‘อนาคตการศึกษาไทย’ ในมือ ‘รัฐมนตรี’ ป้ายแดง
ระบบการศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้ที่จะมารับตำแหน่ง “รัฐมนตรี” คนใหม่เช่นกัน เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาระบบการศึกษาไปจนถึงบุคลากร ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
ทุกรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ระบบการศึกษา” มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคล หรือสร้างคนคุณภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ยิ่งในยุคที่มีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง มีความท้าทายมากมายที่คนยุคใหม่ต้องเผชิญ จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่ให้มีอาวุธติดตัวไปสู้กับโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นในช่วงหาเสียงทุกพรรคการเมืองกำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่เน้นการพัฒนากำลังคนทั้งสิ้น แต่หากมองเส้นทางการศึกษาไทย ที่ผ่านมารัฐไทยมีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด และกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงที่สุด แต่เมื่อดูในทางปฏิบัติกลับพบว่าผลลัพธ์สวนทาง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระบุว่าประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมินโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) มาตั้งแต่ PISA2000 จากผลการประเมินพบว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมิน PISA 2000 จนถึง PISA 2018 ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีนัยสำคัญ
โดย PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ
การประเมินปัจจุบัน คือ PISA 2022 เน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผลการประเมินด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของ PISA 2022 ในเดือนธันวาคม 2566 และเผยแพร่ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ ในเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป ส่วนรอบการประเมินถัดไป คือPISA 2025 จะเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ส่วนรอบการประเมินถัดจาก PISA 2025 จะเป็น PISA 2029 ซึ่งเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านเป็นหลัก
ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องเริ่มที่วัยเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่เติบโตในครอบครัวยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดึงเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ยาก การขยายปีเรียนฟรีไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยไม่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะเด็กยากจนจะหลุดจากระบบไปตั้งแต่แรก เพราะแม้ว่าจะไม่ต้องจ่ายค่าเทอม แต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีโอกาสที่พวกเขาจะไม่เรียนต่อจำนวนมาก การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาควรมุ่งไปที่เด็กกลุ่มนี้และทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก ถึงจะช่วยให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาและก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางฐานะได้ แต่ไม่ว่า “รัฐมนตรี” จะหน้าใหม่ป้ายแดง แค่ไหนอย่างไร การเลือกทีมที่ปรึกษา ที่เข้าใจบริบทการศึกษาที่แตกต่างและหลากหลาย จะมีส่วนช่วยให้การทำงานการศึกษาในโลกยุคใหม่ได้มากขึ้น