งานใหญ่ส่งท้ายปี 'EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024' แถลงผลงานศธ. 3 เดือน

งานใหญ่ส่งท้ายปี 'EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024' แถลงผลงานศธ. 3 เดือน

ศธ.เนรมิตงานช้างในช่วงเวลาพิเศษ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่  'EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024' การแถลงผลงานตามนโยบายของศธ. รอบ 3 เดือน โชว์พลังสร้างสรรค์ภายใต้นโยบาย 'เรียนดี มีความสุข' 100 บูธ 'ช็อป ชิม โชว์ แชร์' จัดเต็ม 25 - 27 ธันวาคม 2566 นี้

รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะ ทุนมนุษย์ สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) คือ 'นโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ' เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา ต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

วันนี้ (25 ธ.ค.2566)นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024 และการแถลงผลงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมภายในงาน โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษธิการ (รมว.ศธ.)นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัด ให้การต้อนรับ

โดย รมว.ศธ. ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่างๆ ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขา 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น พร้อมยกระดับแรงงานทักษะขั้นสูง ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

แนะศธ.เปลี่ยนสูตรจัดสรรงบ เพิ่มคุณภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ในโรงเรียนขนาดเล็ก

ยื่น 7 ข้อเสนอรมว.ศธ. รื้อระบบแจ้งเหตุ ปกป้องเด็กให้มากขึ้น

 

พัฒนาผู้นำด้าน Soft Power ของไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
ได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ได้สัมผัสกับพลังสร้างสรรค์ของบุคลากรจากภาคการศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านการศึกษาด้วยแนวคิด Soft Power  5F คือ Food Fashion Film Fighting และ Festival มาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถและพัฒนาศักยภาพ สู่การเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อก้าวสู่เวทีโลกในอนาคต

แม้ช่วงเวลาเพียง 3 เดือนที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ ประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อบูรณาการให้พลเมืองเป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภูมิใจในความเป็นไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งตอบโจทย์การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณีของไทย

"ขอชื่นชมทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้การดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายไปพร้อมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเป็นเลิศ และเกิดความมั่นคงในชีวิตให้การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นายอนุทิน กล่าว

 

โชว์ผลงาน 'เรียนดี มีความสุข' รอบ 3 เดือน

นายสิริพงศ์  กล่าวว่า สำหรับงานกิจกรรม EDU SOFT POWER FESTIVAL 2024 จะนำเสนอภาพรวมของการขับเคลื่อนงาน ความก้าวหน้า และพลังของชาวศธ. ที่ได้ร่วมใจ นำยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหน่วยงานที่สำคัญต่อการสร้าง Soft Power ของประเทศไทย ที่สามารถทำให้เราเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้

สำหรับผลงานนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้นโยบาย 'เรียนดี มีความสุข' จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสื่อสารกับสังคมถึงความมุ่งมั่นที่เราจะเชื่อมโยงซอฟต์พาวเวอร์ด้านการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรม แนวคิด Soft Power 5F คือ Food Fashion Film Fighting และ Festival ท่ามกลางบรรยากาศที่สอดรับกับเทศกาลของขวัญปีใหม่ ทั้ง 'ช็อป ชิม โชว์ แชร์' ด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การแสดงจากนักเรียนนักศึกษา นิทรรศการโชว์ผลงานกว่า 100 บูธ โชว์ความสามารถของเด็ก งคุณครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติด้วยคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาไทย

นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการแถลงผลงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 3 เดือน
ซึ่งผู้บริหาร ข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้ร่วมจัดแสดงภายใต้นโยบาย 'เรียนดี มีความสุข' ความร่วมมือร่วมใจทำงานร่วมกันแบบ 'จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน' โดยนำ 10 นโยบายที่มีความก้าวหน้า
มาจัดแสดง ทั้งในรูปแบบนิทรรศการจริง และนิทรรศการเสมือนจริง เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า
วันนี้กระทรวงศึกษาธิการพร้อมเดินหน้า ทั้งจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคง
ของชีวิต ชาวกระทรวงศึกษาธิการพร้อมเปิดรั้ววังจันทรเกษมต้อนรับประชาชนอย่างยินดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสร้างความประทับใจให้ทุกคนที่เข้าชมกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.15 น. - 19.30 น. ซึ่งภายในงานมีเวทีการแสดงจากนักเรียน นักศึกษา จากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมกิจกรรมน่าสนใจ เช่น ดนตรีโฟล์คซอง การร้องเพลงไทยและสากล ลูกทุ่ง 4 ภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงโชว์ผลงานชนะเลิศการประกวดร้องเพลง และยังมีการจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ ด้วยบรรยากาศที่สอดรับกับเทศกาลของขวัญปีใหม่ แบ่งปันองค์ความรู้ ภายใต้แนวคิด Soft Power 5F ประกอบด้วย

