เด็กเจนใหม่คาดหวังอะไรจากการศึกษา | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
สำหรับสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษาคือลูกค้าคนสำคัญโดยเฉพาะนักศึกษาที่เป็นเด็กเจนใหม่และสถาบันการศึกษาสามารถคาดหมายจำนวนได้แน่นอนพอสมควร
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสถานการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาไม่เหมือนเดิมแล้ว เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เราเคยมีเยาวชน 10 คนที่แข่งขันกันเข้ามหาวิทยาลัยจะได้เข้าเรียนเพียง 1 คน แต่ในเวลานี้สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม
สถาบันอุดมศึกษาชั้นหนึ่งเท่านั้นที่มีเด็กแย่งกันเข้า ส่วนสถาบันการศึกษาของเอกชนบ้างก็ต้องขายให้ต่างชาติ บ้างก็ขวนขวายหานักศึกษาจีนมาเรียน บางส่วนก็ต้องปิดตัวลงไป
คาดว่าการปิดตัวลงของสถาบันอุดมศึกษาจะปรากฏเป็นแนวโน้มที่สำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะเด็กเกิดใหม่ไปเรื่อย ๆ ทำให้เยาวชนในช่วงอายุที่จะเข้าเรียนในอุดมศึกษาใน 10 ปีข้างหน้าจะลดลงถึง 1 ล้านคน
นอกจากตลาดจะหดตัวลงเพราะผู้บริโภคลดลง คุณลักษณะและพฤติกรรมผู้บริโภคหรือลูกค้าก็เปลี่ยนไปด้วย มิหนำซ้ำซัพพลายเออร์กับผู้บริโภคยังอยู่ในวัยหรือรุ่นอายุที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งนับว่าต่างกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาโดยเฉพาะผู้สอนและผู้บริหารจึงควรให้ความสนใจกับคุณลักษณะที่เปลี่ยนไปของลูกค้ารุ่นใหม่
ในขณะที่นักเรียนและนักศึกษาที่จะเข้ามาใหม่เป็นกลุ่มเจนแซดซึ่งเป็นมนุษย์ดิจิทัล แต่ผู้บริหารกับเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์คือเกิดระหว่างปี 2489-2503 เติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจบูม
กลุ่มนี้มักจะมีความคิดอ่านที่ค่อนข้างอนุรักษ์ และคุ้นชินกับการสอนแบบอาจารย์เป็นศูนย์กลาง
รุ่นถัดไปที่อยู่ในกลุ่มบริหารก็จะเป็นกลุ่มเจนเอ็กซ์ กลุ่มนี้ชีวิตต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่ผันผวนมากขึ้นและสังคมเริ่มเข้าสู่ระบบตัวใครตัวมันและการพึ่งตัวเองมากขึ้น
กลุ่มนี้ถึงแม้จะคุ้นชินกับการอนุรักษ์แต่ก็มีความสามารถในการจัดการเทคโนโลยีไอทีในระดับหนึ่งและมีความสามารถที่จะปรับตัวได้มากกว่าแม้ว่าจะเริ่มให้ความสนใจกับสมดุลชีวิตมากกว่าการทำงานหนักแต่อย่างเดียว
ในขณะที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์มีโลกทัศน์ ที่มีความเป็นชุมชนและให้ความสำคัญกับความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้อื่น
คนเจนเอ็กซ์ก็จะเอาตนเองเป็นศูนย์กลางแม้ว่าจะมองโลกในลักษณะที่ยาวไปกว่าปัจจุบัน
ในขณะที่คนเจนวายจะมีความมั่นใจในตนเองสูงและมองระยะสั้น แต่พอมาถึงเจนแซดจะไม่มีความยึดมั่นในภาระผูกพันธ์ (commitment) เท่าใดนัก
เมื่อสถานการณ์ของตลาดการศึกษาเปลี่ยนไป ดังนั้น การเข้าใจความต้องการของตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก่อนนี้มหาวิทยาลัยเลือกนักศึกษา แต่ต่อไปนี้นักศึกษาจะเลือกมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องทำความเข้าใจใหม่กับอัตลักษณ์รุ่นที่เปลี่ยนไป
ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และความผันผวนทางด้านการเงิน อาจารย์ในต่างประเทศเองก็เริ่มมีปัญหากับคนรุ่นใหม่ซึ่งมักจะใช้มือถืออยู่ตลอดเวลาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการทำการบ้าน
ในขณะที่เยาวชนคนเจนใหม่คือกลุ่มเจนแซด ซึ่งหมายถึงผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาชั้นมัธยมปลายจนกระทั่งถึงอุดมศึกษา หรือเด็กที่เกิดระหว่างปี 2538-2555
กลุ่มเจนแซดมีลักษณะนิสัยที่ถูกกล่อมเกลาโดยเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้แตกต่างไปจากคนรุ่นเก่า
