Kick off!! การสอนประวัติศาสตร์พร้อมชูSoft Power@อยุธยา
ใครว่าการเรียน ‘ประวัติศาสตร์’ เป็นเรื่องน่าเบื่อ คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้ว เพราะหลังจากนี้ การจัดการเรียนการสอน ‘ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง’ จะเป็นรูปโฉมใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
โดย การเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง จะมีการเน้นเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด รวมทั้งมีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย และเป็นการเรียนรู้จากการทัศนศึกษาในสถานที่ประวัติศาสตร์จริงๆ
‘ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง’ มีการจัดการเรียนการสอน ในชั้นเรียนมาอย่างยาวนานแต่จะเป็นการเรียนการสอนในบทเรียนหนึ่งของวิชากลุ่มสังคมศึกษา
ต่อมาเมื่อปี 2565 ได้มีการปรับโฉมรูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โดยแยกออกมาเป็นรายวิชาพื้นฐาน ซึ่งการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชานั้นจะต้องไม่สร้างความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน หรือสร้างภาระงานให้แก่ครูหรือนักเรียน เพราะต้องการให้การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงการสู้รบของประเทศไทยในอดีตเท่านั้น แต่การเรียนประวัติศาสตร์มีอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์โลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“ประวัติศาสตร์”ยัดเยียดเด็กรักชาติ? ควรแยกเป็นวิชาเฉพาะหรือไม่?
พัฒนาการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์
วันนี้ (15 ธ.ค.2566)ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการเป็นประธานเปิดกิจกรรมคิกออฟการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวที่จัดขึ้นต้องการให้เกิดความมั่นคงของประเทศ เพราะความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้มาจากประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจในรากฐานวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติมีจิตสำนึกรักความเป็นไทยมีคุณธรรมจริยธรรมค่านิยมและหลักคิดที่ถูกต้องและสถาบันสำคัญของชาติเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
การพัฒนาเยาวชนของชาติต้องอาศัยกระบวนการการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศนโยบายและจุดเน้นด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษามุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม เพื่อให้มีความทันสมัยน่าสนใจเหมาะสมกับทุกช่วงวัย และบริบทของพื้นที่ และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทยและสถาบันชาติ
กิจกรรมขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ศธ.มีกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ดังนี้
1.ศึกษาและวิจัยแนวทางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองโดยพัฒนาผู้บริหารทุกเขตพื้นที่ทุกโรงเรียนศึกษานิเทศก์ 490 คนและครู 2,310 คน พร้อมหาโรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ 245 แห่งทั่วประเทศ
2.ผลิตสื่อตำราเรียนสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอื่นๆให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับคนทุกช่วงวัยกว่า 100 รายการ เพื่อให้ใช้ในการเรียนการสอน และจัดรถโชว์สาธิตการสอนประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยทุกภูมิภาค โดยบูรณาการร่วมกัน 4 กระทรวงได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และศธ. เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างจิตสำนึกรักแผ่นดินเกิด
3.จัดมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์สัญจร 4 ภูมิภาค
4.สร้างจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่นจัดตั้งกลุ่มยุวชนลูกเสือลูกเสือจิตอาสาร่วมพัฒนาสังคมปิดทองหลังพระลูกเสือมัคคุเทศก์ให้บริการประชาชนและเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
5.จัดทำข้อเสนอประเมินความรู้การสมัครบุคคลเข้ารับราชการต้องมีสำนึกรักความเป็นไทย
‘การเรียนการสอนประวัติศาสตร์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งจะมีความทันสมัยไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียน แต่เน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียน นอกจากนี้การปรับรูปแบบเรียนการสอนประวัติศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการสร้างซอฟต์พาวเวอร์อีกด้วย ทั้งนี้หลังจากคิกออฟเรื่องนี้แล้วจะมีคณะทำงานติดตามประเมินผลว่าการขับเคลื่อนการเรียนประวัติศาตร์สำเร็จตามเป้าหมายที่เราวางไว้หรือไม่‘ นายสุรศักดิ์ กล่าว
ส่งเสริมการเรียน ‘ประวัติศาสตร์’
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนกว่า 6.5 ล้านคน ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลัก
โดยได้กำหนดเป็นนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ปีงบฯ 2567-2568 ซึ่งทันทีที่รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวงได้ลงนามMOU เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้สั่งการนโยบายแก่ผู้บริหาร สพฐ. ณ ที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตพื้นที่ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับจุดเน้นและนโยบายของ สพฐ. ปีงบฯ 2567-2568 นี้ 2 ข้อแรก ให้ความสำคัญต่อการสร้างสำนึกความเป็นไทย ภาคภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลัก
โดยข้อที่ 1 การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ซึ่งทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีกิจกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันในโรงเรียน
ข้อที่ 2 การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นพลเมืองคุณภาพ รู้จักรากเหง้าตัวตน ประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย เหมาะกับเด็กยุคใหม่
การที่รัฐบาลมีวิสัยทัศน์บูรณาการแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง 4 กระทรวงดังกล่าว เป็นการช่วยลดภาระครู เพราะจะมีภาคีเครือข่ายจากกระทรวงต่าง ๆ เป็นแนวร่วม สนับสนุนองค์ความรู้ สื่อและแหล่งการเรียนรู้ ช่วยให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะรายวิชาประวัติศาสตร์ ที่ สพฐ. ได้ประกาศให้สถานศึกษาจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน
กำหนดให้ระดับประถมศึกษา ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง