รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย
สัมมนาวิชาการ รุก soft power สร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์สุนทรียภาพ ดันการทูตศิลปะของไทย
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ soft power เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ “เสน่ห์สุนทรียภาพกับการทูตศิลปะของไทย” ที่ห้องบอลรูม 1 ชั้น 9 โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท
โดยงานนี้ได้รับความสนับสนุนจากโครงการวิจัย “แนวทางส่งเสริมภาพยนตร์เพื่อความมั่นคงยุคหลังโควิด” ทุน Fundamental Fund และกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์กับความมั่นคงเอเชีย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา กล่าวถึง “เสน่ห์สุนทรียภาพกับการทูตร่วมสมัย” โดยระบุว่า soft power ยุคปัจจุบันไม่ได้ผูกขาดเพียงแค่ความบันเทิง หรือ การทูตตามธรรมเนียมนิยม แต่ศิลปะกำลังมีอิทธิพลในกรอบ soft power มากขึ้น จีนเป็นหนึ่งในชาติที่ใช้ประโยชน์จากศิลปะอย่างเต็มรูปแบบโดยเฉพาะการผลิตวีดิทัศน์ศิลปะสำหรับเผยแพร่ออนไลน์
วิธีการของจีนทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวหมวดหมู่ใหม่ เรียกว่า moving art ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ทั่วไปที่เป็น moving image แต่ moving art มีขนาดสั้น ไม่ได้ต้องการเรื่องราว ตัวละคร หรือ ประเด็นขัดแย้งชัดเจน เพียงนำเสนอกระบวนการบางอย่าง หรือ ความเป็นไปใด ๆ อย่างมีสุนทรียภาพ ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกงดงาม สบายใจ และผู้ชมจะเชื่อในความมีอารยธรรมของสังคมผู้เผยแพร่เพราะสัมผัสความละเมียดละไมของเนื้องาน ในสายตาของ ดร.ฐณยศ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญแก่ศาสตร์ด้าน moving art รวมทั้งการเผยแพร่ศิลปะทุกแขนงผ่านช่องทางผสมผสาน
จากนั้น นางดารินทร์ รัฐกาญจน์ ทาคาดะ ศิลปินกระจก เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น บรรยายหัวข้อ “สุนทรียภาพเสน่ห์ไทยในงานสเตนกลาส” นางดารินทร์เผยว่า สเตนกลาสเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน เวลา และจินตนาการในการรังสรรค์ แต่ผลที่ได้คือความงามซึ่งเข้าถึงคนทุกหมู่เหล่า ปกติสเตนกลาสเป็นศิลปะในโบสถ์ เน้นการนำเสนอเรื่องราวของศาสนจักร ทว่านางดารินทร์กับคณะศิลปินสเตนกลาสหลายคนพยายามฉีกขนบด้วยการหาความท้าทายใหม่ ๆ
ผลงานล่าสุดมีชื่อว่า “ดาหลา” มาจากการได้ชมดอกดาหลาในเรื่องบุพเพสันนิวาส 2 ซึ่งแสดงความหมายของดอกชนิดนี้ว่า เป็นตัวแทนความรัก ความห่วงใย เมื่อนางดารินทร์มีโอกาสจัดแสดงดาหลาที่ญี่ปุ่น ผู้ชมให้ความสนใจที่มาของดอกดาหลาในประเทศไทยและพากันใช้ชื่อเรียกวา “ดาหลา” แทนชื่อภาษาอังกฤษ “Etlingera” สเตนกลาสของนางดารินทร์จึงทำหน้าที่ทั้งในทางสุนทรียภาพและวัฒนธรรมสัมพันธ์
ในเวลาถัดมา ดร.นิเวศ แววสมณะ ผู้ก่อตั้งบ้านตุ๊กตุ่น ได้ขึ้นมาแบ่งปันเรื่องราวการสรรค์สร้างความงามผ่านศิลปะหุ่นกระบอกไทย ดร.นิเวศชี้ว่า ทุกชาติที่มีอารยธรรมต้องมีหุ่นกระบอกเป็นของตนเอง ดร.นิเวศได้เพียรศึกษาหุ่นกระบอกไทยเป็นระยะเวลาหลายปีจนสามารถผลักดันให้หุ่นกระบอกเป็นทูตวัฒนธรรมไทย-นานาชาติ การแสดงครั้งหนึ่งที่เกาหลีใต้ มีผู้ชมมายืนรอคิวเข้าชมกันอย่างล้นหลาม ทุกคนสนใจรายละเอียดของหุ่นซึ่งมีความซับซ้อนรวมทั้งลวดลายวิจิตรพิสดาร
ความนิยมหุ่นกระบอกไทยยังเป็นที่แพร่หลายในอีกหลายชาติ ดร.นิเวศจึงแนะนำว่า ประเทศไทยควรสร้างพันธมิตรด้านสื่อที่จะช่วยให้เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมได้กว้างไกลขึ้น มีการแปลเป็นภาษานานาชาติมากขึ้น เมื่อทุนศิลปะวัฒนธรรมไทยเข้มแข็งอยู่แล้ว ยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ
ในการบรรยายช่วงที่สี่ อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เอ่ยถึงการลงพื้นที่ของอาจารย์กับคณะนักศึกษาซึ่งพยายามสำรวจเอกลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมไทย อาจารย์พบว่า เอกลักษณ์ไทยไม่ได้มีความตายตัว แต่ลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีทั้งเอกลักษณ์ท้องถิ่น เอกลักษณ์ผสมตะวันตก เอกลักษณ์ร่วมสมัย เอกลักษณ์เกิดใหม่
เพราะฉะนั้นข้อโตแย้งที่บอกว่า ความเป็นไทยไม่มีอยู่จริงจึงไม่ถูกต้อง แต่ความเป็นไทยมาจากการพัฒนาหลอมรวมลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมจากหลากหลายแหล่งจนกลายเป็นตัวตนประจำถิ่นไทย เอกลักษณ์ไทยสำหรับอาจารย์จึงมีความเด่นชัดจนยากจะปฏิเสธ เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่ภาคอุตสาหกรรม หรือ ภาคปฏิบัติการวัฒนธรรมนำสีสันแบบไทย ๆ มาผสมกับสินค้า/บริการเพื่อตอบโจทย์ soft power ยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
สำหรับการบรรยายช่วงสุดท้าย นายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นมาบอกเล่าเกี่ยวกับบทบาทของมูลนิธิไทยกับการส่งเสริมศิลปะ นายธฤตกล่าวว่า ประเทศไทยมีผลงานด้านศิลปะวัฒนธรรมอย่างล้นเหลือ ขาดแต่เพียงการส่งออกไปให้คนต่างชาติได้เชยชม ทางมูลนิธิไทยจึงพยายามสร้างคลังความรู้รวมทั้งสื่อเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมไทยเป็นภาษาสากล
โดยมูลนิธิไทยวางเป้าไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องสร้างฐานแฟนคลับทั่วทุกมุมโลก เพราะทันทีที่ผู้นิยมไทยมีปริมาณมากขึ้น การเชื่อมโยงภาคประชาชนระหว่างไทยกับนานาชาติจะเป็นไปอย่างมั่นคง นอกจากนี้ มูลนิธิไทยยังพิจารณาว่า จุดขายของไทยอยู่ที่การเป็นสังคมเปิดกว้างสำหรับคนทุกชาติพันธุ์ รู้จักให้ และเอาใจใส่อย่างที่หาได้ยากในสังคมอื่น บุคลิกไทยจึงควรได้รับการตอกย้ำในสื่อศิลปะวัฒนธรรม
การสัมมนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย นักวิจัยศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย