สภานักเรียนยื่น 4 ข้อเสนอศธ. ชูปัญหาบูลลี่ เรียกร้องอย่าปล่อยผ่าน

สภานักเรียนยื่น 4 ข้อเสนอศธ. ชูปัญหาบูลลี่ เรียกร้องอย่าปล่อยผ่าน

กลุ่มสภานักเรียนระดับประเทศ ยื่น 4 ข้อเสนอศธ. ของขวัญในวันเด็กแห่งชาติ เน้นการมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษา รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง รักษามารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน และหาแนวทางป้องกันความรุนแรงจากการบูลลี่ 

วันนี้ (13 มกราคม 2567) ที่กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มสภานักเรียนระดับประเทศ ได้ยื่นขอเสนอที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อนายกรัฐมนตรี ให้พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)พิจารณา ใน 4 ประเด็น ได้แก่  

1.การมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษา

2.การรู้จักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองให้ลึกซึ้ง

3.การรักษามารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน

4.การส่งเสริมแนวทางการป้องกันความรุนแรงจากการบูลลี่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เริ่มแล้ว! 'วันเด็ก 67' นายกฯ ย้ำเด็กไทยเป็นลูกที่ดี ศิษย์ที่ดี พลเมืองที่ดี

วันเด็กทำเนียบฯคึกคัก 'ลุงนิด' เปิดตึกไทยคู่ฟ้า พานั่ง 'เก้าอี้นายกฯ'

 

ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสูงสุด

โดยการมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษา ในการร่วมคิด ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสูงสุด  ส่วนการรู้จักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองให้ลึกซึ้ง ต้องการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความตระหนักและสำนึกรักท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวท้องถิ่น  พร้อมสนับสนุนงบประมาณและกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมกิจกรรมและมีเวทีในการนำเสนอประวัติศาสตร์ ของสภานักเรียนไทย 'TSC The Best History สืบสาน สร้างสรรค์ แบ่งปันอดีต'

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรักษามารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน ต้องส่งเสริมและสนับสนุนโครงการกิจกรรม ที่ช่วยลดปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน เช่น กิจกรรม 'เปลี่ยนมือถือที่เป็นปัญหา ให้เป็นห้องเรียนแห่งปัญญา' การสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนเห็นความสำคัญของการลดปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน เช่น การนำเสนอผลงาน Best Practice , เรื่องเล่าเร้าความสนใจ หรือ คลิปวีดีโอ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานการใช้โทรศัพท์อย่างสร้างสรรค์

 

ป้องกันความรุนแรงจากบูลลี่ อย่าปล่อยผ่าน

รวมถึงการส่งเสริมแนวทางการป้องกันความรุนแรงจากการบูลลี่  โดยขอให้ศธ.นำประเด็นปัญหานี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวิธีการในการให้ความคุ้มครองเด็กที่มีพฤติกรรมความรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทางวาจา ร่างกายและการคุกคามในเชิงสัมพันธภาพบูลลี่

ขอให้จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านจิตวิทยาประจำโรงเรียนหรือจัดการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านจิตวิทยา  ขอให้ศธ.สั่งการสถานศึกษากำหนดมาตรการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาบูลลี่ในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยอย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วปล่อยผ่าน