กล่าวคือเยาวชนคนเจนแซดจะมีความสามารถในการใช้โทรศัพท์อัจฉริยะในการติดต่อสื่อสารและโลดแล่นไปในโซเซียลมีเดีย แต่กลับมีปัญหาที่จะสื่อสารกันแบบตัวต่อตัว สนใจที่จะมีการศึกษาที่มีความเฉพาะตัว (personalized learning) และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็สามารถถกเถียงและทำงานร่วมกับคนรุ่นเดียวกันได้ถ้าจำเป็น
เยาวชนคนเจนแซดเป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัล เด็กเหล่านี้จะใช้เวลาส่วนใหญ่กับโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จึงคาดหวังกับการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน
ซึ่งโดยส่วนตัวก็ใช้เทคโนโลยีในการหาข้อมูลดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหา การตัดสินใจต่าง ๆ เด็กเจนแซดมีความสนใจหรือสมาธิค่อนข้างสั้นโดยเฉลี่ยแล้วแค่ 8 วินาที (Glum 2015) และคาดหวังการตอบกลับ มีความสนใจการเรียนรู้จากเกมส์ (Biro 2014 อ้างใน Chan and Lee)
โดยทั่วไปแล้วเด็กเจนแซดนี้มีความริเริ่มในการแก้ไขปัญหาสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความรวดเร็วและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ต้องการการบริการที่เห็นผลรวดเร็ว
เด็กรุ่นใหม่ดู YouTube วันหนึ่งหลายชั่วโมงจนเคยชินกับการเรียนรู้จากภาพมากกว่าการเรียนรู้แบบลายลักษณ์อักษร ดังนั้น เด็กเจนแซดจึงต้องการการเรียนรู้จากวีดิทัศน์มากกว่าจากหนังสือ
งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 98.5 ของนักศึกษามหาวิทยาลัย 133 แห่งเปิดเผยว่านักศึกษาเห็นว่าวีดิทัศน์จะช่วยนำความจริงในโลกหรือโลกแห่งความเป็นจริงเข้ามาในการศึกษาได้ดีกว่าการที่ใช้ตำราเรียน และรู้สึกว่าการใช้การสอนแบบมีวิดิทัศน์ทำให้บรรยากาศน่าเรียนรู้มากขึ้น
(Mosca Curtis and Savoth 2019 อ้างใน Chan and Lee.) เด็กรุ่นใหม่สนใจการเรียนรู้แบบผสม (ไฮบริด) ที่ใช้รูปภาพวีดิทัศน์ และสนใจการเรียนรู้ผ่านเกมส์
ส่วนคนเจนวายนับว่าเป็นคนกลุ่มแรกที่เป็นชาวดิจิทัลอย่างแท้จริง เพราะเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี แม้คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยทำงานแล้ว แต่ก็ยังเข้าออกอยู่ในระบบการศึกษาอยู่บ้าง
ซึ่งกลุ่มคนเจนวายมีความคาดหมายสูงเกี่ยวกับความรู้และทักษะที่ได้ในการศึกษาเชิงปฏิสัมพันธ์คือสนใจการทำงานร่วมกับคนอื่นและการสร้างทีมเวิร์ค
สำหรับเทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่จะเปิดรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์และ AI อย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเริ่มให้นักศึกษามีโอกาสออกแบบหลักสูตรเองโดยใช้ AI ขณะนี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเริ่มใช้ AI มาช่วยในการเรียนแล้ว
งานวิจัยเล็ก ๆ หลายเรื่องของแผนงานคนไทย 4.0 พบว่า การใช้ AI ในการเรียนการสอนจะมีประโยชน์สูงสุดต่อเมื่ออาจารย์เปลี่ยนวิธีการสอน จากการต้องการคำตอบที่เป็นผลลัพธ์
เช่น การคำนวณหรือความรู้จดจำจากการอ่านมาเป็นการประเมินวิธีการที่นักศึกษาแสวงหาความรู้ เช่น การใช้นักศึกษาคำนวณหาค่า IRR จากสูตรไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป อาจารย์ต้องตั้งคำถามให้ซับซ้อนขึ้น
เช่น ให้ไปหาบริษัทที่ตนสนใจในตลาดหลักทรัพย์และสร้างโครงการลงทุนที่เหมาะสม หา B/C Ratio และ IRR พร้อมทำ sensibility analysis เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาต้องใช้ AI หลายขั้นตอนในการค้นหาคำตอบมานำเสนอหน้าชั้นเรียน ซึ่งวิธีการในการแสวงหาคำตอบจะเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้
เมื่อตลาดเปลี่ยนไปสินค้าเพื่อการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย คงถึงเวลาที่จะยกเครื่องใหญ่การศึกษาไทยอีกรอบค่ะ.