มิกซ์แอนด์แมทช์ เมนูอาหารไทย-เทศ แค่หน้าตาอาจไม่รู้ ฝีมือเชฟนศ.มทร.พระนคร
สัมผัสอาหารที่เห็นแค่รูปคงยากจะเดาถูกว่าเป็นเมนูอะไร ความแปลกใหม่ฝืมือเชฟนักศึกษามทร.พระนคร ที่มิกซ์แอนด์แมทช์ อาหารไทย-เทศ ดีกรีระดับแชมป์
Keypoints:
- ความพิเศษของเมนูที่เชฟนักศึกษามทร.พระนครรังสรรค์ขึ้น ด้วยการผสมผสานระหว่างอาการไทยและต่างชาติ กลายเป็นรสชาติที่คว้ารางวัลระดับแชมป์
- เชฟน้อย-เชฟตาเชนทร์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร ผู้ที่มีแรงบันดาลใจจากวัยเด็กที่ได้คลุกคลีอยู่ในครัวช่วยแม่และย่าทำอาหาร สู่ความใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟ
- การเรียนการสอน คณะที่มทร.พระนครเปิดสอน ซึ่งบัณฑิตมีงานทำ 100 % โดยเฉพาะคณะคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ที่มีตำรับจากครัวโชติเวชมายาวนาน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) จัดงานชมและสัมผัสการทำอาหาร ภายใต้แนวคิด Immersive Fine Dining โดยนายปารเมศ สายสุทธิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ แชมป์รางวัล The Winner ในรายการ Real California Milk Pizza Challenge ซึ่งเป็นหนึ่งในการแข่งขันทำอาหารระดับนานาชาติ Thailand Ultimate Chef Challenge (TUCC) 2023 ในงาน “THAIFEX – Anurag Asia 2023”
และนายภานุพงศ์ ใยยอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัลเหรียญทองแดง ในการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 (WorldSkills ASEAN Singapore 2023) สาขาการประกอบอาหาร (Cooking) ณ Singapore Expo สาธารณรัฐสิงคโปร์
รสชาติแปลกใหม่ที่ผสมระหว่างอาหารไทย-เทศ
เริ่มต้นเมนูแรกจากฝีมือของเชฟน้อย หากไม่ได้รับการบอกกล่าวถึงชื่อเมนูมาก่อน ก็คงยากที่จะคาดเดาได้ว่าเมนูนี้นั้น คืออะไร ด้วยรูปลักษณ์แตกต่างไปจากเมนูนี้ในแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่าที่เป็นอาหารต่างชาติ หรือแกงเผ็ดเป็ดย่างที่เป็นอาหารไทย
เมื่อทั้ง 2 ถูกนำมามิกซ์แอนด์แมทช์ได้อย่างลงตัว รสชาติจึงออกมาอย่างลงตัว สร้างความแปลกใหม่ให้กับอาหารชนิดนี้ “พิซซ่าแกงเผ็ดอกเป็ดรมควัน” ที่เสิร์ฟมาแบบพอดีคำ อกเป็ดมีความนุ่ม ไร้กลิ่นสาบ มีความเผ็ดเล็กๆจากเครื่องแกงเผ็ด
เมนูนี้ได้รับรางวัลจากรายการแข่งขันทำพิซซ่า จากรายการ Real California Milk Pizza Challenge ในงาน Thailand Ultimate Chef Challenge 2022 เป็นการแข่งขันเมนูพิซซ่าโดยใช้ชีส และสามารถทำคะแนนได้สูงสุดจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกว่า 200 คน จึงเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในงาน Pizza Expo 2024 หรือในรายการ International Pizza Challenge ที่ ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะไปแข่งขันในกลางเดือนมีนาคม 2567
น้อย หรือ นายปารเมศ สายสุทธิ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอาหาร ชั้นปีที่ 4 มทร.พระนคร บอกว่า เมนู Smoked Duck Red Curry Pizza ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยความพิถีพิถันในทุกกระบวนการ และใช้แรงบันดาลใจจากเมนูอาหารไทยอย่างแกงเผ็ดเป็ดย่าง โดยนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอใหม่ในรูปแบบของพิซซ่า ใช้แป้งสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นมาใหม่จะมีความเหนียวนุ่มเมื่อผสมผสานเข้ากับเครื่องแกง
