สถาบันวิทยาลัยชุมชน เติมทักษะแก้จนชาวนา ลดรายจ่ายแก่ชาวนา
สถาบันวิทยาลัยชุมชน จับมือ บพท.- จังหวัดชัยนาท เติมทักษะแก้จนชาวนา ลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตต่อไร่ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้
จากข้อมูลของจังหวัดพบว่าสัดส่วนรายได้ของครัวเรือนคนจนส่วนใหญ่มาจากการทำนา ทั้งนาของตนเอง และนาเช่า รวมถึงการรับจ้างภาคการเกษตร แต่เมื่อชาวนาขายข้าวได้กลับพบว่าขาดทุนทุกฤดูกาล ทำให้ยากจนซ้ำซาก แต่ก็ยังคงทำนาในวิถีเดิมอยู่ต่อไป เพราะขาดองค์ความรู้ โอกาส และทางเลือก ทำให้ ชาวนาที่ยากจนเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอของสังคม
สถาบันวิทยาลัยชุมชน (สวชช.) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดชัยนาท โดย ดร.สุธิมา เทียนงาม หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย ส่งเสริมการบริการวิชาการ และส่งเสริมทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สวชช. หัวหน้าโครงการวิจัย จึงได้เก็บข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือนยากจนที่ประกอบอาชีพทำนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'บพท.'หนุนจังหวัดสร้างฐานข้อมูลแก้จน ชูนวัตกรรมพร้อมใช้ เพิ่มรายได้เกษตร
โมเดลแก้จน สวชช.ผนึกจ.ชัยนาท ค้นหาคนจนตัวจริง อัพคุณภาพชีวิต
อาชีพ 'ทำนา' เป็นวิถีชีวิต เศรษฐกิจหลักของชาวจังหวัดชัยนาท
ดร.สุธิมา เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือนยากจนที่ประกอบอาชีพทำนา พบว่า ปัญหาการขาดทุนมาจากสาเหตุสำคัญคือ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ชาวนามีค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงมาก จากค่าเช่านา ค่าไถที่นาและเตรียมดินสำหรับปลูกข้าว ค่าจ้างดำนาหรือ หว่านข้าว ค่าปุ๋ย ค่ากำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูข้าว ค่าสูบน้ำเข้านา ค่าเก็บเกี่ยวและค่าขนส่ง
รวมถึงการเป็นหนี้ล่วงหน้าจากค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ อาทิ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยนาท เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดชัยนาท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยครัวเรือนยากจนวางแผนการผลิตข้าว
6 ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่
การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้กับชาวบ้าน ดังนี้
1. การส่งเสริมการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ย่อยสลายฟางและตอซังแทนการเผา ซึ่งจะช่วยปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ลดการใช้ปุ๋ย ลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
2. การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์จากวัสดุทางการเกษตร เพื่อใช้ในนาข้าว ทดแทนปุ๋ยเคมี
3. พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ครัวเรือนยากจนเป็นหมอดินชุมชน สามารถเก็บตัวอย่างดิน ตรวจดิน วิเคราะห์ตัวอย่างดิน รวมถึงการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งจะช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรง ลดการใช้ปุ๋ย ใช้ยากำจัดศัตรูพืช ลดต้นทุนการผลิตข้าว
4. บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก ด้วยการทำนาเปียกสลับแห้ง แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก ลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ต้นข้าวแข็งแรง ผลผลิตเพิ่มขึ้น และช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
5. ส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เพื่อสร้างรายได้เสริม เช่น ถั่ว งา
6. สร้างอาชีพทางเลือกที่มีโอกาสทางการตลาดนอกเหนือจากการทำนา ได้แก่ การปลูกขมิ้นชันคุณภาพสูง
“ซึ่งการที่คนจนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี (Technology Acceses) และมีสถาบันที่สนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Inclusive Institutions) ทำให้ชีวิตของคนจนเปลี่ยนไป อย่างกรณีของนางประจวบ ปัญญาพร หนึ่งในชาวบ้านหมู่ 12 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ที่ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ซึ่งสามารถปลดหนี้ และเป็นตัวอย่างของการขยับสถานะทางสังคม (Social Mobility) อย่างแท้จริง” ดร.สุธิมา กล่าว
นางประจวบ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของตนมีสมาชิกด้วยกัน 5 คน เป็นคนพิการ 2 คน เด็ก 1 คน จำเป็นต้องมีคนคอยอยู่ดูแลคนพิการ ทำให้ตนเองต้องทำงานเพียงคนเดียวเพื่อหาเลี้ยงคน 4 คน ด้วยการทำนา 4 ไร่ 2 งาน และรับจ้างทั่วไป ที่ผ่านมาเคยได้ยินเรื่องน้ำหมักชีวภาพ การตรวจดิน
แต่ด้วยความเป็นคนจน ไม่มีเวลาไปหาข้อมูล เพราะต้องทำงานทุกวันจึงไม่ได้เข้าร่วมกลุ่ม และไม่ได้รับโอกาส จนโครงการวิจัยนี้ลงมาติดต่อตนถึงในหมู่บ้านว่าจะเข้ามาช่วยเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าว จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันที โดยในช่วงแรกก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ผลอะไร ที่ผ่านมาเคยเผาฟางมาโดยตลอด รอบนี้ได้ใช้น้ำหมักย่อยสลายตอซังข้าว ใช้เวลา 12 วัน พบว่าดินร่วนฟูขึ้นกว่าเดิม ทั้งได้มีการตรวจดิน ใช้ปุ๋ยตามค่าดิน สังเกตได้ชัดว่าต้นข้าวเขียว แข็งแรง ไม่ล้ม
ทั้งที่แปลงข้างเคียงประสบปัญหาข้าวล้ม พอเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตไร่ละตัน ค่าปุ๋ย ค่ายา ลดลงถึงไร่ละ 1,000 บาท ดีใจขายข้าวรอบนี้สามารถใช้หนี้ได้หมด จากที่เคยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยังมีเงินเหลือซื้อเครื่องพ่นยา พ่นปุ๋ย และโทรศัพท์มือถือแทนเครื่องเก่าที่พังแล้ว และตั้งใจว่ารอบการผลิตที่กำลังทำรอบใหม่นี้จะผลิตข้าวให้ได้ถึง 5 ตัน โดยจะดำเนินการตามรูปแบบที่ได้รับคำแนะนำจากทางโครงการในทุกขั้นตอน หากผลผลิตดีรอบนี้ก็น่าจะพอลืมตาอ้าปากได้บ้าง