนี้ที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,044 บาท หรือน้อยกว่าวันละ 35 บาทเท่านั้น โดยจากการติดตามกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ตลอด 4 ปีที่ผ่าน
พบว่า เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขช่วยให้นักเรียนมีอัตราการมาเรียนที่ดีขึ้น ลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา และมีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น ทำให้จำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาน้อยลงตามลำดับ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับมากขึ้น
“หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
อย่างไรก็ตามในระหว่างการศึกษาและประเมินผลที่ กสศ.ทำตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า การทำให้เรื่องโอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ยั่งยืนได้สำหรับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ คือการปิดช่องว่างการส่งต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการเชื่อมต่อฐานข้อมูลและการทำงานในการส่งต่อนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
“ทำอย่างไรให้การช่วยเหลือในระบบไร้รอยต่อจากอนุบาลถึงอุดมศึกษา เมื่อเราค้นพบเด็กจากการคัดกรองแล้ว ต้องหาทางคุ้มครองเขาไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และส่งต่อให้เขาให้มีโอกาสเรียนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพและความมุ่งมั่นของเขาและครอบครัว เด็กทุกคนไม่ว่าเกิดมายากดีมีจนควรมีสิทธิ์บรรลุเป้าหมายการศึกษาสูงสุดที่เขาใฝ่ฝัน สิ่งนี้คือเป้าหมายชีวิตของเขา และเป้าหมายของประเทศ ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน”
การสนับสนุนเด็กช้างเผือกได้รับการศึกษาสูงสุดอย่างเต็มศักยภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจของ “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ที่กสศ. ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎ ในการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ ที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผ่านระบบ TCAS และส่งต่อข้อมูลไปยังมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้จัดหาทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนอื่น ๆที่จำเป็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาของตน และโอกาสที่เสมอภาคในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงภายในช่วงชีวิตของเขา
การพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” จะช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวนมากกว่า 1.9 ล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่กสศ.และหน่วยงานภาคีเริ่มภารกิจนี้เมื่อปลายปี 2564 ปัจจุบันเยาวชนทั้ง 20,018 คน กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา 75 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มมหาวิทยาลัยกำกับของรัฐมากที่สุด คือ 7,599 คน (ร้อยละ 38) รองลงมาคือสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5,891 คน (ร้อยละ 29) กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,132 คน (ร้อยละ26) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 1,235 คน (ร้อยละ 6) กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ 161 คน (ร้อยละ 1) ในจำนวนนี้มีนักเรียน 6 คน สอบผ่านการคัดเลือกเข้ากลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเป็นนักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. 25 คน
เชื่อมโยง BIG DATA เด็กยากจน-ยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน สร้างโอกาสการศึกษา ปฐมวัย-อุดมศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อ
ดร.ไกรยส ชี้ว่า ในอนาคตระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานด้านนโยบาย สามารถกำหนดเป้าหมาย และติดตามความก้าวหน้าในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา ของประชาชนคนไทยจากครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน เช่น หากกระทรวง อว. ต้องการกำหนดเป้าหมายด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ให้นักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าใกล้เคียงกับนักเรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะดีในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศรายได้สูงภายใน 10 ปี ระบบหลักประกันฯ นี้ก็จะสามารถช่วยเป็นเครื่องมือในการจัดทำนโยบาย (Policy Instrument) และ เป็นเครื่องมือติดตามนโยบาย (Policy Monitoring) ในการลดความเหลื่อมล้ำจาก 6 เท่าเหลือ 1.4 เท่าซึ่งเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้
ฐานข้อมูลจากระบบหลักประกันฯ ยังสามารถใช้สนับสนุนการวิจัยพัฒนานโยบายสาธารณะ (Public Policy) เพื่อสนับสนุนมาตรการระยะยาวในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษาในอนาคต (Basic and Higher Education Systems Integration) เพื่อให้เด็กเยาวชนและครอบครัวทุกระดับรายได้ และทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีความมั่นใจว่าระบบการศึกษาไทยมี “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ให้แก่นักเรียนทุกคนบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้ตามขีดความสามารถและความมุ่งมั่นของพวกเขาอย่างแท้จริง มิใช่เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ มิใช่เพราะความห่างไกล หรือปัจจัยอื่นๆ
การพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าเพียงความร่วมมือและทรัพยากรจากภาครัฐเท่านั้น ด้วยพลังของข้อมูล การระดมทุนและทรัพยากรจากภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจอยากร่วมสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่ยังขาดโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาอย่างเต็มที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบนี้ เช่น โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และโครงการก้าวเพื่อน้อง โดยมูลนิธิก้าวคนละก้าว ที่ช่วยเหลือนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อที่หลุดจากระบบให้กลับมาเรียน หรือการที่ กสศ. ได้ร่วมมือกับบริษัทแสนสิริ และ SCB ในการออกหุ้นกู้ระดมทุนมูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อทำงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเวลา 3 ปี ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบในจังหวัดให้เหลือ ‘ศูนย์’
‘ติดกระดุมเม็ดแรก’ ของการยุติวงจรความยากจนข้ามชั่วคน
เมื่อ ‘โอกาสทางการศึกษา’ คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด
ดร.ไกรยส ชี้ว่า โอกาสทางการศึกษา คือการลงทุนที่สร้างผลกระทบและให้มูลค่าตอบแทนที่สูงที่สุดต่อประเทศ โดยเฉพาะการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้เด็กเยาวชนสามารถก้าวข้ามรอยต่อในระบบการศึกษา อันเกิดจากปัญหาความยากจนด้อยโอกาสต่างๆ และพัฒนาตนเองไปสู่ระดับการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะพาไปถึง ซึ่งจะส่งผลถึงรายได้จากการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา โดยประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ ที่เดิมมีค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นประถมศึกษาหรือเทียบเท่า มากกว่า 10 ปี แล้วเมื่อวันที่คนรุ่นนี้มีรายได้สูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ย่อมหมายถึงการเปิดประตูสู่โอกาสในชีวิตที่มากกว่า และแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม (Social Mobility) เศรษฐกิจ และหยุดวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น (Intergenerational Poverty) ให้สิ้นสุดลงในรุ่นของพวกเขา
จากการประมาณการรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน(อายุ 22-60 ปี) และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่นักศึกษา 20,018 คนจากครัวเรือนรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะได้รับ เมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษา ซึ่งคำนวณจากมูลค่าทางเศรษฐกิจปัจจุบัน (Present Value) จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2562 โดยใช้สมมติฐานอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ 3% จะเท่ากับว่าคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย จะมีรายได้สูงกว่าคนที่เรียนจบแค่ชั้น ม.3 แล้วหลุดไปจากระบบการศึกษา เพิ่มขึ้นถึงคนละ 3.6 ล้านบาท จำนวนนี้ถ้าคูณ 20,018 คนเข้าไป เท่ากับว่าถ้าเราคุ้มครองดูแลให้ทุกคนจบการศึกษาและเข้าไปประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 72,000 ล้านบาท ในระยะเวลาราว 20-30 ปีข้างหน้านี้ ยังไม่รวมผลตอบแทนทางสังคมด้านอื่นๆ อีกมากมาย
“จะเห็นว่ามูลค่าที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้เป็นเพียงผลตอบแทนส่วนบุคคลของเด็กกลุ่มนี้ แต่เป็นการลงทุนต่อประเทศที่สำคัญ ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องการจะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ตั้งไว้ เพราะเมื่อตัวเลขของเยาวชนกลุ่มนี้ขยับขึ้นไปจาก 14% ในอนาคต เราอาจจะหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ไม่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้” ดร.ไกรยส ทิ้งท้าย