รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต 'เยียวยาจิตใจ' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ

รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต 'เยียวยาจิตใจ' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ

10 ต.ค. วันสุขภาพจิตโลก คนไทย มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบป่วยซึมเศร้ามากกว่า 1.5 ล้านคน โลกโซเชียล ช่องทางเสี่ยงถูกบูลลี่ แนะสร้างภูมิคุ้มกันใจ เข้าใจตัวเอง ค้นหาพื้นที่ปลอดภัย เสริมเกาะป้องกันเรื่องลบๆ ในชีวิต

Key Point :

  • โลกโซเชียล นับเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายคนมีบาดแผลทางใจ จากการถูกบูลลี่ เจอกับ Hate Speech และหลายครั้งก็ไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้ 
  • สิ่งสำคัญ คือ ไซเบอร์บูลลี่ บางครั้งคนที่พิมพ์ก็ไม่รู้ตัว คิดว่าการพิมพ์แบบนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่กลับกลายเป็นปมเป็นบาดแผลของคนที่โดนไปชั่วชีวิต
  • หากวันหนึ่งเราเป็นฝ่ายถูกบูลลี่หรือเจอเรื่องที่กระทบจิตใจ การมีพื้นที่ปลอดภัย และการเข้าใจความรู้สึกตัวเอง จะทำให้เรามีเกราะป้องกันสิ่งลบๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้

 

 

ปัญหาสุขภาพจิต ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หนึ่งในปัจจัยที่สร้างบาดแผลทางใจ คือ การบูลลี่ Hate Speech โดยเฉพาะในโลกโซเชียล การเข้าใจตัวเองและหาพื้นที่ปลอดภัยให้เจอ จะเป็นหนึ่งในเกราะป้องกันจิตใจของเราได้

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability : TIMS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค. 2566 ในงาน “Better Mind Better Bangkok” เปิดพื้นที่ระดมผู้เกี่ยวข้อง-นวัตกรรม สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิต

 

รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต \'เยียวยาจิตใจ\' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตวิทยาบำบัด นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตบำบัดอัตถิภาวนิยม นักขับเคลื่อน และศิลปิน กล่าวในช่วงเสวนา NONVIOLENT COMMUNICATION ว่า วงจรการบูลลี่และการสร้างบาดแผลต่อให้คนอื่น คนที่ถูกทำร้ายก็ไปทำร้ายคนอื่นต่อ สิ่งที่พบบ่อย คือ คนๆ หนึ่งไม่ได้สนใจคำพูดตัวเอง ทิ้ง Hate Speech ไว้ ใช้เวลาพิมพ์แค่ไม่กี่นาที แต่สิ่งที่เกิด คือ คนที่อ่านคอมเมนต์บางคนใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นปีกว่าจะลืมได้ ทุกครั้งที่พิมพ์อะไรหรือส่งอะไรออกไปจะส่งผลกระทบต่อคนอ่าน ดังนั้น หากเราไม่อยากเป็นคนที่ถูกทำร้าย ก็ต้องไม่ทำร้ายคนอื่นก่อน

 

“สิ่งสำคัญ ที่สุด คือ ไซเบอร์บูลลี่ บางครั้งไม่รู้ตัว คิดว่าการพิมพ์แบบนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่มันกลายเป็นปมเป็นบาดแผลชั่วชีวิต ส่วนตัวพูดเสมอว่า เราห้ามปากคนอื่นไม่ได้ เราไม่สามารถบังคับให้คนอื่นรู้สึกอย่างไรได้ และเราก็ไม่สามารถบังคับตัวเองให้รู้สึกอย่างไรได้เช่นกัน แต่เราสามารถควบคุมได้ว่าจะแสดงออกอย่างไร เพราะฉะนั้น การเข้าใจตัวเอง รู้ว่าอะไรทำร้ายเราไม่ทำร้ายเรา สามารถช่วยให้เราไม่ส่งบาดแผลต่อ และสามารถช่วยเยียวยาคนอื่นในโลกโซเซียลได้เช่นกัน”

 

รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต \'เยียวยาจิตใจ\' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ

 

 

เป็นตัวเองได้ ไม่เบียดเบียนใคร

ทั้งนี้ บนโลกโซเชียล หลายคนคาดหวังว่าทุกอย่างจะต้องดี ได้รับยอดไลค์ ยอดวิวเยอะๆ แปลว่าเป็นคนที่ถูกรัก กลัวคนอื่นไม่ชอบ กลัวพูดไม่เข้าหูใคร ภัทรดนัย อธิบายต่อไปว่า ตอนนี้เจอเยอะมากเวลาทำงานกับคนไข้หรือทำวิจัย คือ การกลัวคนอื่นไม่ชอบ อยากให้คนอื่นมีความสุขตลอดเวลา เอาคนอื่นมาก่อนตลอด สุดท้ายก็เริ่มมาจากการกลัวคนไม่ชอบ กลัวคนไม่รัก ดังนั้น เราต้องเข้าใจให้ได้ว่าสุดท้ายก็จะมีกลุ่มๆ หนึ่งที่เขาไม่ชอบเรา และมันเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุด

 

ในวันที่เราเป็นตัวของตัวเอง จะมีกลุ่มคนไม่มากก็น้อยไม่ชอบเรา เกลียดเรา แซะเราเพราะว่าการที่เรามีความคิด อุดมการณ์เป็นของตัวเอง เพราะทุกคนบนโลกไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หากเราเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดต่าง แต่ไม่เบียดเบียนคนอื่น จะเป็นสิ่งที่ดี อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่า โดนคนไม่เข้าใจบ้าง โดนเกลียดบ้าง โดนแซะบ้าง บางทีก็ต้องมีภูมิตรงนี้ด้วย เพื่อที่จะอยู่บนโลกนี้ได้ อยู่บนโซเชียลได้

 

“หากพยายามให้ทุกคนรักเรา ก็เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เพราะอยากเป็นกระจกให้อีกคนเห็น สุดท้ายเราคือใคร เราอยากทำอะไร ความหมายของเราคืออะไร ยิ่งเราเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับคนอื่นได้มากแค่ไหน แสงในตัวเองก็จะหรี่น้อยลง เบาลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น หากวันหนึ่งเราตัดสินใจเป็นตัวของตัวเอง อยากทำในสิ่งที่ตัวเองทำ พูดในสิ่งที่ตัวเองพูด ค้นหาความหมายของชีวิตตัวเอง เราก็จะมีทัศนคติเป็นของตัวเอง”

 

รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต \'เยียวยาจิตใจ\' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ

 

หาพื้นที่ปลอดภัยให้เจอ

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถสู้กับสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจนั้น ภัทรดนัย กล่าวว่า ข้อแรก คือ หาพื้นที่ปลอดภัยให้เจอ คนเข้าใจผิดเยอะว่าบ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่หลายครั้งที่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย พ่อแม่ก็เป็นครั้งแรกที่ท่านใช้ชีวิต ท่านก็มีบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา คนที่ไม่ได้รับการฝึกให้เข้าใจตัวเองก็ไม่พร้อมจะรับฟังใคร และอย่าโทษตัวเองว่าเราเป็นลูกที่ไม่ดีหรือไม่ พ่อแม่เลยไม่ฟังฉัน หน้าที่ของเรา คือ ต้องหาพื้นที่ปลอดภัยให้เจอ

 

พื้นที่ปลอดภัย คือ คนที่สามารถฟังได้ในแบบที่เราเป็น โดยที่ไม่ต้องให้เรารู้สึกว่าดีขึ้น หรือเปลี่ยนเรา หรือให้คำแนะนำที่ดีที่สุด แค่อยู่กับความรู้สึกที่เรากำลังรู้สึกอยู่ ถัดมา คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี เวลาเราฟังใครหลายคนมักจะไปนั่งโฟกัสว่าจะตอบอย่างไรให้เป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ความจริงการฟังที่ดี คือ อยู่กับเขา อยู่กับสิ่งที่เขาเป็นและเขารู้สึก ไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา ไม่ต้องไปทำให้ยิ้ม ไม่ต้องทำให้เขารู้สึกดี แต่ทำให้เขารู้สึกกับสิ่งเหล่านี้ได้โดยที่ไม่ต้องอยู่คนเดียว ให้ความรู้สึกเบาลง 

 

ขณะเดียวกัน ทุกคนอยู่ในสองบทบาท ไม่มีใครสามารถรับฟังทุกคนได้ และไม่มีใครที่สามารถระบายได้อย่างเดียวเช่นกัน จะเป็นผู้รับฟังที่ดีได้ ก็ต้องรู้มาก่อนว่าการระบายที่ดีเป็นแบบไหน และ ข้อสาม ไม่มีความรู้สึกไหนอยู่กับเราตลอดไป เพราะฉะนั้น ฝึกที่จะอยู่กับความรู้สึกไม่ดีเพราะเดี๋ยวก็มาอีก ขณะเดียวกันเมื่อมีความสุข หากไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำร้ายใคร ก็อยู่กับความสุขให้ได้ ทุกความรู้สึกเข้ามาแล้วก็ออกไป

 

ท้ายนี้ ฝากว่า “รู้สึก เท่ากับรู้สึก” ตอนนี้เราติดนิสัยไปถามคนอื่นว่าฉันเครียดพอหรือยังที่จะไปขอความช่วยเหลือ หรือควรพบจิตแพทย์หรือยัง อย่าให้ใครมาตัดสินว่าเราควรหรือไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ ถ้ารู้สึกไม่ไหวแล้วขอความช่วยเหลือได้เลย เพราะเรื่องของสุขภาพจิต เป็นเรื่องที่พูดถึงได้และไม่น่าอาย รู้สึกเท่ากับรู้สึก ดังนั้น พื้นที่ปลอดภัยจึงสำคัญ เพราะพื้นที่ปลอดภัยอนุญาตให้เรารู้สึกได้โดยไม่ถูกตัดสิน เรื่องเล็กของเราอาจไม่ใช่เรื่องเล็กของคนอื่น ทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น รีแอคชั่นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากกระทบเรา เราไม่ต้องไปถามคนอื่นว่ามากไปหรือน้อยไป สามารถไปขอความช่วยเหลือได้เลย

 

รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต \'เยียวยาจิตใจ\' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ

 

ส่งเสริมจิตวิทยาเชิงบวก

 

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สำหรับแนวทางส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกให้กับสังคม สสส. เร่งสื่อสารผ่านการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และความสุข โดยเน้นไปที่ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) การล้มแล้วลุกไว (Resilience) และลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

โดยมีกิจกรรมสร้างประสบการณ์และผลิตงานเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งรวบรวมองค์ความรู้สื่อสารและมีความร่วมมือและสื่อ เช่น นักเขียน ผู้ผลิตละคร อินฟลูเอนเซอร์ นักประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างคอนเทนต์สื่อสารเชิงบวกกับสังคม แนะแนวทางการสื่อสารให้ทุกคน เท่าทันความรู้สึกและสติ บอกความรู้สึกตนเอง ชื่นชมให้เกียรติกัน รับฟัง เข้าใจ ไม่ตัดสิน และค้นหาทางออกร่วมกัน

 

รับมือเรื่องลบๆ ในชีวิต \'เยียวยาจิตใจ\' ในวันที่เจออะไรแย่ๆ