  • Food ด้านอาหาร : การนำเสนอเสน่ห์รสชาติอาหารไทย เปิดตำรับเมนูหากินยาก 4 ภาค การทำอาหาร ด้วยฝีมือครู นักเรียน นักศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ
  • Fashion ด้านแฟชั่น : สามารถเลือกช็อปผลิตภัณฑ์จากผ้า พร้อมด้วยการเดินแบบแฟชั่นโชว์
  • Film ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และดิจิทัล : เลือกช็อปผลิตภัณฑ์ศิลปะ โชว์งานศิลปะ ออกแบบ แชร์เวิร์กช็อป
  • Fighting ด้านศิลปวัฒนธรรม : โชว์การแสดงทางวัฒนธรรม เช่น มวยไทย
  • Festival ด้านเทศกาล ธุรกิจ และบริการ : ช็อปผลิตภัณฑ์หัตถกรรม โชว์หัตถกรรม สปา แชร์เวิร์กช็อป

ในส่วนของกิจกรรมเทศกาลของขวัญปีใหม่ 2024 มีการจัดแสดงและจําหน่ายผลงาน RRR AWARD 2023 อาชีวะสร้างสรรค์แปรฝันสู่ธุรกิจ ที่มีผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานในสังกัดจัดจำหน่าย โซนกาแฟ Cafe’ Zone และบริการห่อของขวัญ รวมไว้มากมายกว่า 100 ร้านค้า ในธีม Soft Power องค์ความรู้ด้านสร้างสรรค์ การศึกษาพลังแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น

  • เมืองแฟชั่น เจาะรันเวย์ รับชมการเดินแบบพรีเซนต์เสื้อผ้าสวมจิตวิญญาณผ้าไทย 4 ภาค ชดแฟชั่น
  • จากผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม ผ้าไหม ผ้าโชมพัสตร์ ผ้าปาเต๊ะ และเครื่องประดับอัญมณี
  • เมืองอาหาร อร่อยหลากรส ชวนชิมเสน่ห์รสชาติอาหารไทย เมนูหากินยากทั้ง 4 ภาคเปิดตำรับอาหารขันโตกของล้านนา อาหารพื้นบ้านแบบัวคุณค่าอาหารเพียบอาหารชาววังประณีตสำหรับชนชั้นสูง
  • อาหารแกสโตรโนมีอาหารเชิงท่องเที่ยว
  • เมืองศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของไทย ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของไทย เช่น สงกรานต์ ฯลฯ
  • เมืองธุรกิจและบริการ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สัมผัสการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ การดูแลสุขภาพ นวด สปา กับการเดินทางอันแสนพิเศษ สัมผัสมรดกภูมิปัญญาไทย 5 ภาค
  • เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และดิจิทัล ทุนทางวัฒนธรรม ชมนิทรรศการจัดแสดงและจำหน่ายผลงานจากการจัดการเรียนรู้อาทิ งานออกแบบ จิตรกรรม เซรามิกส์ ภาพยนต์และวีดีทัศน์งานฝีมือและงานหัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

เปิด 10 บูธ ผลงานที่เป็นเลิศของศธ.

ทั้งนี้ ในส่วนของบูธจัดแสดงนิทรรศการ 10 นโยบาย จะแสดงให้เห็นถึงผลงานจากการจัดการเรียนรู้
ที่เป็นเลิศของสถานศึกษา หรือผลงานการดําเนินงานที่เป็นเลิศของหน่วยงาน (Best Practice) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย ในรอบ 3 เดือน ประกอบด้วย

บูธที่ 1 ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา

บูธที่ 2 ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น

บูธที่ 3 แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

บูธที่ 4 จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอเหมาะสม

บูธที่ 5 เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”

บูธที่ 6 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ

บูธที่ 7 จัดระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต

บูธที่ 8 การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ 

บูธที่ 9 จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา และ

บูธที่ 10 มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

นอกจากนี้ยังมีงานที่เข้ามาเสริมเติมเต็มในกิจกรรมเกี่ยวกับลูกเสือ-เนตรนารี และกิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันอีกด้วย

สำหรับผลการดำเนินงานตามนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 3 เดือน มีรายละเอียดดังนี้

1. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมีหน่วยงานในสังกัดและในกำกับศธ.ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ โดยให้สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่การศึกษาสำรวจสภาพหนี้ครูและจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน จัดทำหลักสูตรเสริมสร้างวินัยทางการเงินในรูปแบบ e-Learning และอนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 200,000,000 บาท เพื่อช่วยบรรเทาภาวะหนี้สินของข้าราชการครู ให้สามารถนำไปชำระหนี้ ซึ่งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน อันจะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข ตามนโยบาย
ของกระทรวงศึกษาธิการ

2. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ 'ยึดผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง'มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจจำนวนสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการเรียนรู้ซึ่งปัจจุบันมีสื่อ 117,852 สื่อเพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา

ดำเนินการจัดเสริมความรู้คู่บทเรียนด้วยวิทยากรออนไลน์ในการเตรียมนักเรียน ให้พร้อมสำหรับการสอบ TGAT TPAT และ A-Level ตลอดเดือนธันวาคม 2566 - มีนาคม 2567 รวมทั้งในช่วงเดือนมกราคม 2567 ได้จัดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐาน CEFR ให้แก่นักเรียนผ่านแพลตฟอร์มฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CEFR) และหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะดิจิทัล ในรูปแบบ e-Learning เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

3. พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาครูแนะแนวแกนนำและการ Coaching ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นประโยชน์กับการแนะแนวนักเรียนในปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูม และการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้านให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่ดี และมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีในทุกช่วงวัย

4. จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพในการประกอบอาชีพ กระทรวงศึกษาธิการได้หารือร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเกี่ยวกับการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้มีคุณวุฒิวิชาชีพ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ Up-skill Re-Skill 1 หลักสูตร : 1 Certificate และประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ (ปวพ.) 5 สาขาอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลหลักสูตร ที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม

5. จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแนวทางการสะสมหน่วยการเรียนรู้และการเทียบโอนผลการเรียนจากโรงเรียนนอกระบบสู่โรงเรียนในระบบ ดำเนินการยก (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตการอาชีวศึกษา พ.ศ. .... และจัดทำ (ร่าง) คู่มือแนวทางการดำเนินงาน ทบทวนระเบียบ ประกาศ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

6. 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายรวม1,808 แห่ง เป็น โรงเรียนระดับประถมศึกษา 901 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 907 แห่ง โดยจะประกาศรายชื่อโรงเรียนคุณภาพ พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ และจัดประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการร ภายในเดือนธันวาคม 2566

7. มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเข้มข้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เน้นเพิ่มปริมาณผู้เรียนทวิภาคี ปวส. ร้อยละ 25 ปักหมุดจังหวัดทวิภาคีเข้มข้น 22 จังหวัดทั่วประเทศ ทำความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาเพื่อสร้างธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่มพัฒนาเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้เรียน 12,000 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน 6 โครงการ และฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไปตามความต้องการของชุม รวมถึงจัดทำแผนโครงการส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนในโรงเรียนพื้นที่ชายแดนภาคใต้
จำนวน 5 แห่ง และแผนการพัฒนาอาชีพสำหรับผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น 6 หลักสูตร

8. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้สื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นการประเมินวิทยฐานะผ่านระบบ DPA (Digital.Performance.Appraisal) ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยื่นคำขอประเมินวิทยฐานะผ่านระบบ DPA รวมทั้งสิ้น 67,007 รายโดยประเมินแล้วเสร็จ 63,429 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการประเมิน 3,578 ราย

รวมถึงกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร.ขั้นตอนการประเมินไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนคำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษา และสอดคล้องกับการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

9. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ลดขั้นตอน ลดเอกสาร เพิ่มความสะดวกให้ครูย้ายกลับภูมิลำเนาได้ง่ายขึ้นด้วยความโปร่งใส กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matchingt System (TMS) โดยจะเปิดใช้งานเพื่อให้ครูได้ยื่นคำขอร้องย้ายสับเปลี่ยนได้ในช่วงระหว่างวันที่ 16 - 31 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญในวันครู ปี 2567

10. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ขณะนี้สถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำร่องการใช้แท็บเล็ต (Tablet) ในการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายสำหรับการดำเนินงานในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการในการสนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ ในการช่วยจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนจัดหาแท็บเล็ต (Tablet) ที่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2567