รสชาติจะมีความกลมกล่อมมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ชัดเจนจากพริกแกงเผ็ด และมีความหอมความนุ่มจากอกเป็ดรมควัน สอดแทรกด้วยความเปรี้ยวหวานจากผลไม้ที่ใส่ลงไปในซอสไม่ว่าจะเป็นองุ่น สับปะรด และมะเขือเทศราชินี เสริมความหอมด้วยใบโหระพา เมนูนี้เป็นไอเดียที่จะนำไปต่อยอดในการแข่งขันทำพิซซ่าชิงแชมป์โลก ณ สหรัฐอเมริกาต่อไป
จากนั้นต่อด้วยอีก 3 เมนูที่เป็นฝีมือของ ภานุพงศ์ ใยยอง หรือ ตาเชนทร์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอาหาร ชั้นปีที่ 3 มทร.พระนคร โดยเป็นเมนูเดียวกับที่ใช้ในการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 โดยการรังสรรค์เมนูและรสชาติใหม่ ๆ ในแต่ละเมนู ซึ่งประกอบด้วย Carrot Cream Soup, Potato Custard ความโดดเด่นของอาหารจะมีความละมุนของซุปคัสตาร์ด และมันฝรั่งผสมผสานเนื้อเนียนนุ่มเข้ากันอย่างลงตัว
ปรุงรสด้วยกระบวนการพิเศษโดยการแช่เกลือและพริกไทยจึงจะได้รสชาติพิเศษขึ้นมา โดยก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันเมนูเหล่านี้จะต้องปรับปรุงสูตรและผ่านการประเมินจากคณะอนุกรรมการแข่งขัน WorldSkills Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการฝึกซ้อมระดับประเทศ
ส่วนเมนู Chicken Roulade, Jus Sauce ทุกคนที่ได้รับประทานจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นสมุนไพร เมนูสุดท้าย Black Forest Chocolate Mousse เป็นเมนูขนมหวาน ที่ทำให้การแข่งขันกลับมาพลิกจนได้รับเหรียญรางวัล
จากครัวของแม่และย่าสู่ฝันอยากเป็นเชฟ
น้อย- ปารเมศ เล่าว่า มีความชื่นชอบในการทำอาหารตั้งแต่เด็ก จากการที่ทุกช่วงปิดเทอมพ่อจะพาไปเยี่ยมย่าที่จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นร้านอาหารตามสั่ง ทำให้ได้ช่วยเหลือย่าในครัว เมื่อลูกค้ามากย่าก็ให้ช่วยทำเมนูผัด ปรากฎว่าลูกค้าชื่นชอบในรสชาติ สร้างความภูมิใจให้ตัวเองอย่างมาก จากนั้นก็ได้มีการทำอาหารมาเรื่อยๆ
พอเริ่มโตขึ้นจึงนำความชอบมาประกอบทำธุรกิจเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนโดยทำขนมเค้กต่าง ๆ ขาย ได้ปรับปรุงสูตรและพัฒนาขนมอยู่หลายครั้ง จนพบความชื่นชอบที่อยากศึกษาต่อเพื่อพัฒนาทักษะที่มีอยู่จึงเลือกเรียนในสายอาชีพ และเลือกเข้าศึกษาต่อคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
เนื่องจากที่นี่เป็นต้นตำรับของโรงเรียนการเรือนโชติเวช ที่สอนงานทางด้านคหกรรมศาสตร์ หรืออาหารไทยโบราณต้นตำรับ เป็นอันดับแรกของประเทศไทย ระหว่างที่กำลังศึกษาได้เข้าร่วมในการแข่งขันทำอาหารในหลายรายการ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อมาพัฒนาปรับปรุง จนเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ
ขณะที่ ตาเชนทร์-ภานุพงศ์ บอกว่า แรงบันดาลใจของการเป็นเชฟนั้น มาจากคุณแม่ที่ประกอบอาชีพรับจ้าง เวลาว่างๆแม่ก็จะสอนทำอาหาร เพื่อให้เราสามารถทำอาหารกินเองได้ เริ่มจากเมนูผัดกะเพรา จนถึงทุกวันนี้หากได้ทำเมนูนี้ก็จะนึกถึงแม่ตลอด เพราะเป็นเมนูแรกที่แม่สอนให้ทำ
ต่อมาได้บวชเรียนและไปจำวัดอยู่ที่จ.เชียงใหม่ มีโอกาสช่วยพระอาหารในครัว จึงมีทักษะของการทำอาหารที่ต้องเลี้ยงคนจำนวนมาก และที่แห่งนี้เองที่ได้พบกับรุ่นพี่ที่เรียนคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร แนะนำว่าหากชอบทำอาหาร เข้าเรียนที่คณะนี้จะเป็นการสอนและต่อยอดได้มาก ประกอบกับเป็นคนชื่นชอบอาหารไทย และได้ยินชื่อเสียงของครัวโชติเวช ที่เป็นอาหารไทยตำรับโบราณมานาน จึงตัดสินใจเข้าศึกษาที่นี่โดยไม่ลังเล
“รู้สึกภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขัน นอกจากจะเป็นการเผยแพร่รสชาติอาหารจากฝีมือคนไทยแล้ว และยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองมาแข่งขันในเวทีระดับชาติ อีกทั้งยังเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย”ตาเชนทร์-ภานุพงศ์กล่าว
บัณฑิตมทร.พระนครมีงานทำ 100 %
ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร(มทร.พระนคร) กล่าวว่า ราชมงคลพระนคร เป็นสถาบันการศึกษาที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงในด้านการเรียนการสอนผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติสู่ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ในด้านคหกรรมศาสตร์ ยังได้รับการยอมรับจากสังคมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในด้านฝีมือการประดิษฐ์ประดอย และรสชาติอาหารไทยที่โดดเด่นจนได้รับการขนานนาม “ครัวโชติเวช” จากต้นทุนของมทร.พระนคร
สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และขยายมาสู่ในด้าน Soft Power เนื่องจากประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และสามารถดึงดูดความสนใจให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติเกิดการยอมรับ เช่น อาหารไทย มวยไทย ประเพณีไทย ฯลฯ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนผลักดันนโยบาย มหาวิทยาลัยจึงมีเป้าหมายส่งเสริมอาหารไทยซึ่ งมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ผ่านรายวิชาต่าง ๆ ในด้านคหกรรมศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ และพร้อมสนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสแสดงความสามารถในเวทีการแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บัณฑิตของราชมงคลพระนครมีงานทำ 100 %
เทคโนโลยีอาหาร มทร.พระนคร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หรือราชมงคลพระนคร เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยวิทยาเขตเดิม 5 แห่ง วิทยาเขตเทเวศร์ วิทยาเขตโชติเวช วิทยาเขตพณิชยการพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ วิทยาเขตพระนครเหนือ ที่มีพื้นที่ไม่ห่างไกลกันนัก และปัจจุบันได้ปรับเป็น 4 ศูนย์ ได้แก่
- ศูนย์เทเวศร์
- ศูนย์โชติเวช
- ศูนย์พณิชยการพระนคร
- ศูนย์พระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยยังคงยึดมั่นในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแบ่งการจัดการเรียนการสอนเป็น 11 คณะ ดังนี้
- คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
- คณะบริหารธุรกิจ
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์
- คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
- วิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ
- สถาบันอัญมณี เครื่องประดับไทย และการออกแบบ
สำหรับคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร แบ่งเป็น 6 สาขา ประกอบด้วย สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาอุตสากรรมการบริการอาหาร สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ และสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์